จากตอนที่แล้วที่เราได้พูดถึงพื้นฐานของประกันชีวิตและสิ่งที่ควรจะต้องรู้ก่อนทำประกันชีวิตกันไปแล้ว ([ซีรีย์] ซื้อประกันอย่างไรให้ถูกต้องและสบายใจ : ตอนที่ 1) มาตอนนี้ก็ถึงคิวของ “ประกันสุขภาพ” ซึ่งเป็นการปกป้องความมั่งคั่งที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

1. ทำไมประกันสุขภาพถึงเป็นเรื่องสำคัญ?

หลายคนอาจจะยังรู้สึกว่า ทำไมต้องทำประกันสุขภาพ? ยิ่งเราเองเป็นคนรักษาสุขภาพ แข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยต้องนอนโรงพยาบาลอยู่แล้ว โอกาสที่จะได้ใช้แทบไม่ค่อยมี แล้วจะจ่ายเบี้ยประกันแพงๆทิ้งไปทุกปีๆทำไม? เสียดายเงินเปล่าๆ

จริงอยู่ที่ถ้าเราเป็นคนที่แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราคงจะมีโอกาสเจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีอะไรมาการันตีได้ว่า ตลอดชีวิตของเราจะไม่มีวันเกิดเรื่องร้ายแรงหรือเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะของแบบนี้ ไม่ต้องรอให้โอกาสเกิดขึ้นบ่อยๆหรอกครับ ขอแค่เกิด ”แจ็คพ็อต” ขึ้นแค่ครั้งเดียว บางทีก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้การเงินเราเสียหายร้ายแรง ทรัพย์สินที่เคยมีอยู่ก็อาจจะหายไปจนหมด เงินเก็บเงินลงทุนต่างๆที่วางแผนไว้ว่าจะได้ใช้ในอนาคตก็อาจจะต้องถูกดึงมาใช้จนเหลือไม่พอ ทำให้เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายการเงินต่างๆที่เคยวางไว้ต้องพังทลาย ร้ายแรงกว่านั้นอาจจะลามไปเดือดร้อนถึงทรัพย์สินของคนอื่นด้วย ถ้าทรัพย์สินที่มีอยู่ของเราไม่เพียงพอ แถมตอนนี้โอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆก็มีมากขึ้น เพราะนับวันก็ยิ่งจะมีโรคแปลกใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเราไม่ทันระวังตัวอีกด้วย

นอกจากเรื่องความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงหลายชนิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่อง “ค่ารักษาพยาบาล” ที่นับวันก็จะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ จากต้นทุนที่สูงขึ้นของนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งยารักษา เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีแพทย์ (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare จึงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี) ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า เงินเฟ้อเรื่องค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยนั้นสูงถึงประมาณ 8% ต่อปี! (อาหารและข้าวของเครื่องใช้อยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี) หรือจากค่าห้องโรงพยาบาลชั้นนำประมาณ 7,000 บาทต่อคืนเมื่อ 10 ปีแล้ว กลายเป็นประมาณ 15,000 บาทต่อคืน ในปัจจุบัน! ไม่นับเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆอีก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสมัยนี้ แม้ไม่ต้องเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง อย่างแค่ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือท้องเสียเข้าโรงพยาบาล นอนอยู่ไม่กี่คืน เช็คบิลออกมาก็อาจจะหมดไปเกือบแสนได้!

ครั้นจะประหยัดเงินค่ารักษาด้วยการใช้สวัสดิการที่มีอยู่ ไม่ว่าจากสิทธิ์ข้าราชการ จากบริษัท หรือจากรัฐบาล ในการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ก็ต้องเผชิญกับการรอคอยการต่อคิวที่ยาวเหยียด (เพราะต่างคนต่างก็ใช้สิทธิ์เบิกโรงพยาบาลรัฐกันเป็นจำนวนมาก) หากเจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอเข้ารับการรักษาอีกนานแค่ไหน

พูดง่ายๆก็คือ ในปัจจุบัน ถ้าเราอยากจะได้รับการบริการที่ดี ไม่ว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรง (ที่นับวันจะยิ่งทวีความหลากหลายมากขึ้น) มากน้อยแค่ไหน เราก็มีความเสี่ยงที่จะเสียค่ารักษาแพงๆได้ไม่ต่างกัน

ถ้ารถที่เราขับ มีการทำประกันรถยนต์คุ้มครองกันแทบทุกคัน แต่คนที่ขับกลับไม่มีประกันอะไรคุ้มครองชีวิตและสุขภาพตัวเองเลย (รถชนจนต้องเข้าโรงพยาบาล รถเบิกค่าเสียหายได้ แต่เรากลับเบิกอะไรไม่ได้) มันคงเป็นเรื่องที่ฟังแล้วแปลกๆน่าดูนะครับ

2. ประเภทของประกันสุขภาพ

ถ้าเข้าใจในความสำคัญของการทำประกันสุขภาพ และเริ่มสนใจจะทำแล้ว แล้วประกันสุขภาพมีกี่ประเภทกันล่ะ ให้เราได้เลือกใช้

ประกันสุขภาพนั้นเป็น “สัญญาเพิ่มเติม” (Rider) หรือเป็นออฟชั่นเสริม ไว้ทำพ่วงกับประกันชีวิตตัวหลัก ซึ่งก็มีมากมายหลายประเภท แบ่งเป็นหมวดหลักๆได้ 3 หมวดได้แก่ 1.กลุ่มค่าชดเชยทั่วไป 2.กลุ่มค่าชดเชยอุบัติเหตุ และ 3.กลุ่มค่าชดเชยโรคร้ายแรง ซึ่งชื่อย่อแต่ละตัว ของแต่บริษัทอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่โดยทั่วไปก็จะมีชื่อย่อดังนี้

กลุ่มค่าชดเชยทั่วไป

  • WP (Waiver of Premium) = บริษัทจะจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตตัวหลักแทนคนทำประกันให้ ถ้าคนที่ทำกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ
  • PB (Payer Benefit) = ถ้าคนทำประกันเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แล้วมีผู้ปกครองเป็นคนจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ หากผู้ปกครองที่จ่ายเบี้ยประกันเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ บริษัทจะจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนให้
  • HS (Hospital & Surgical Rider) = ชดเชยกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด ฯลฯ ปัจจุบันมีทั้งแบบแยกจ่ายตามรายการ และแบบเป็นวงเงินเหมาจ่ายรายปี
  • HB (Hospital Benefit) = จ่ายชดเชยรายวัน กรณีที่นอนโรงพยาบาล

กลุ่มค่าชดเชยอุบัติเหตุ ไล่เรียงการคุ้มครองจากมากไปน้อย

  • AR1 (Accident Rider ขั้นที่ 1) = จ่ายชดเชยทั้งกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล, กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ
  • AR2 (Accident Rider ขั้นที่ 2)= จ่ายชดเชยเฉพาะกรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ
  • AR3 (Accident Rider ขั้นที่ 3)= จ่ายชดเชยกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น
  • RCC (Riot Civil Commotion) = เป็นตัวเพิ่มเติมให้ AR แต่ละขั้นให้ครอบคลุมกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากเหตุการณ์จลาจล สงครามกลางเมือง หรือการก่อการร้ายด้วย

กลุ่มค่าชดเชยโรคร้ายแรง

  • CR(Cancer Rider) = จ่ายชดเชยเมื่อเป็นมะเร็ง และกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการเป็นโรคในกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งตามจุดต่างๆ(ยกเว้นผิวหนัง)
  • CI (Critical Illness Rider) = จ่ายชดเชยเป็นเงินก้อนใหญ่ให้ทันที หากตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง (ประมาณกว่า 30โรค ส่วนจะมีโรคอะไรบาง ต้องไปดูในรายละเอียดเอานะครับ) ซึ่งมีทั้งแบบที่จ่ายตั้งแต่เป็นโรคร้ายระยะเริ่มต้น หรือจ่ายเมื่อเป็นระยะร้ายแรง เพื่อให้ä