มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายคนมาถามผมเรื่องค่าธรรมเนียมในการใช้บัญชีออมหุ้น มุมมองส่วนใหญ่จะมองว่าถ้าเกิดเราลงทุนขั้นต่ำที่ 1,000 บาท จะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบางที่ก็เก็บขั้นต่ำ 30 บาท บางที่คิดตาม Rate 0.25% (ไม่รวม VAT) ซึ่งถ้าคิดเป็นจำนวนเงินออกมาแล้ว 1,000 บาท จ่ายไป 30 บาท มันก็เท่ากับว่าต้องจ่ายถึง 3% ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงมากในความคิดของนักลงทุนหลายๆ คน

หากมองว่าค่าธรรมเนียมในการออมหุ้นที่เหมาะสมแล้วควรอยู่ที่เท่าไหร่ ผมว่าหลายคนคงจะคำนวณว่าถ้าคิดที่ 0.25% ตรงไหนที่จะคุ้มที่ 30 บาท คิดๆ ไปแล้วน่าจะออมประมาณ 12,000 บาท ถึงจะคุ้มค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ (12,000 x 0.25% = 30 บาท) แต่เงินที่จะเอามาออมตรงนี้ได้มันค่อนข้างสูงสำหรับหลายๆคน ยิ่งน้องๆ ที่จบใหม่เงินเดือนได้อยู่ประมาณ 15,000 -  20,000 บาทยิ่งเป็นไปได้ยากเลย ต้องอย่าลืมว่าเวลาเราไปใช้บริการอะไรก็ตามของแต่ละที่ เขาจะมีต้นทุนและต้องการผลกำไรในการประกอบกิจการเช่นกัน ทั้งหมดนี้เราต้องกลับมาบริหารจัดการด้วยตัวเองครับ ผมเลยมามองๆดูว่าเราจะแก้ปัญหาค่าธรรมเนียมแพงกันได้ยังไงบ้าง

1. ตั้งเป้าออมเงินเพื่อการลงทุนมากขึ้น

วิธีคิดนี้เป็นวิธีคิดที่ผมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเสมอๆ ก็คือการตั้งเป้าให้ตัวเองว่า ในแต่ละปีเราจะออมหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงถ้าเราเก็บเงินได้มาก อย่างในปีแรกๆ ออมไว้เดือนละ 3,000 - 5,000 ได้ มันก็สามารถสร้างความคุ้มค่าในค่าธรรมเนียมที่มากขึ้นอยู่แล้ว เราก็สร้างเป้าหมายไปเรื่อยๆ ครับว่า ในปีต่อๆ ไปเราจะเพิ่มการออมเป็น 8,000, 10,000 , 12,000 บาท การตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราสำเร็จในการลดค่าธรรมเนียมที่แสนแพงลงได้ พูดง่ายๆก็คือยอมในปีแรกๆ เพื่อสร้างวินัยให้ตัวเองก่อนและพอปีต่อๆ มาเดี๋ยวเราจะลดต้นทุนตรงนี้ลงไปเอง

2. เปลี่ยนเป็นการออมหุ้นด้วยตัวเอง

หลายๆ โบรกเกอร์ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ แต่จะคิดค่าธรรมเนียมตามจริงเท่าที่เราลงทุนเลย  เราก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้การซื้อเองตามเงินที่เรากำหนดเองครับ ตรงนี้ก็จะทำให้เราประหยัดค่าธรรมเนียมไปได้เยอะมาก แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือเราจะต้องมีวินัยในการออมด้วยตัวเองให้ได้ และความยากอีกอย่างก็เคยในกรณีที่เราต้องซื้อเศษหุ้นนั้นอาจจะมีอุปสรรค์มากกว่าการซื้อผ่านบัญชีออมหุ้นนะครับ

3. ออมหุ้นด้วยตัวเองด้วยการซื้อขายน้อยครั้งลง

แต่ละโบรกเกอร์อาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่างกัน บางที่เก็บตามจริง ขั้นต่ำ 30 บาท 50 บาทก็ได้ แต่ถ้ากรณีมีการเก็บขั้นต่ำ เราอาจจะใช้วิธีการสะสมเงินก่อนแล้วค่อยๆ ซื้อทีเดียวครับ เช่น เราเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท เราก็เก็บ 1 ปี (12,000 บาท) เพื่อซื้อ 1 ครั้ง ก็จะทำให้เราประหยัดค่าธรรมเนียมจากการซื้อทุกเดือน เหลือการซื้อปีละ 30 บาทได้ หลักการซื้อหุ้นรายปีแต่ซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องก็ถือเป็นการ DCA รายปีนะครับ คล้ายๆ กับหลายๆ คนที่ซื้อ LTF รายปีเพื่อสะสมความมั่งคั่งเช่นกัน แต่ข้อเสียของมันก็คือ การเก็บเงินสดเอาไว้กับตัวอาจจะทำให้เราเอาเงินไปใช้จ่ายแทนที่จะเอาไปลงทุนนะสิ อีกทั้งการเติบโตในหุ้นมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางทีออมหุ้นรายปีอาจจะเสียโอกาสในการรับผลประโยชน์จากการราคาหุ้นที่ปรับขึ้นระหว่างปีก็ได้

4. คิดว่าช่างมันเหอะๆ 30 บาทเอง

วิธีคิดนี้เกิดจากตัวผมเองนะครับ ฮาๆๆ :) เมื่อก่อนผมเป็นคนคิดเยอะมากว่าทำไมเราจะต้องเสียถึง 30 บาท มันช่างไม่คุ้มเอาซะเลย ผมว่าจริงๆ เรามักจะหาอะไรที่คุ้มค่าตลอดเวลาครับ แต่หลายๆครั้งเรากลับลืมไปว่า พอคิดเยอะๆ นี่มันก็เกิน 30 บาทแล้ว แค่ออกจากบ้านไปทำธุระ เช่น ซื้อกับข้าว ซื้อของ ช้อปปิ้ง ฯลฯ บางครั้งเราซื้อของแค่  1,000 บาท แต่จ่ายค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าโน้นนี่ไปก็หลายร้อยบาทแล้วนะครับ กลายเป็นออกไปซื้อของ 1,000 บาท จ่ายค่าอื่นๆ ไปอีก 300 บาท และการออมหุ้นมันก็จ่ายแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น คิดเร็วๆ ก็คือเราจะจ่ายแค่ 360 บาท ซึ่งมันถูกกว่าการออกจากบ้านไปกินข้าวกับเพื่อนสักมื้อนึงเอง

ถ้าคุณเป็นเทรดเดอร์ก็อาจจะต้องคิดเรื่องค่าธรรมเนียมเยอะกว่าเพราะมีการซื้อขายในปริมาณมากครั้ง แต่สำหรับผมเองแล้วผมคิดว่าค่าธรรมเนียมการออมหุ้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เยอะอะไรมาก เพราะเป้าหมายเราคือการสะสมความมั่งคั่งระยะยาว ถ้าคุณออมไปเรื่อยๆ จากเล็กไปมาก ค่อยๆ เพิ่มจำนวนเงินต้นในการออม อีก 20 ปีข้างหน้าคุณอาจจะมีทรัพย์สินมูลค่า 10 ล้านบาท ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจ่ายไปก็แค่เพียงแค่ ไม่กี่หมื่นบาทก็ได้นะครับ