ถ้าตรวจสุขภาพประจำปีก็ต้องงดน้ำและอาหาร ไปถึง รพ. วัดความดัน เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ ฯลฯ เพื่อดูว่าสุขภาพเป็นอย่างไร มีแนวโน้มจะป่วยเป็นอะไรมั้ย เช่น กำลังจะเป็นเบาหวาน ก็ต้องระมัดระวังการกินมากขึ้น เรื่องการเงินเราสามารถตรวจสุขภาพได้เช่นกัน

ถ้าต้องการตรวจแบบละเอียดเพื่อให้รู้ว่าตอนนี้การเงินเป็นอย่างไร “แข็งแรงหรืออ่อนแอ” ส่วนไหนกำลังมีปัญหา ควรแก้ไขอย่างไร วิธีการตรวจจะต้องใช้อัตราส่วนทางการเงิน มีทั้งวิธีคำนวณเองกับคำนวณผ่านโปรแกรมสำเร็จรูป สิ่งสำคัญ คือ เราต้องใส่ตัวเลขให้ถูกต้อง ผลการคำนวณถึงจะนำมาใช้ได้นะจ๊ะ

เริ่มต้นที่ “งบการเงินส่วนบุคคล”

ทำให้เราเห็นภาพรวมว่าเงินของเราอยู่ที่ไหน ใช้จ่ายแต่ละเดือนคล่องมือมั้ย มี 2 เรื่องที่ต้องรู้ คือ 

1 => งบดุล

ทำให้รู้ว่าตอนนี้เรามีฐานะการเงินเป็นอย่างไร รวมทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเราว่ามีมูลค่าปัจจุบันเท่าไหร่ ลบออกด้วยหนี้สินทั้งหมด เหลือเป็นความมั่งคั่ง ทำให้รู้ว่าตอนนี้มีความมั่งคั่งเป็นอย่างไร

  • เป็นบวก มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่านี้สิน ถ้าเราหายตัวไป ครอบครัวสามารถขายทรัพย์สินทั้งหมดมาชำระหนี้สินให้เราได้ ไม่ทิ้งภาระให้ใคร
  • เป็นลบ มีหนี้สินมากกว่ามูลค่าทรัพย์สิน ถ้าเราหายตัวไป ครอบครัวขายทรัพย์สินมาชำระหนี้แล้วก็ยังชดใช้ไม่หมด กลายเป็นภาระให้ครอบครัว 

2 => งบกระแสเงินสด

เหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปมา ดูว่าเรามีรายได้ รายจ่ายเป็นอย่างไร

  • เป็นบวก รายได้มากกว่ารายจ่าย ใช้เงินคล่องมือ เก็บเงินเพื่อความฝันต่างๆได้เต็มที่
  • เป็นศูนย์ รายได้เท่ากับรายจ่าย หาได้เท่าไหร่ใช้หมดแบบนี้เหนื่อย ควรหาวิธีเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่าย
  • เป็นลบ รายจ่ายมากกว่ารายได้ หมุนเงินไม่ทันกลายเป็นหนี้ ต้องลดรายจ่าย หารายได้เพิ่มพร้อมกับหาวิธีจัดการหนี้ เช่น ขายทรัพย์สินเพื่อให้หนี้เบาลง

ทั้งงบดุลและงบกระแสเงินสดว่ามีอะไรบ้าง อภินิหารเงินออมมีตารางมาให้กรอกพร้อมกับการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินว่าดีกว่าหรือแย่กว่ามาตรฐาน ถ้าเราเข้าใจสูตรแล้วคำนวณเองได้ก็จะรู้ที่มาที่ไปของตัวเลขและรู้ว่าควรแก้ปัญหาที่จุดไหน ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างเอกสารที่อยู่ในไฟล์ PDF สามารถดาวน์โหลดชื่อไฟล์ "เช็คชีพจรการเงินของตัวเอง"

ถ้าใครไม่ถนัดคำนวณเอง สามารถเข้าไปที่เว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีโปรแกรมช่วยคำนวณ https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/financial.html พร้อมกับการประมวลผลว่าเรามีสุขภาพการเงินเป็นอย่างไร

เรารู้เรื่องอัตราส่วนทางการเงินเพื่ออะไร?

  • รู้จุดแข็งและจุดอ่อนเรื่องการเงินของตัวเอง
  • เรื่องสภาพคล่อง ทำให้รู้ว่าตอนนี้เรามีเงินฉุกเฉินครบแล้วรึยัง ควรเก็บเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ 
  • เรื่องการออมและการลงทุน มีมากหรือน้อยกว่ามาตรฐาน ควรเพิ่มทรัพย์สินเพื่อการลงทุนเท่าไหร่
  • เรื่องหนี้สิน เรามีหนี้สินพอดีหรือมีมากเกินไป ควรเตรียมแผนฉุกเฉินอย่างไร เช่น
    • ถ้ามีหนี้แบบพอดี ควบคุมได้ อาจจะแบ่งเงินบางส่วนซื้อประกันชีวิตความคุ้มครองสูง เพื่อโอนความเสี่ยงด้านหนี้สิน ถ้าเราหายตัวไปเงินก้อนจากประกันชีวิตจะมาจ่ายหนี้และเป็นเงินที่เลี้ยงดูครอบครัวแทนเราได้ 
    • ถ้ามีหนี้สินล้นพ้นตัว รายจ่ายมากกว่ารายได้ตลอดและกู้ยืมตลอดเวลา แบบนี้ก็ต้องแก้ไขหนี้สินให้เบาลงก่อน หยุดสร้างหนี้ใหม่แล้วค่อยเริ่มวางแผนการเงิน

กรอกข้อมูลผิดชีวิตเปลี่ยน

ช่วงที่ผ่านมา อภินิหารเงินออมดูตัวเลขทางการเงินให้กับหลายๆคน ทำให้รู้ว่าบางคนกรอกข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้การคำนวณอัตราส่วนทางการเงินผิดพลาด ถ้าในอนาคตมีคนส่งตัวเลขมาให้ตรวจมากขึ้นแล้วพบความเข้าใจผิดอื่นๆ จะเอามาอัพเดทอีกครั้งนะคะ ตอนนี้เจออยู่ 2 เรื่อง คือ ราคาทรัพย์สินและมูลค่าเงินสดในประกันชีวิต

ราคาทรัพย์สิน

แนวคิด คือ ถ้าตอนนี้ขายทรัพย์สินทั้งหมดจะได้ราคาเท่าไหร่ นี่เองที่เป็น “มูลค่าปัจจุบัน” ของทรัพย์สินของเรา

=> รถยนต์ : ต้องดูว่าตลาดกลางรถยนต์มือสองว่าขายกันอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ 

  • ความเข้าใจผิด : ใช้ตัวเลขราคารถยนต์ที่ซื้อมาหรือนำราคารถยนต์ที่ซื้อมาลบกับเงินค่างวดที่จ่ายไปจะเป็นมูลค่าปัจจุบันของรถยนต์ คิดแบบนี้ไม่ได้จ้า เพราะอย่าลืมว่าราคารถลดลงเรื่อยๆ 

=> บ้านและทรัพย์สินส่วนตัวอื่นๆ : เป็นราคาปัจจุบันที่ขายในตลาด ถ้าเราซื้อบ้านมาหลายสิบปีก็ต้องคำนวณว่าราคาขายแถวบ้านอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ แล้วประมาณว่าราคาบ้านของเราอยู่ที่เท่าไหร่ ทำให้รู้ราคาปัจจุบันแบบคร่าวๆ 

  • ความเข้าใจผิด : ใช้ตัวเลขราคาบ้านที่ซื้อมาครั้งแรก อาจจะหลายปีแล้ว เป็นราคาเก่านำมาใช้ไม่ได้ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินไม่ใกล้เคียงของจริง

ประกันชีวิต

แนวคิด คือ ประกันชีวิตของเราตอนนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ด้วยการคำนวณ “มูลค่าเงินสดในประกัน” วิธีคำนวณในภาพข้างล่างนี้ ถ้าต้องการแบบละเอียดอ่านได้ในลิงค์นี้เลยจ้า http://bit.ly/2zsNRvu

  • ความเข้าใจผิด คือ นำทุนประกันมาใส่ในช่องนี้ ทำให้ความมั่งคั่งสูงเกินความเป็นจริง

ภาพรวมการเงินของเรา

นำตัวเลขการเงินทั้งหมดของเรามาสรุปไว้ด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพรวม ถ้าในไฟล์ PDF “เช็คชีพจรการเงินของตัวเอง” จะอยู่หน้าที่ 4 เรานำตัวเลขทั้งหมดมากรอกในภาพ ก็จะเห็นภาพรวมการเงินของเราง่ายขึ้น ทั้งงบดุลที่แสดงสถานะการเงิน งบกระแสเงินสดที่ดูสภาพคล่องของเรา อัตราส่วนทางการเงินว่าดีกว่าหรือแย่กว่ามาตรฐานและภาพความฝันต่างๆของเราในรูปสามเหลี่ยม

แนวคิดของพีระมิดการเงิน

ถ้าฐานข้างล่างแข็งแรง ข้างบนก็จะแน่นไม่ล้มง่ายๆ จากภาพจะเห็นว่าฐานเรื่องการเงิน คือ สภาพคล่องและการโอนความเสี่ยง(ประกันชีวิต) ขยับขึ้นไปเป็นเป้าหมายการเงินระยะสั้น กลางและยาว ส่วนเรื่องการลงทุนจะอยู่บนสุด ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัว คือ เก็บเงินไว้ที่การลงทุน แล้วไม่มีเงินฉุกเฉิน ไม่มีประกันชีวิต สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ

  • ถ้าช่วงที่การลงทุนเติบโต กองทุนหุ้นหรือหุ้นที่ซื้อไว้ได้กำไรมากมาย แต่เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องถอนเงินจากการลงทุนมาใช้ เงินไม่เติบโตและเสียโอกาสการลงทุน
  • ถ้าเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การลงทุนขาดทุนติบลบหนัก แต่เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ ก็ต้องกัดฟันขายขาดทุนเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายดูแลสุขภาพตัวเอง

แนวคิดการแบ่งเงินตามเป้าหมาย

“การใช้คนให้ถูกกับงาน” ใครถนัดอะไรก็ทำงานนั้น ทำให้เกิดผลงานที่ดีออกมา เรานำแนวคิดนี้มาใช้กับการจัดการเงินได้เหมือนกัน คือ เลือกวิธีการเก็บเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของเราในระยะสั้นกลางยาว เรียกง่ายๆว่า “แบ่งเงินตามเป้าหมาย” นั่นเองจ้า ภาพจะออกมาประมาณนี้

สรุปว่า…

สุขภาพการเงินของเราจะเป็นอย่างไร ดูได้จากงบการเงินส่วนบุคคล เพื่อรู้สถานะการเงินและสภาพคล่องของตัวเอง การสรุปภาพรวมการเงิน ทำให้รู้ว่าตอนนี้สุขภาพการเงินของเราเป็นอย่างไร ถ้าสุขภาพการเงินแข็งแรง มีเงินใช้คล่องมือก็ไปต่อกับเป้าหมายการเงินต่างๆของเราได้ แต่ถ้าสุขภาพอ่อนแอ มีหนี้สินรุมเร้าก็ต้องกลับมาแก้ปัญหาให้จบ ปิดรอยรั่วทางการเงินแล้วค่อยเริ่มวางแผนการเงิน สิ่งสำคัญ คือ การเลือกวิธีเก็บเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินนะจ๊ะ

อภินิหารเงินออม

ประชาสัมพันธ์