สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับตอนที่ 3 ของซีรีส์ความรู้ด้านประกันชีวิตกันนะครับ จากเมื่อครั้งตอนที่ 1 ที่ผมเคยได้อธิบายและให้ความรู้ในส่วนของประกันชีวิตแต่ละแบบไปแล้ว (อ่านตอนที่1 ได้ที่ [ซีรีย์] ซื้อประกันอย่างให้ให้ถูกต้องและสบายใจ (ตอนที่1)) มาตอนนี้ ผมจะขอยกเอาประกันชีวิตแบบพิเศษขึ้นมาอธิบายให้ความรู้กันแบบเจาะลึกกันซักหน่อย เพราะเชื่อว่า หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังไม่คุ้นเคยกับประกันชีวิตแบบนี้กันซักเท่าไหร่ ซึ่งนั้นก็คือประกันชีวิตแบบ  “ควบการลงทุน” หรือแบบ Unit-Linked นั่นเองครับ

ความแตกต่างระหว่าง โครงสร้างประกันชีวิตแบบทั่วไป และแบบควบการลงทุน

ก่อนจะไปรู้จักกับประกันชีวิตควบการลงทุน (ต่อไปนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า “ยูนิตลิงค์” (Unit-Linked) นะครับ) ผมอยากจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ หรือโครงสร้างเบื้องหลังของการทำประกันชีวิตทั่วไปกันสักหน่อย เพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่างของประกันชีวิตแบบทั่วไป กับแบบยูนิตลิงค์กันนะครับ

สำหรับประกันชีวิตทั่วไป (แบบตลอดชีพ, สะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ) โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไป บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) ส่วนที่ไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นการทำประกันชีวิตให้เรานั่นแหละครับ)

2) ส่วนที่เอาไปบริหารจัดการ โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (ตามนโยบายบริหารของแต่ละบริษัทประกัน) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา แล้วบริษัทจะดึงเอาผลตอบแทนที่ได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็น “เงินคืน” ตามสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกัน หรือสะสมเป็น “มูลค่าเงินสด” อยู่ในกรมธรรม์ สำหรับประกันชีวิตโดยทั่วไป ส่วนใหญ่บริษัทจะมีนโยบายลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากนัก (เช่นลงทุนในเงินฝาก, ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก อาจจะมีลงทุนในหุ้นบ้าง เป็นส่วนน้อย) เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายผลตอบแทนที่เป็น เงินคืน ซึ่งมีการ “การันตีผลตอบแทน” (เป็น % ของทุนประกัน) ให้กับผู้เอาประกัน ดังนั้น บริษัทจะไปลงทุนอะไรที่เสี่ยงต่อการขาดทุนมากไม่ได้

ซึ่งสัดส่วนของเงินทั้ง 2 ส่วน คือส่วนที่ 1) กับส่วนที่ 2) นี้เองครับ ที่ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่างๆ ที่มีผลตอบแทน และทุนประกันคุ้มครองชีวิตที่ได้ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ที่เน้นการคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ไม่มีเงินคืน ก็จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) มากกว่าส่วนที่ 2) (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเกือบหมด ทำให้ได้ทุนประกันที่สูง และเหลือเงินไปลงทุนน้อย จึงไม่มีเงินคืน และมีมูลค่าเงินสดอยู่ในกรมธรรม์น้อย)
  2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) น้อยกว่าส่วนที่ 2)      (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยน้อยกว่า เอาไปลงทุน ทำให้แบบประกันแบบนี้จะมีทุนประกันต่ำกว่าแบบตลอดชีพ (ณ เบี้ยประกันที่เท่ากัน) แต่ก็มีผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะเอาเงินไปลงทุนมากกว่า) แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังถือว่าไม่สูงมากอยู่ดี(โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 1% กว่าๆ – 2% กว่าๆต่อปี)  เนื่องจากบริษัทประกันต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนแทนคนทำประกัน และมีการการันตีเงินคืน ทำให้ต้องลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็เลยต่ำไปด้วย

แต่สำหรับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แล้ว แทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 2) ไปลงทุนแทนเรา โดยต้องลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำๆอย่างเดียว บริษัทก็จะให้เราสามารถ “เลือก” ลงทุนด้วยตัวเอง ผ่าน “กองทุนรวม” ที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เราต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปเลยครับ

ถึงจุดนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วมันต่างจากการไปลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปยังไง?” หรือ “แล้วทำไมต้องมาซื้อยูนิตลิงค์ ไปซื้อกองทุนรวมทั่วไป ไม่ดีกว่าเหรอ?” คำตอบก็คือ เราไม่สามารถเอายูนิตลิงค์กับกองทุนรวมมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงครับ เพราะยูนิตลิงค์แม้จะมีการลงทุนด้วย แต่สุดท้ายหัวใจของมันก็คือการทำประกัน ที่มีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้หากดูเฉพาะแค่ผลตอบแทน มันย่อมน้อยกว่าการไปลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น จะเปรียบเทียบกันเฉพาะแต่ในแง่ของผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องดูในแง่ของการคุ้มครองชีวิตด้วย เช่น สำหรับคนที่เอาเงินไปลงทุนเอง หากเสียชีวิตกะทันหัน ในช่วงที่ผลตอบแทนขาดทุนอยู่พอดี ลูกหลานก็จะได้รับมรดกเท่ากับมูลค่าการลงทุนที่กำลังขาดทุนอยู่ แต่หากเป็นยูนิตลิงค์ แม้ผู้เอาประกันจะจากไปขณะที่มูลค่าเงินสด หรือมูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์ลดต่ำลงจากผลการลงทุนที่ขาดทุน ลูกหลานหรือผู้เอาประกัน ก็จะได้รับเป็นเงินเอาประกันที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(ที่กำลังขาดทุนอยู่) แน่ๆ จึงถือเป็นการทำประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงหากเสียชีวิต ตรงนี้ด้วยที่ทำให้ต่างจากการลงทุนทั่วไปอย่างชัดเจน  

นอกจากจะสามารถให้เราเลือกบริหารการลงทุนในเงินส่วนที่ 2) เองได้แล้ว ยูนิตลิงค์ยังสามารถให้เรา “กำหนดสัดส่วน” ระหว่างความคุ้มครองตามกรมธรรม์ กับส่วนของเงินลงทุนเองได้ (กำหนดสัดส่วนระหว่างเงินส่วนที่ 1) กับ 2) ด้วยตัวเองนั่นแหละครับ) ว่าจะให้มีสัดส่วนของความคุ้มครองชีวิตหรือการลงทุนมากกว่ากัน ถ้าเราเลือกให้สัดส่วนของความคุ้มครองสูงขึ้น ก็จะทำให้เราได้ทุนประกันที่สูงขึ้น (หรือมองอีกมุมหนึ่งคือ ถ้าเราเลือก/ปรับให้ทุนประกันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยของเราก็จะสูงขึ้น) แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้สัดส่วนของเงินที่นำไปลงทุนล