จากตอนที่แล้วที่ผมได้พูดถึงอาชีพนักวางแผนทางการเงิน ในแง่ของขอบเขตการให้บริการ และขั้นตอนในการทำงานสำหรับผู้ที่อาจจะสนใจอยากใช้บริการการวางแผนทางการเงิน

(อ่านได้ที่“ตีแผ่อาชีพ”! นักวางแผนทางการเงินคือใคร? (ตอนที่ 1))

มาตอนนี้ ผมจะพาไปทำความรู้จักว่า การจะเข้าสู่อาชีพนี้ต้องทำยังไง? ต้องมีทักษะความรู้อะไร? งานแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง?

Q3 : ลักษณะการทำงาน, กิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันของนักวางแผนทางการเงินมีอะไรบ้าง?

A3 : ผมคิดว่าการแผนทางการเงิน มันคือการช่วยเหลือผู้คน ไม่ต่างอะไรกับหมอ หรือทนายความ แต่ก็ใช่ว่ามันคือสิ่งที่คนทั่วไปจะรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญจนกระทั่งเดินเข้ามาขอใช้บริการกับเราเอง (น้อยคนที่คิดแบบนี้) ดังนั้น หน้าที่ หรือกิจกรรมหลักๆที่อาชีพนักวางแผนทางการเงินต้องทำก็ย่อมหนีการ“หาลูกค้า”ไม่พ้นหรอกครับ ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจขายสินค้าหรือบริการอื่นๆเลย ซึ่งวิธีการหาลูกค้า หรือกลยุทธ์ทางการตลาด อันนี้ก็แล้วแต่ทักษะ ไอเดีย และความถนัดของแต่ละคนเลยครับ บางคนอาจจะใช้วิธี “ปากต่อปาก” (referral) ให้คนที่เป็นลูกค้าที่พึงพอใจกับบริการของเรา แนะนำคนอื่นๆต่อ หรือจะใช้วิธี "สร้างเครื่องข่าย" โดย "หาพันธมิตรหลายๆด้าน" หลายๆคน ให้ช่วยแนะนำ หาลูกค้าให้ แล้วแบ่งผลตอบแทนที่ได้มาให้ส่วนหนึ่ง (แต่ไม่ใช่แบบมาเป็น downline หลายๆชั้น ไม่ต้องมา motivate ไชโยโห่ร้อง หรือบังคับยอด เหมือนธุรกิจขายตรงบางเจ้าบางที่นะครับ) หรือบางคนอาจจะ "สร้างตัวตน สร้างเครดิตความน่าเชื่อถือ"ของตัวเองขึ้นมา จากการออกสื่อ จาก Social Network ทั้ง online และ offline เพื่อสื่อสารให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน และเชื่อมั่นที่จะมาใช้บริการกับเราก็ได้ครับ (ซึ่งจริงๆก็พยายามทำทุกวิธีนั่นแหละ 555)

ดังนั้น กิจกรรมประจำวันของงานนี้ หลักๆแล้วก็คือการทำสิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ (คิดกลยุทธ์การตลาด, เดินทางหาลูกค้า, หา partner, สร้างเครดิตความน่าเชื่อถือให้ตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ)

Q4 : รายได้และผลตอบแทนเป็นยังไง? ดีไหม?

A : ขอพูดถึงแหล่งที่มาของรายได้ก่อนนะครับ รายได้หลักๆของนักวางแผนทางการเงินจะมาจาก

1) ค่าบริการที่ปรึกษาและจัดทำแผนทางการเงิน

ซึ่งจะคิดยังไง? จะมากน้อยแค่ไหน? ก็เก็บหรือไม่เก็บ? อันนี้แล้วแต่นโยบายของบริษัท หรือแล้วแต่คนเลยครับ (แต่เรทในปัจจุบัน จะคิดจากฐานรายได้รวมต่อปีของลูกค้า หรือจากมูลค่าทรัพย์สินที่ลูกค้ามีอยู่ทั้งหมด ถ้ามีน้อย ก็จะคิดค่าบริการน้อยกว่าผู้ที่มีมากครับ แต่โดยทั่วไป ค่าบริการจะอยู่ในหลักหมื่นต้นๆถึงกลางๆครับ)

2) ค่าคอมมิชชั่นจากสินค้าทางการเงินที่แนะนำ

ซึ่งบอกเลยว่า มันคือจากสินค้า “ประกัน”และ “กองทุนรวม” เป็นหลักครับ (แต่อาจจะมีจากสินค้าทางการเงินอื่นๆอีก) ดังนั้น นักวางแผนทางการเงินส่วนใหญ่ จึงมักจะไปขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนขายประกัน และตัวแทนขายกองทุนรวม เพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการแนะนำประกันและกองทุนรวมครับ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ การเป็นตัวแทนประกัน จะต้องขึ้นกับบริษัทประกันที่ใดที่หนึ่ง ได้แค่ที่เดียว โดยจะได้ค่าคอมมิชชั่นประมาณ 20-40% ของเบี้ยประกันในปีแรก (ปีต่อๆไปก็ได้ลดลงเรื่อยๆ แล้วแต่แบบประกัน) ส่วนตัวแทนขายกองทุนรวม (หรืออาจจะรวมถึง การเป็นผู้แนะนำการเปิดพอร์ตหุ้นให้ลูกค้า (Introducing Broker Agent : IBA) ) จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือที่เราเรียกว่าโบรคเกอร์นั่นแหละครับ ซึ่งปัจจุบันแทบจะทุกบล.ก็สามารถแนะนำกองทุนรวมได้เกือบทุกที่แล้ว โดยจะได้ค่าคอมมิชชั่นประมาณ 0.25-0.40% ของเงินลงทุนในแต่ละปีครับ

***จุดนี้แหละครับคือจุดสำคัญที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าด้วยความที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของการทำงาน จะมาจากค่าคอมมิชชั่นของประกันชีวิต (รวมถึงโบนัส, คอมมิชชั่นปีต่อ และผลประโยชน์อื่นๆจากบริษัทประกันอีกมากมาย) และยังแนะนำประกันได้แค่ที่เดียว ทำให้อาจจะทำให้คนที่ทำงานเกิดความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของลูกค้าได้ (อยากแนะนำให้ซื้อประกันชีวิตเยอะๆจะได้ได้ค่าคอมเยอะๆ) รวมถึงอาจจะเกิดความโน้มเอียงในการแนะนำประกันที่เหมาะสม (บางทีประกันประเภทเดียวกันรู้ว่าของที่อื่นเหมาะสมกว่า แต่ก็แนะนำได้แต่เฉพาะของบริษัทตัวเอง) ก็เป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ตัวของ นักวางแผนทางการเงินเองจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำงาน ต้องมีหลักยึดว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก และต้องเปิดเผยถึงความขัดแย้งที่มีให้ลูกค้าทราบ (ส่วนตัวผม ไม่มีความขัดแย้งตรงนี้ เพราะผมไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนประกันของบริษัทไหน ทำให้ผมไม่มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นโดยตรงครับ) เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะตัดสินใจใช้บริการนักวางแผนทางการเงินคนไหน ก็ควรพิจารณาให้ดีๆครับว่าแผนการเงินที่เขาวางแผนให้เรามันตอบโจทย์ชีวิตเรา เพื่อผลประโยชน์ของเราจริงๆหรือเปล่า

ส่วนรายได้อื่นๆของอาชีพนักวางแผนทางการเงินก็มี

1) ส่วนแบ่งผลประโยชน์กับพันธมิตรจากการแนะนำลูกค้า

คือถ้าใครหาลูกค้าให้เรา หรือเราส่งลูกค้าไปให้ใคร ก็แบ่งรายได้กันครับ เช่น เราส่งลูกค้าที่ต้องการการลงทุน หรือการวางแผนภาษีที่เฉพาะเจาะจงจากมืออาชีพ เราก็แนะนำลูกค้าไปให้เขา แล้วเราก็ได้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเขาส่วนหนึ่งครับ

2) รายได้จากกิจกรรมส่วนตัวอื่นๆ

เช่น จากการเขียนหนังสือ, จากการจัดสัมมนา, จากการออกสื่อ, จากการไปเป็นวิทยากรบรรยาย ฯลฯ อันนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของตัวเองและช่องทางที่หาได้ครับ

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า รายได้ดีไหม? ผมก็คงตอบว่า “ก็แล้วแต่คน” เลยครับ เพราะแต่ละคนก็มีแนวทางที่ต่างกัน มีวิธีการสร้างโปรไฟล์ การทำการตลาด มีฐานตลาด และกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายหลักที่ต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคืออาชีพที่มีโอกาสได้รายได้