“เงินบาทไทยร้อนฉ่า ไทยเทศพ้องเสียงปล่อยค่าลอยตัว”

พาดหัวข่าวที่บ่งบอกถึงสภาะวะอันน่าอึดอัดของสภาพเศรษฐกิจไทยในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 13-15 มิถุนายน 2540 สิบเจ็ดวันก่อนที่นายทนง พิทยะ รมว.การคลัง จะประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฏาคม 2540

ถือเป็นจุดแตกสลายของฟองสบู่ต้มยำกุ้ง ระบบเศรษฐกิจไทยพังทลายลงนับแต่วันนั้น...

เรื่องราวของวิกฤตต้มยำกุ้งถูกฉายออกมาในหลายฉากหลากอารมณ์ ทั้งดราม่าเรียกน้ำตา ระทึกใจไปกับการตามล่าหาตัวคนผิด อาฆาตแค้นการโจมตีค่าเงินของบรรดาเฮดจ์ฟันด์ที่นำกลุ่มโดยพ่อมดการเงินนาม “จอร์จ โซรอส”

แต่หารู้ไม่ว่าฟองสบู่เศรษฐกิจไทยมันเริ่มก่อตัวมานาน และพร้อมจะแตกอยู่รอมร่อ


ย้อนความทั้งหมดไปในสมัยปีพ.ศ. 2528 สนธิสัญญาพลาซ่าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น (หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดฟองสบู่ญี่ปุ่น) บังคับให้ประเทศญี่ปุ่นต้องขึ้นค่าเงินเยน เพราะมีการส่งออกมากจนเอาเปรียบคู่ค้าทั่วโลก ทำให้ค่าเงินทั่วเอเชียแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ ท้ายที่สุดญี่ปุ่นถูกบีบให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ จึงต้องหาฐานการผลิตแห่งใหม่

ขณะเดียวกันประเทศไทยในยุคนั้นซึ่งนำโดยพลเอกเปรม มีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง การคลัง มีก๊าซธรรมชาติอีกมากมาย แถมค่าเงินบาทก็ไม่ได้รับผลกระทบจากภูมิภาคเพราะอัตราแลกเปลี่ยนยังคงตัวอยู่ และแผนการผลักดัน “โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB)” ก็มาเกิดในช่วงเวลานั้นพอดี พื้นที่ภาคตะวันออกจึงกลายเป็นศูนย์กลางในการย้ายฐานผลิตต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย นำทัพโดยญี่ปุ่น

ความพร้อมของประเทศไทยแม้จะมีไม่มาก แต่ก็ต้องผลักดันประเทศให้เติบโตด้วยโครงการนี้

หลังการเข้ามาของทุนต่างชาติ เศรษฐกิจไทยก็ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เมื่อนายทุนต้องการแรงงาน การจ้างงานในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น ปริมาณการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเงินในระบบมากขึ้น ราคาสินค้าและสินทรัพย์จึงเพิ่มขึ้น บรรยากาศของเศรษฐกิจไทยเริ่มมองเห็นความสดใส

แต่สิ่งที่ทำให้เงินทุนของต่างชาติยังเข้ามาได้ไม่เต็มที่คือเรื่องของ “เสรีทางการเงิน” ที่ยังไม่เอื้อหนุนให้การขนย้ายเงินเข้าออกจากประเทศเป็นไปได้อย่างสะดวก กฏเกณฑ์นี้ทำให้ต่างชาติรู้สึกไม่สะดวกใจเวลาเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

จนกระทั่งในปี 2532 แบงก์ชาติจึงมีนโยบายให้เปิดเสรีทางการเงินเป็นฉบับแรก เพราะรัฐบาลคิดว่าประเทศไทยพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศแล้ว สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติขนเงินเข้าออกประเทศได้อย่างเต็มที่

นี่คือจุดเริ่มต้นของการตั้งหม้อเตรียมทำต้มยำกุ้ง

เมื่อต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ทั้งการทำธุรกิจโดยตรง และลงทุนในประเทศไทยผ่านการซื้อหุ้น หรือพันธบัตร คนไทยก็ไม่น้อยหน้าเพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น จึงเก็งกำไรในที่ดินและหุ้นเพื่อดักรอต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ราคาของหุ้นและที่ดินจึงเพิ่มสูงขึ้น

วัตถุดิบของการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งถูกเตรียมขึ้นอย่างช้าๆ

มีหนึ่งจุดสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเป็นห่วงก็คือ การที่แบงก์ชาติไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวไปพร้อมๆกับการเปิดเสรีทางการเงิน ประเทศไทยยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงตัว (Fixed Foreign Exchange Rate) มาเรื่อยๆนับตั้งแต่เปิดเสรีทางการเงิน ทำให้บริษัทที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยมองเห็นโอกาสการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ

เนื่องจากในเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยไทยสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ “ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย” จึงเปรียบเหมือนขนมหวานที่ดึงดูดให้กลุ่มสถาบันการเงินและเงินทุนออกไปกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อนำเงินปล่อยกู้ในประเทศ เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าแบงก์ชาติปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว กลุ่มสถาบันการเงินจะระมัดระวังในการกู้เงินมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้นการจัดตั้ง กลต. ขึ้นมาในปี 2535 ยิ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั่วโลก เพราะประเทศไทยกำลังจะมีมาตรฐานสากลที่ช่วยควบคุมตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่อยู่ในตลาดให้มีความซื่อสัตย์กับนักลงทุนมากขึ้น เงินลงทุนจากทั่วโลกก็ยิ่งไหลเข้ามาในประเทศไทย

ความพร้อมในการทำต้มยำกุ้งหม้อเด็อดเกิดขึ้นเมื่อ เครื่องปรุงลับถูกหยิบออกมาใช้ในปี 2536 นั่นก็คือ “กิจการวิเทศธนกิจ (BIBF)” เพื่อสนับสนุนกระแสการเปิดเสรีการเงิน เป็นการลดค่าธรรมเนียมให้กับสถาบันการเงินทำให้การกู้เงินกับต่างประเทศมีสะดวกขึ้น เงินกู้(ระยะสั้น)จึงทะลักเข้าสู่ประเทศไทย ภาวะฟองสบู่จึงก่อตัวจากการเป็นหนี้ต่างชาติ

ต้มยำกุ้งน้ำเดือด ปรุงรส และพร้อมเสิร์ฟ

การกู้เงินเข้ามาทำให้สถาบันการเงินต่างๆต้องการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับความต้องการในการลงทุนของนักลงทุนไทยทำให้เงินกู้ถูกปล่อยได้อย่างง่ายดาย ยิ่งปล่อยได้เยอะยิ่งได้กำไรเยอะ ทำให้มาตรการและความระมัดระวังในการปล่อยกู้มีคุณภาพลดลง

เพราะการกู้ยืมโดยส่วนใหญ่จะใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในเวลานั้นราคาประเมินของอสังหาฯสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อหลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าสูง วงเงินกู้ก็สูงขึ้นตาม คนที่ได้วงเงินกู้ไปก็นำไปประกอบธุรกิจ(ที่ดูเหมือนจะเป็นการเก็งกำไรซะมากกว่า) แล้วนำอสังหาฯตัวใหม่มาค้ำประกันเรื่อยๆ

ทั้งที่มูลค่าที่แท้จิงของอสังหานั้นไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนประเมินไว้

ในส่วนของตลาดทุนนั้นความคาดหวังของนักลงทุนกับระบบเศรษฐกิจและบริษัทในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก หลังจากเปิดเสรีทางการเงิน ราคาหุ้นก็ขึ้น 60-70% ต่อปี มีหุ้นหลายตัวจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะประกอบธุรกิจมาได้ไม่นาน นักลงทุนไทยกลายเป็นเจ้าสัวหลายคนจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น

ราคาของอสังหาฯและสินทรัพย์มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ต้นเหตุของปัจจัยทั้งหมดเกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำธุรกิจอย่างไม่ระมัดระวังนั่นเอง แม้จะเป็นที่น่ากังวล แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาให้ความมั่นใจว่าไม่มีอะไรน่ากลัว จนกระทั่ง...

ฟองสบู่ต้มยำกุ้งแตก โซรอสอิ่ม และคนไทยกลายเป็นซากกุ้ง

หลายคนมองว่าจอร์จโซรอสโจมตีค่าเงินบาทนั้นเป็นการกระทำที่เหี้ยมโหด พาให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ในความเป็นจริงโซรอสไม่ใช่สาเหตุของเรื่องราวทั้งหมด เขาเพียงเห็นว่าฟองสบู่ในประเทศไทยนั้นใกล้แตกเต็มที่ สิ่งที่เขาทำคือเอาเข็มมาโจมตีฟองสบู่ให้แตกเร็วขึ้น และค่าเงินบาทต้องถูกปล่อยลอยตัวในวันที่ 2 กรกฏาคม 2540

โซรอสมองเห็นโอกาสอะไรในวิกฤตครั้งนี้? 

สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของต้มยำกุ้งหม้อเดือดจะเป็นอย่างไร?

ใครบ้างที่จะได้ชิมต้มยำกุ้งรสเผ็ดร้อนชามนี้?

ติดตามบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ”ภาคอวสานต้มยำกุ้ง” คลิกที่นี่

ปล. พิเศษยิ่งกว่า !!! 

ใครที่อ่านบทความจนถึงตรงนี้แสดงว่าชอบศึกษาประวัติศาสตร์ของวิกฤตต่างๆแน่เลยย 

นายปั้นเงินมีข่าวดีมาบอก เพียงแค่แอดเฟรนด์เป็นเพื่อนกันในไลน์ที่ http://bit.ly/artisanmoney

รอรับฟรี !!! E-BOOKS เรื่องราววิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเราจะรวบรวมบทความเกี่ยวกับวิกฤตที่ผ่านมา เรียบเรียงและเพิ่มรายละเอียดเข้าไป รวมถึงตอนพิเศษที่จะไม่เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางอื่นๆ 

แจกให้ในเดิอนสิงหาคมนี้นะครับ