สวัสดีครับทุกท่าน พี่ต้าร์กลับมาแล้วกับประเด็นที่อยากจะเขียนมานานแสนนานแต่ไม่ได้มีโอกาสซักที จนกระทั่งได้มีโอกาสในการทำ Live กับบุคลากรผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ในเครือ aomMONEY ได้แก่ น้องเบสเจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์ และ น้องปั้นเจ้าของเพจ นายปั้นเงิน-ปีศาจแห่งการลงทุน ในประเด็นที่หลายคนสงสั๊ยยย สงสัยว่า “ลงทุนแบบไหน VI เท่ๆหรือ DCA เกร๋ๆ” วันนี้ก็จะมาสรุปเรื่องราวที่ได้คุยกันในวันก่อนว่าแต่ละเส้นทางเป็นอย่างไร และทุกท่านก็ลองนำกลับไปประยุกต์ใช้ในแนวการลงทุนของตัวเองดูนะครับ

1. วิธีคิดในการลงทุนระหว่าง VI และ DCA

จริงๆแล้ววิธีคิดของทั้ง VI และ DCA นั้นในเบื้องต้นไม่ได้แตกต่างกันเลยนะครับ เราสามารถพิจารณาวิธีการเลือกหุ้นได้ทั้งในแบบ Top-Down (ภาพใหญ่ไปภาพเล็ก) ตั้งแต่การดูว่าเศรษฐกิจมันมีทิศทางเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมอะไรที่น่าสนใจ ไล่จนมาถึงว่าบริษัทไหนมีความน่าจะลงทุน หรือ หรือ Bottom-Up (ภาพเล็กไปภาพใหญ่) ไปหาดูว่าหุ้นตัวไหนที่สแกนดูแล้วเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี เติบโตและน่าสนใจ และไล่ขึ้นไปว่า เขาอยู่ในธุรกิจที่เป็นเทรนของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจหรือไม่ เมื่อดูประกอบกัน เปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่างๆที่เราสนใจแล้ว ท้ายสุดเราจะเจอ List หุ้นที่มีคุณภาพออกมา

2. VI ใช้การประเมินมูลค่า DCA ใช้วินัยในการลงทุน

วิธีคิดในการเข้าซื้อหุ้นในแบบฉบับของ VI และ DCA นั้นมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรนะครับ ในมุมมองของ VI นั้นจะต้องทำการประเมินมูลค่าของหุ้นก่อน ยกตัวอย่างวิธีที่มองง่ายที่สุดก็คือการเอาราคาเทียบกับกำไรที่จะได้รับว่ามันแพงกว่ากันกี่เท่า อารมณ์ประมาณว่าถ้าเราอยากจะซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวที่มันให้ผลตอบแทนเราปีละ 1 บาท หากเราซื้อกิจการนี้มา 5 บาท ก็ย่อมดีกว่า 10 บาท เพราะถ้ากิจการดำเนินต่อไปด้วยอัตรากำไรเท่าเดิม แน่นอนว่าคนที่ซื้อมาที่ 5 บาทย่อมคืนทุนได้เร็วกว่า 10 บาทอยู่แล้ว

การประเมินตรงนี้ด้วยอดีตก็จะวิเคราะห์ได้จากงบการเงิน แต่ถ้ามองไปในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใส่การคาดการต่างๆอย่างไร ตรงนี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง การตั้งสมมติฐานและตัวแปรต่างๆเข้าไปแล้วคำนวณออกมาว่าราคาที่น่าสนใจมันอยู่ที่ตรงไหน พอเจอราคาที่น่าพอใจก็ซื้อกัน อยู่ที่ว่าจะทุ่มซื้อไปเลยหรือแบ่งไม้ซื้อก็ได้ ยิ่งมีส่วนลดเยอะๆยิ่งดีเพราะมันคือความปลอดภัยของผู้ลงทุน

ในกรณีของ DCA นั้นจะมองส่วนในเนื้อหาของกิจการที่เติบโตเป็นหลัก ในมุมของราคานั้นเชื่อว่าเป็นภาพมารยา เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีราคาที่พอใจแต่ใช้วิธีซื้อเฉลี่ยไปเลย ด้วยเงินที่จำนวนเท่ากัน หุ้นขึ้นก็ซื้อน้อยลง หุ้นลงก็ซื้อมากขึ้น สุดท้ายด้วยความมีวินัยนี้จะได้ต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักซึ่งในระยะยาวถ้ากิจการไปข้างหน้า ไม่ว่า VI หรือ DCA ก็จะเกิดผลกำไรจากการลงทุนตามเป้าหมายได้

3. การวางแผนทางการเงินมีความสำคัญไม่ว่าจะ VI และ DCA

แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นนั้นอย่างแรกเลยก็คือเราจะต้องมีเงินเพื่อซื้อหุ้น การซื้อแบบ VI นั้นจะมีการจับจังหวะเรื่องเวลาที่จะซื้อเมื่อเราเห็นว่าราคานั้นเป็นที่น่าพอใจจากการประเมินมูลค่าของเราแล้ว การเก็บเงินสำรองจึงมีความสำคัญ หากมีเงินลงทุนมากก็ย่อมทำให้ลงทุนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากกว่าคนมีเงินน้อย เพราะสุดท้ายเราก็ไม่มีทางรู้ว่าจังหวะและโอกาสที่ดีจะมาเมื่อไหร่ มีเงินไว้จังหวะมาก็ซัดเลย

ในทางตรงข้าม DCA นั้นจะเน้นการซื้อตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่นการใช้เงินออมจากเงินเดือนมาซื้อรายเดือน ไม่มีเรื่องการจับจังหวะราคา สิ่งที่สำคัญของวิธีนี้จึงเป็นเรื่องของวินัยการเก็บออมและแบ่งมาลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางคนก็อาจจะใช้ทั้ง 2 วิธีในการลงทุนด้วยการแยกพอร์ตกัน พอร์ตหนึ่งก็ DCA ไปเรื่อยๆเพื่อสร้างสร้างความมั่งคั่งแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกพอร์ตก็คอยจับจังหวะในการลงทุนจากการประเมินมูลค่าของหุ้นที่เราสนใจได้เช่นกัน

4. ไม่ว่าอย่างไรการขายหุ้นต้องมีเหตุผลอยู่เสมอ

การขายหุ้นนั้นหลายๆคนที่เข้ามาอยู่ในตลาดอาจจะขายด้วยความอยากขาย เป็นการขายด้วยอารมณ์ อุ้ยตกใจจัง ขาย…. แต่ถ้าเป็นมุมมองของผู้ที่มีประสบการณ์ในแง่ของ VI หรือ DCA นั้นจะพิจารณาตามเหตุผลมากกว่า ซึ่งก็มีบางส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน

ในส่วนที่เหมือนกันระหว่าง VI และ DCA คือ ปัจจัยทางด้านธุรกิจ เช่น ธุรกิจมันไม่ดีแล้ว แข่งขันไม่ได้แล้ว ผู้บริหารมีการโกง รวมถึงเราต้องประเมินดูไปจนถึงภาพกว้างในเรื่องของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆทางการแข่งขันและเทคโนโลยี ถ้ามันไม่โอเคเราก็จะขายมันออกจากพอร์ตไป อีกเหตุผลหนึ่งก็คือบางครั้งเราอาจจะเจอหุ้นที่มีโอกาสที่มีศักยภาพที่จะเติบโตมากกว่าหุ้นที่เรากำลังลงทุนอยู่ก็สามารถขายตัวเก่าไปซื้อตัวใหม่ได้

ในเหตุผลที่ต่างกันมีอยู่บ้างแต่ก็อยู่ที่มุมมองและการตัดสินใจของแต่ละคน เช่น VI และ DCA อาจจะขายหรือไม่ขายก็ได้เมื่อเห็นว่าหุ้นมันราคาสูงเกินไปจนเป็นจังหวะที่จะขาย อันนี้แล้วแต่คนนะครับ บางคนมองว่าศักยภาพมันไปต่อได้ก็อาจจะไม่ได้ขาย แต่บางคนมองว่าขายไปก่อนเพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรเขาก็จะขายมันออกไป หรือบางคนก็อาจจะกำหนดเป็นกลยุทธ์เรื่องการสร้างสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนเลยก็มี

นี่ก็เป็นในเบื้องต้นของแนวทางการลงทุนของ VI และ DCA นะครับ สำหรับเพื่อนๆท่านใดที่สนใจในวิธีการแบบไหนก็ลองศึกษาตามความชอบของตัวเองดู สุดท้ายแล้ววิธีไหนก็ได้ไม่สำคัญหรอกขอให้เราใช้แล้วมันถูกชะตากับเราและสร้างกำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนให้เราได้ก็ยอดเยี่ยมแล้ว สำหรับเพื่อนๆที่อยากจะดูคลิปเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ใน aomMONEY Live ได้ที่ https://www.facebook.com/aommoneyth/videos/1075635172489622/ แล้วเราจะนำเรื่องราวดีๆมาฝากอีกนะครับ