พูดถึงเรื่องการจัดพอร์ต , Asset Allocation หรือ การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน เรามักจะนึกถึงเรื่องของการกระจายความเสี่ยงเป็นอันดับแรก เพราะการจัดสรรสินทรัพย์ จะช่วยลดความผันผวนของ "พอร์ตการลงทุน" ได้ และช่วยให้ผลตอบแทนสอดคล้องกับเป้าหมายในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน แนวคิดในการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุนเป็นหลัก บางคนลงทุนเพื่อรักษาเงินต้น ไม่ได้อยากเสี่ยงมาก แค่ชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาวก็พอ บางคนต้องการผลตอบแทนในรูปแบบกระแสเงินสด ทั้งเงินปันผลจากกองทุนรวม หุ้น หรือดอกเบี้ยรับจากหุ้นกู้ หรือบางคนก็อยากเห็น NAV ของพอร์ตลงทุนเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ว่าใครจะชอบแบบไหน ทุกๆการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นนักลงทุน ควรมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในระดับความเสี่ยงที่ตนสามารถรับได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการลงทุน

ครั้งนี้ “นายปั้นเงิน” นำแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติในการจัดพอร์ตลงทุนแบบสร้างสรรค์ มาฝากเพื่อนๆนักลงทุนทุกท่าน ขอขนานนามสูตรลับนี้ว่า “CONDOM” ถึงชื่อจะฟังดูพิลึก (ดูบ้ากามแปลกๆ) แต่เมื่อพูดถึง “CONDOM” ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม รับรองเรื่องความปลอดภัยได้แน่นอน

แล้วเกี่ยวกับ Asset Allocation ยังไง? ไปดูพร้อมกันทีละตัว

C: Conservative

C ตัวแรกมาจาก Conservative ที่หมายถึง “ความระมัดระวัง” ในโลกแห่งการลงทุน เรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ “การจำกัดความเสี่ยง” ภายใต้ “หลักของความระมัดระวัง” เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หากนักลงทุนเลือกนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว โดยไม่มีการศึกษาถึงความเสี่ยงมาก่อน หรือไม่มีความรู้เลย จนเกิดความเสียหายอย่างหนัก นั่นแปลว่านักลงทุนคนนั้น “ไม่มีความระมัดระวังในการลงทุน”

เราควรจะรู้จักสินทรัพย์ที่จะนำเงินไปลงทุน หรือมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ดีก่อนการลงทุน ต่อให้มีผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นักวิเคราะห์ ที่ปรึกษาทางการเงิน โค้ช เซียน เทรนเนอร์ หรือกูรูคนไหน มาชี้เป้าให้นำเงินไปลงทุนตามที่บอกก็ตาม สุดท้ายเงินลงทุนทั้งหมดก็เป็นของคุณอยู่ดี ไม่ควรนำข้อมูลที่ได้มาเพื่อใช้ตัดสินใจ 100% ควรใช้ข้อมูลต่างๆประกอบการตัดสินใจของตัวเองภายใต้ความระมัดระวังด้วย

ดังนั้นเรื่องสำคัญเรื่องแรกคือ ต้องระมัดระวังเงินลงทุนของคุณให้ดี ไม่ว่าจะรับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยเพียงใด ทุกคนก็ควรมีระดับความระมัดระวังเหมือนกัน ขนาดนักลงทุนในหุ้นชื่อดังหลายๆคน ที่ศึกษาข้อมูลในการลงทุนมาเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมี Margin Of Safety เป็น “ส่วนเผื่อความปลอดภัย”  เพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ในทุกครั้งที่เข้าซื้อหุ้น

ดังนั้นนักลงทุนอย่างเรา ก็ควรมีความระมัดระวังก่อนที่จะลงทุนเหมือนกันนะ

O: Objective

“เป้าหมายในการลงทุน” เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน นักลงทุนต้องมีเป้าหมายในการลงทุน เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ต่างกัน จริงอยู่ที่ผลตอบแทนที่เยอะที่สุด อาจจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าลองมองเป้าหมายประกอบไปด้วย การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนเสมอไป

เพราะการลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายในการลงทุนได้ดีที่สุด และเหมาะกับระยะเวลาของเป้าหมาย เข้ากับไลฟ์สไตล์มากที่สุด เพื่อให้ตัวเองมีความสุขกับการลงทุน

ลองนึกภาพตามนะครับ สมมติว่า คุณเป็นผู้ชายอายุ 35 ปีแล้วอยากซื้อบ้านพร้อมเก็บเงินแต่งงานในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ตอนนี้เงินที่เก็บไว้ในออมทรัพย์มาตลอดมันมีไม่พอ ขาดอีกเกือบครึ่ง คุณกล้าที่จะนำเงินทั้งหมดมาลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดมั๊ยล่ะครับ?

ถ้ากล้าพอ ก็คงลุ้นกันตัวโก่ง เฝ้าตามดูการลงทุนนั้นอยู่ตลอดเวลา วันไหนมันขาดทุนก็คงจะกระวนกระวายไม่น้อย ถูกมั๊ยครับ? ถ้าผลตอบแทนที่ได้ มันเป็นไปตามที่คาดก็คงจะดีไม่น้อย

แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิด เงินก้อนนั้นขาดทุนจนไม่สามารถแต่งงานได้ตามเป้าหมาย คงโดนว่าที่เมียตบกบาล แล้วไปโพสพันทิปด่าแน่นอน

ทุกครั้งที่จัดพอร์ตจึงต้องแยกแยะเป้าหมายของการลงทุนเสมอ เช่น Portfolio A มีไว้สำหรับการเกษียณฯ ต้องการผลตอบแทนที่ 7% ต่อปี จะเกษียณฯใน 25 ปีข้างหน้า ด้วยเงินก้อน 40 ล้านบาท ส่วน Portfolio B มีไว้สำหรับการแต่งงาน ซื้อเรือนหอ ในอีก 2 ปีข้างหน้า เป้าหมาย 8 ล้านบาท ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้มาก คาดหวังผลตอบแทนที่ 2-3% ก็เพียงพอ Portfolio C สำหรับ… เป็นต้น

เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว จึงต้องดูว่าแต่ละเป้าหมายนั้น ต้องลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนแบบไหน ซึ่งในงาน SET ที่ผ่านมา ผมแบ่งตัวอย่างผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน ออกเป็น 7 รูปแบบ แต่ขอพูดถึง 4 รูปแบบในที่นี้นะครับ

  1. Defensive Portfolio: สำหรับคนที่ต้องการรักษาเงินต้นไม่อยากทำให้เงินต้นเสียหาย
  2. Income Portfolio: สำหรับคนที่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน
  3. Income & Growth Portfolio: สำหรับคนที่ต้องการทั้งกระแสเงินสดและการเติบโตของ NAV
  4. Growth Portfolio: สำหรับคนที่ต้องการให้เงินลงทุนเติบโตเป็นเงินก้อนเพียงอย่างเดียว

อย่างที่บอกมา เป้าหมายของการลงทุนคือสิ่งสำคัญ ก่อนจะเริ่มจัดพอร์ตลงทุนต้องมีเป้าหมายการลงทุนนั้นก่อนนะ!

N: Non-Correlation

เนื่องจากการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) เป็นการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ชนิดต่างๆ ในสัดส่วนที่ต่างกัน ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ และเป้าหมายที่วางไว้ เวลาวางนโยบายการลงทุน หรือการจัดสัดส่วนพื้นฐานของพอร์ต (Strategic Asset Allocation) ก็ควรเลือกลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ความเสี่ยงเกิดการกระจายตัว

สมมติ ใน Portfolio ของเรามีสินทรัพย์อยู่ 2 ชนิด คือ A และ B หากค่าความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ใน Portfolio เป็นบวก นั่นแปลว่าสินทรัพย์ทั้งสองชนิดมีความสัมพันธ์กันในทิศทางเดียวกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์ หรือปัจจัยที่มากระทบให้ผลตอบแทนของ A ลดลง ผลตอบแทนของ B ก็จะลดลงไปในทิศทางเดียวกัน

ถ้าค่าความสัมพันธ์เป็นลบ แสดงว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั้งสองจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน หากสินทรัพย์ A ให้ผลตอบแทนที่ดี สินทรัพย์ B จะให้ผลตอบแทนในทางตรงข้าม ทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนหักล้างกัน

ซึ่งการเลือกสินทรัพย์แบบ Non-Correlation จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และสามารถลดความผันผวนของผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีด้วย

D- Diversification

ต่อเนื่องจากการเลือกสินทรัพย์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เรื่องสำคัญในการลงทุนเรื่องหนึ่ง คือ “การกระจายการลงทุน” เพื่อลดความผันผวนของผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุน และไม่เป็นการแบกรับความเสี่ยงของสินทรัพย์ตัวหนึ่งมากจนเกินไป นโยบายการวางไข่ไว้ในตระกร้าหลายๆใบจึงเกิดขึ้น

เราไม่ควรทุ่มเงินลงทุนไปในสินทรัพย์เพียงตัวเดียวแบบหมดหน้าตัก เว้นแต่ว่าเรามีความเชี่ยวชาญ ชื่นชอบเข้าใจในสินทรัพย์ประเภทนั้นเป็นอย่างดี และสามารถรับความเสี่ยงทั้งหมดของมันได้

แต่ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมแนะนำให้กระจายการลงทุนใน Asset class ที่แตกต่างกัน

เช่น หุ้น เป็นสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว แต่ความเสี่ยงจากหุ้นคือความผันผวนของราคาหุ้น และความเสี่ยงจากการล้มเลิกบริษัท หรือตราสารหนี้แม้จะได้ผลตอบแทนคงที่ และดูมีความเสี่ยงน้อย แต่มันเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว คือเรื่องเครดิตความน่าเชื่อถือ ช่วงที่ผ่านมามีข่าวบริษัทเอกชน ไอ้ๆอีๆ หลายแห่งเบี้ยว ไม่ยอมจ่ายเงินคืนนักลงทุน เงินทั้งก้อนเรียกได้ว่าอาจจะหายไปกับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้น

ดังนั้นเมื่อเราเลือกกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อมาคือ การเลือกสินทรัพย์รายตัวให้ต่างกัน เช่น ถ้าเราเลือกลงทุนในเป้าหมายที่ต้องใช้หุ้นเป็นสัดส่วนใหญ่ ให้เราเลือกลงทุนหุ้น ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน ขนาดต่างกัน หรือ เลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศกระจายตัวกันหน่อยก็ได้

ถ้าเลือกหุ้นเองไม่เป็นก็ใช้กองทุนรวมในการกระจายความเสี่ยงแทนได้นะครับ เพราะกองทุนเค้านำเงินไปกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายๆตัวให้แล้ว แต่เราไม่ต้องไปกระจายการลงทุนในกองทุนชนิดเดียวกันอีกแล้ว ถ้าเลือกกองทุนคนละกองแต่นโยบายใกล้เคียงกัน มันก็ยังเป็น Positively Correlation อยู่ดี

ถ้าอยากจะใช้กองทุนรวมในการลงทุน ต้องเลือกดูนโยบายให้ไม่มีความใกล้เคียงกัน จะเป็นการ กระจายลงในกองทุนต่างประเภท ไปเลย เช่น กองทุนรวมในหุ้น 50% กองทุนรวมตราสารหนี้ 30% Property Fund 20%

หรือ ถ้าเป้าหมายเราต้องลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 80% ใน 80% นั้น ลงในกองทุนที่เลือกถือหุ้นที่มีไส้ในต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาจจะเป็นกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ กับ หุ้นไทย อย่างละครึ่งก็ได้

และไม่ว่าจะกระจายการลงทุนอย่างไร สุดท้ายผลตอบแทนมันมักจะออกมา ไม่ใช่ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และก็ไม่แย่ที่สุดเหมือนกัน  แต่อย่างน้อยผลตอบแทนจะออกมาสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ในตอนแรก นั่นคือสิ่งที่ดีสุด ไม่ใช่หรอครับ?

O- Opportunity

โอกาสในการลงทุน มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ สำหรับคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องการลงทุนอยู่เป็นประจำ เรื่องการโยกย้ายสัดส่วนเงินลงทุนชั่วคราว (Tactical Asset Allocation) จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะสั้นให้กับพอร์ตการลงทุนได้

เมื่อนักลงทุนมองสภาพตลาด และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจออก ประเมินแล้วว่ามีโอกาสชนะในการปรับสัดส่วนลงทุน นักลงทุนสามารถโยกย้ายสัดส่วนที่เคยจัดสรรไว้ในตอนแรก ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ชั่วคราว

เช่น เดิมทีจัดสัดส่วน Portfolio ไว้ตามนี้ เงินสด 10% ตราสารหนี้ 20% Property Fund 30% และ หุ้นไทย 40% หากมองว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ จึงลดสัดส่วนหุ้นมาเหลือ 10% เพื่อรักษาผลตอบแทนจึงนำไปใส่ใน กองทุนรวมตราสารหนี้และเงินสด สัดส่วนชั่วคราวจะเป็น เงินสด 20% ตราสารหนี้ 40% Property Fund 30% และ หุ้นไทย 10%

และเมื่อเศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงนั้นไปได้ กลับเข้ามาสู่ช่วงฟื้นตัว ตลาดหุ้นกลับมาสู่ช่วงขาขึ้น เราสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนเป็นเหมือนเดิมเพื่อเพิ่มผลตอบแทนก็ได้ หรือจะนำเงินสดมาเน้นน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ให้สัดส่วนทั้งหมดเป็น เงินสด 5% ตราสารหนี้ 10% Property Fund 30% และ หุ้นไทย 55% จนกว่าเศรษฐกิจจะคงตัว  แล้วค่อยปรับให้เป็นสัดส่วนเดิมที่จัดสรรไว้แต่แรก

ในโลกของการลงทุนโอกาสในการลงทุนจะปรากฏต่อหน้าคนที่หมั่นศึกษาหาข้อมูล ดังนั้นยิ่งคุณอ่านหนังสือ ติดตามข้อมูลข่าวสาร ยิ่งเป็นการสร้างโอกาสในการลงทุนให้กับตัวเอง

M- Monitor

เงินลงทุนของคุณไม่ควรปล่อยมันไว้อย่างทิ้งขว้าง เป็นความจริงที่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเฝ้าตลาด หรือติดตามพอร์ตการลงทุนอยู่ตลอดเวลา แต่ควรมีการติดตามผลตอบแทน มูลค่าในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตบ้าง อย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี (ทำได้ไตรมาสละครั้งยิ่งดี)

เราควรติดตาม เพื่อประเมินว่ามันยังได้ผลตอบแทนตามที่เราต้องการอยู่หรือไม่ ถ้าเกิดมันย่ำแย่อย่างสม่ำเสมอ ก็ต้องรู้ว่าข้อผิดพลาดในการลงทุนมันเกิดขึ้นตรงไหน ควบคุมให้ผลตอบแทนยังคงสอดคล้องกับความเป็นไปได้ของเป้าหมายที่วางไว้

หรือถ้าลงทุนมาได้ระยะหนึ่ง ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองเกิดน้อยลง ก็ถึงเวลาที่จะปรับพอร์ต เพื่อลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงลง ให้ผลตอบแทนที่คาดหวังไม่ผันผวนจนเกินไป จะได้มีความสุขกับการลงทุนในอนาคตไงล่ะครับ

และทั้งหมดคือสูตรลับ “CONDOM” ที่ตอนนี้ไม่ลับอีกต่อไป เพราะผมเปิดให้ทุกคนดูหมดแล้ว (เขินจัง) ถ้าอยากจะจัดพอร์ตเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ สอดคล้องกับเป้าหมาย ก็นำสูตรนี้ไปใช้กันได้เลย หาซื้อตามเซเว่นก็ไม่มีขาย!!!

หากทำได้ตามที่บอก..เชื่อผมเถอะ “CONDOM” จะมอบความสุข (ในการลงทุน) ให้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน >//<