สวัสดีคร้าบบบ จากคราวที่แล้วที่เราได้ดูกันไปแล้วในส่วนของแนวทางการเลือกซื้อประกันชีวิต คราวนี้เราจะมาต่อกันที่แนวทางการเลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุดกันนะครับ ตามมาอ่านกันได้เลยครับ ^^

หลักในการเลือกซื้อประกันสุขภาพเบื้องต้น

1. สำรวจค่ารักษาและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เราจะใช้บริการ

ก่อนที่เราจะเลือกทำประกันสุขภาพ เราก็ควรจะต้องมาดูก่อนว่า ค่ารักษาและค่าบริการของโรงพยาบาลที่เราจะใช้บริการมีอัตราอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้เลือกซื้อแพคเกจของประกันสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยค่าใช้จ่ายและค่ารักษาหลักๆที่เราควรพิจารณาคือค่าใช้จ่ายจำพวก ค่าห้อง, ค่ายา, ค่ารักษาและค่าผ่าตัดกรณีเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจหาได้จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาล หรือโทรเข้าไปสอบถามที่โรงพยาบาลก็ได้ครับ

2. เลือกทำประกันสุขภาพในลักษณะของวงเงินเหมาจ่าย

ควรจะเลือกทำประกันสุขภาพในวงเงินเหมาจ่าย ให้ครอบคลุมค่ารักษากรณีเจ็บป่วยร้ายแรงหรือต้องเข้ารับการผ่าตัดจะเหมาะสมกว่าประกันสุขภาพที่แยกประเภทค่าใช้จ่ายในการรักษาครับ เพราะประกันสุขภาพแบบแยกประเภทจะมีวงเงินค่ารักษาที่น้อยกว่า ในกรณีการผ่าตัด หรือรักษาโรคร้ายแรง เพราะเป็นกรณีที่มีค่ารักษาแพงที่สุด เช่น วงเงินค่ารักษากรณีผ่าตัดของแบบแยกประเภทอาจจะอยู่ที่ 100,000 บาท แต่ขณะที่แบบเหมาะจ่ายจะเหมารวมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง (ยกเว้นค่าห้อง) อยู่ที่ 1 ล้านบาทเลย ทำให้ครอบคลุมความเสี่ยงมากกว่าครับ

อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพแบบแยกประเภท ก็มีข้อได้เปรียบอยู่ที่สามารถจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายบางประเภทได้เรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดในการเกิดการเจ็บป่วยขึ้นแต่ละครั้ง ซึ่งก็อาจจะเหมาะสมกว่าสำหรับบางโรค ก็อาจจะต้องลองพิจารณาดูแล้วแต่กรณีครับ แต่โดยรวมแล้ว แบบเหมาจ่ายน่าจะเหมาะสมกับกรณีทั่วไปมากกว่า

ส่วนบางคนอาจจะอยากได้การประกันค่ารักษาที่ครอบคลุมในส่วนของผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วย เพื่อที่ว่าเวลาเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ แบบสามารถไปทำแผลที่โรงพยาบาลแล้วกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักรักษา อันนี้ก็ต้องพิจารณากันดีๆนะครับ เพราะส่วนใหญ่ ถ้าประกันสุขภาพที่ครอบคลุม OPD ก็มักจะมีราคาแพงกว่าแบบที่ไม่มีค่อนข้างมาก ส่วนตัวผมแนะนำว่า หลักการทำประกันสุขภาพคือ ให้บริษัทประกันมาเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาในกรณีที่เจ็บป่วยหนักๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงๆ จนอาจจะกระทบกับความมั่งคั่งของเราได้ ส่วนกรณีเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆอย่าง OPD ไม่น่าจะกระทบต่อเงินในกระเป๋าเรามาก เราก็อาจจะรับความเสี่ยงตรงนี้ไว้เองได้ครับ

3. เลือกทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกความเสี่ยง

ผมเห็นบางคนเลือกทำประกันสุขภาพเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ซึ่งที่จริงแล้วก็ยังอาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด เพราะยังมีกรณีสำคัญที่เราควรจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า คือกรณีที่เราอาจจะประสบภาวะเป็นผู้ “ทุพพลภาพ” (ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ปกติ) ไม่ว่าจะเกิดจากโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง, หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก หรือจากอุบัติเหตุ แขนขาด, ขาขาด พิกลพิการ มันจึงเกิดประเด็นว่า ถึงแม้ประกันสุขภาพอาจจะจ่ายค่ารักษาให้เราได้หมด แต่หลังจากนั้น เราอาจจะใช้ชีวิตต่อไปโดยทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลงกว่าเดิม ขณะที่เรายังมีชีวิต ยังต้องกินต้องใช้ เราจึงต้องการ “เงินชดเชย” ก้อนโต เพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตตลอดระยะเวลาที่เหลือ มันจึงเป็นสาเหตุที่เราควรจะต้องทำประกันสุขภาพกรณีโรคร้ายแรง และประกันสุขภาพที่ครอบคลุมเรื่องการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุด้วย

ดังนั้น อย่าลืมว่า หากจะเลือกซื้อประกันสุขภาพแล้ว เราจึงควรซื้อประกันเรื่องค่ารักษาพยาบาล, โรคร้ายแรง และอุบัติเหตุ ให้ครบทั้ง 3 ประเภท (ส่วนรายละเอียดของแต่ละประเภทก็ให้พิจารณาเองตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ครบทุกแบบที่บริษัทประกันมีก็ได้ครับ) จึงจะปิดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยได้อย่างครอบคลุมที่สุดครับ

4. เปรียบเทียบเบี้ยประกันแต่ละบริษัท เลือกบริษัทที่ให้การคุ้มครองไม่แตกต่างจากบริษัทอื่นมากนัก แต่เบี้ยประกันถูกกว่า

ขั้นสุดท้ายเราก็แค่นำเงื่อนไขของประกันสุขภาพของบริษัทประกันแต่ละที่มาเปรียบเทียบกัน แล้วเลือกบริษัทที่คิดเบี้ยประกันที่ถูกกว่า หรือเบี้ยประกันพอๆกัน แต่มีวงเงินคุ้มครองที่สูงกว่า นั่นคือประกันสุขภาพที่คุ้มค่ากับเราที่สุดครับ ^^

(ส่วนถ้าใครที่ดูแล้วว่าถ้าต้องทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกอย่าง แล้วรู้สึกว่าเบี้ยที่จ่ายแพงเกินไป กระทบต่อรายรับรายจ่ายต่อปี ก็อาจจะลดสเป็คลงมาหน่อย ให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมทั้งครอบคลุมความเสี่ยงในระดับหนึ่ง และมีศักยภาพที่พอจ่ายได้ อันนี้ก็ต้องลองพิจารณาดูตามความเหมาะสมของตัวเองครับ)

ส่วน หลักการในการเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุ ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับประกันสุขภาพครับ หลักๆก็คือ ดูว่าแพคเกจประกันอุบัติเหตุ (PA : Personal Accident) นั้น ชดเชยครอบคลุมกรณีใดบ้าง (เช่น เสียชีวิต, ทุพพลภาพ, พิการ, กระดูกหัก, กรณีถูกลอบทำร้าย, กรณีเกิดอุบัติเหตุในวันหยุดนักขัตฤกษ์, กรณีเกิดจากการจลาจล ฯลฯ) ก็ควรจะเลือกแพคเกจให้คุ้มครองหลายๆกรณี โดยที่เบี้ยที่จ่าย แนะนำว่าไม่ควรเกิน 5% ของรายได้รวมทั้งปีก็พอครับ เนื่องจากประกันอุบัติเหตุก็เปรียบเสมือนประกันสุขภาพแบบย่อมๆ ที่คุ้มครองเฉพาะกรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่คุ้มครองกรณีเป็นโรค และค่ารักษาพยาบาลต่างๆ จึงเหมาะกับการคุ้มครองเบื้องต้นที่อาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด สำหรับคนที่มีรายได้ไม่สูงมาก แต่ต้องการเริ่มปกป้องความเสี่ยงบ้าง แต่สำหรับคนที่มีรายได้พอสมควรแล้ว ผมแนะนำว่าให้ทำประกันสุขภาพอย่างครอบคลุมเลยจะเหมาะสมกว่า