ค่าธรรมเนียมหุ้น หรือที่เราพูดกันให้เข้าใจเต็มๆว่า ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น เป็นสิ่งที่แฝงมากับการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งซึ่งมีตัวเลขที่ยิบย้อนจิปาทะเต็มไปหมด หลายๆคนอาจจะพอทราบว่ามีค่าอะไรบ้าง แต่หลายๆคนก็ไม่เคยทราบเพราะมองแค่ว่า ได้กำไรก็จบแล้ว อิอิ ค่าธรรมเนียมเหล่านี้หลายๆคนมองว่าควรจะต้องประหยัดไม่เช่นนั้น หากเรามีการซื้อขายหลายๆครั้ง เมื่อไปคำนวณกันแบบจริงๆจังๆก็ทำให้รู้สึกว่า "โห เราจ่ายไปเยอะเหมือนกันนะเนี่ย" แต่ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการว่าเราจะซื้อหุ้นอย่างไรให้จ่าย "ค่าธรรมเนียมหุ้น" ได้แสนถูก เรามารู้กันก่อนนะครับว่า ในการซื้อหุ้นแต่ละครั้งเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายเรื่องที่ 1 มูลค่าหุ้นที่เราซื้อ

เรื่องนี้มันแน่นอนอยู่แล้วเหมือนเวลาเราซื้อของต่างๆ เราก็จะต้องจ่ายค่าซื้อสินค้า หุ้นก็เหมือนกันเราต้องจ่ายค่าซื้อ แต่อย่างว่านะครับแต่ละคนที่ซื้อหุ้นไปย่อมจ่ายในราคาที่ไม่เท่ากัน ผมขอยกตัวอย่างเช่นบางคนอาจจะซื้อหุ้น ABC ที่ 100 บาท บางคนซื้อที่ 150 บาท 200 บาทบ้าง มันก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการซื้อแต่ละคนซึ่งมีจังหวะและโอกาสทั้งในเชิงของอารมณ์ทางตลาด และ พื้นฐานที่เปลี่ยนไปของหุ้น ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อคุณอ่านบทความของผมอาจจะบอกในใจกับผมว่า งั้นการซื้อตอนถูกก็คงดีสิ แต่ที่เห็นๆกันบ่อยๆทำไมหลายๆคนมาบ่นให้ผมฟังบ่อยๆนะว่า ซื้อแพงซะงั้น - -" ก็อย่างที่ทราบกันนะครับว่า คุยกันในทฤษฎีย่อมไม่เหมือนเงื่อนไขในการปฎิบัติจริง

ค่าใช้จ่ายเรื่องที่ 2 ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

พูดกันอย่างทั่วไป ค่านายหน้าหลักทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรามองกันว่าเป็น ค่าธรรมเนียมหุ้น อย่างเวลาเราจะเปิดบัญชีจะซื้อขายก็ย่อมถามกันว่า "ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่" ทั้งนี้ก็อยู่ที่ในเรื่องของ "ช่องทางในการซื้อขาย" และ "ประเภทบัญชีที่เราซื้อขาย"

ช่องทางที่เราซื้อขายนั้นก็มีอยู่ 2 ช่องทางหลักๆในปัจจุบันคือ

1. โทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่การตลาดซื้อให้

ค่าธรรมเนียมด้วยการโทรหามาร์เก็ตติ้ง โดยทั่วไปจะเริ่มที่ประมาณ 0.25% และลดลงตามจำนวนเงินที่เราซื้อขายต่อวัน ยิ่งเราซื้อขายเยอะมากๆ เรายิ่งได้ส่วนลด ข้อดีของการให้มาร์เป็นคนคีย์ให้ผมว่าจะเป็นเรื่องของความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะถ้าเราซื้อขายเองแล้วเกิดสั่งคำสั่งผิดพลาดเราอาจจะต้องรับความเจ็บปวดก็เป็นได้ แต่ถ้ามาร์เก็ตติ้งซื้อขายให้แต่ผิดพลาด ทางบริษัทหลักทรัพย์ก็จะช่วยเราแก้ปัญหาให้เป็นไปตามที่เราได้ส่งคำสั่งแต่แรก

2. ใช้ระบบซื้อขายทางอินเตอร์เน็ท

ถ้าเป็นการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ก็อยู่ที่ว่าเราใช้ประเภทบัญชีอะไร หากเราใช้บัญชีเงินสด (ชื่อเล่นผมตั้งว่า : บัญชี 3 วันทำการ T+3) จะมีค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 0.20% ลดหลั่นลงไปเรื่อยๆตามจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละวัน ซึ่งแพงกว่าบัญชีบัญชีแคชบาลานซ์ (ชื่อเล่นผมตั้งว่า : บัญชีเติมเงิน) และเครดิตบาลานซ์ (ชื่อเล่นผมตั้งว่า : บัญชีกู้เงิน) ที่เริ่มต้นค่าธรรมเนียมที่ 0.15% และลดลงไปตามจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละวัน

ทั้งนี้บาง บล. อาจจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ด้วย เช่น 30 บาท 50 บาท ซึ่งเป็นอะไรที่มาตรฐาน ส่วนบางแห่งก็ค่าธรรมเนียมตามจริง แต่ถ้าหากคุณซื้อขายหุ้นเยอะๆนะ คุณก็อาจจะลองถาม บล. ดูก็ได้ว่ามีสิทธิพิเศษหรือส่วนลดค่าธรรมอะไรเพิ่มเติมให้อีกได้บ้างไหม

ค่าใช้จ่ายเรื่องที่ 3 ค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น

ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์เก็บเงินจากเรา แต่เป็นจำนวนเปอร์เซ็นที่ไม่มาก ได้แก่

  • ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ SET Trading Fee : 0.005%
  • ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ TSD Clearing Fee : 0.001%
  • ค่าธรรมเนียมในการกำกับดูแล Regulatory Fee : 0.0018%

ซึ่งรวม 3 อย่างนี้คือ 0.0078% ใช่ไหมครับ?

ค่าใช้จ่ายเรื่องที่ 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม

อันที่จริงแล้วผมเคยคิดเล่นๆนะว่าภาษีมูลค่าเพิ่มเขาคงต้องคิดแบบเวลาไปกินข้าวแน่เลย เช่น กิน 100 บาท จ่าย 7 บาท ถ้ากิน 1,000 บาท จ่าย 70 บาท แต่สำหรับหุ้นไม่ใช่ ไม่งั้นถ้าหุ้นราคา 200 บาท ซื้อมา 1,000 หุ้น เราคงจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 14,000 บาทแล้ว แพงเกิ๊น!! แต่ในความเป็นจริงแล้วภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขายหุ้นจะคิดที่ ค่าธรรมเนียมหุ้นที่เกิดจากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นโดยที่ตลาดหลักทรัพย์เรียกเก็บ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราซื้อขายผ่านโทรศัพท์ เราจะเสียค่านายหน้า 0.25% รวมกับ ค่าธรรมเนียมที่ตลาดเรียกเก็บ (ประเภทที่ 3) 0.0078% รวมแล้วเป็น 0.2578% เอาจำนวนนี้มาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จะกลายเป็น 0.2578 x 7% = 0.275846% ซึ่งก็คงทำให้ทุกคนพอจะได้เห็นที่มาของวิธีคิดค่าธรรมเนียมแล้วว่าทำไมมันยึกยือแบบนี้

ซื้อขายหุ้นอย่างไรให้ค่าธรรมเนียมถูก?

กลับมาสู่คำถามที่เราคิดกันแล้ว คงจะได้คำตอบกันในใจบ้างใช่ไหมครับ?

1. เราควรซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาหุ้นถูกลง

ยิ่งราคาหุ้นถูกเรายิ่งจ่ายค่าธรรมเนียมน้อยลงเมื่อเทียบกับการซื้อในจำนวนเท่าเดิม

2. เลือกวิธีการซื้อขายหุ้นในประเภทบัญชีที่เก็บค่าธรรมเนียมน้อย

การใช้บัญชีแคชบาลานซ์ทางอินเตอร์เน็ท นอกจากจะได้ซื้อขายในค่าธรรมเนียมที่ถูกลงแล้วเรายังสามารถได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้ในบริษัทหลักทรัพย์ด้วย

3. ซื้อขายหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม

จริงๆแล้วยิ่งคุณซื้อขายหุ้นมากก็ยิ่งได้รับส่วนลดของค่าธรรมเนียมที่น้อยลง แต่ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องคิดดีๆก็คือเรื่องของความเสี่ยงในการลงทุน การลงทุนด้วยเงินจำนวนที่เหมาะสมต่อตัวเองจึงเป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าควรพิจารณามากกว่าการลงทุนด้วยเงินที่มากที่สุดเพื่อเอาค่าธรรมเนียมที่ต่ำสุด ในกรณีที่คุณลงทุนด้วยจำนวนเงินน้อยๆ อาจจะใช้บริก