สวัสดีครับ...ผมคลินิกกองทุนที่จะมาแชร์ความรู้ทางการเงินแบบง่ายๆ และอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ กันนะครับ ต้องขออภัยที่หายจากการเขียนไปนานเหลือเกิน เพราะภารกิจชีวิตและงานที่ทำอยู่รัดตัวมากๆ ครับ จนโดน บ.ก. aomMONEY ตามตัวมาหลายครั้ง

ครั้งนี้จึงไม่พลาดที่จะกลับมาเขียนอย่างตั้งใจ พร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่อง กองทุน LTF ที่มีข่าวว่าจะหายไปหรือไม่ ดังนั้น ครั้งนี้ผมจึงอยากจะมาตั้งสมมติฐานว่า ถ้าไม่มีการต่ออายุกองทุน LTF เราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง นี่จึงเป็นที่มาของ 8 ข้อควรรู้ถ้าไม่ต่ออายุ LTF ครับ

1. ถ้าไม่ต่ออายุมาตรการส่งเสริม LTF เงินที่ครบเงื่อนไข เราควรขายหรือย้ายกองออกไปดีไหม?

  • ถ้าหากนักลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ควรลงทุนต่อเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว ผมแนะนำให้ยังคงลงทุนในกอง LTF เดิมต่อไปครับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมซื้อขาย(สำหรับบางกองทุน) และ ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน  และการสับเปลี่ยนกองทุนบางครั้งอาจจะเสียโอกาสในการทำผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาสับเปลี่ยนกอง
  • ยกเว้นว่ามีกองอื่น ๆ ที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกว่า นักลงทุนเองก็สามารถสับเปลี่ยนออกไปได้ แต่ผมต้องบอกว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุน LTF ตลอดเวลา 10 ปี นั้นชี้ให้เห็นว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้นโดยเฉลี่ยให้ผลตอบแทนสูงพอสมควรเลยครับ ผมคิดว่าจึงควรลงทุนต่อเนื่องไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งในยะยาวยาว

2. เม็ดเงิน LTF ที่ถอนออกไป จะทำให้ตลาดหุ้นตกไหม?

จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ LTF คิดเป็นเพียงประมาณ 4 % ของมูลค่าตลาดหุ้นไทยเท่านั้น และหากผู้ลงทุนจะถอน LTF ออก ผมคิดว่าส่วนมากก็จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 5- 7 ปี ตามเงื่อนไขการถือครองที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีครับ เงิน LTF ที่ถอนออกไปจึงไม่น่าที่จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นตกได้

แต่ว่าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่บังเอิญมาก ๆ ทุกคนพร้อมใจกันขาย LTF จริง ๆ และทำให้ตลาดหุ้นโดยรวมตก แต่ทั้ง ๆ ที่บริษัทจดทะเบียนนั้นยังคงรักษากำไรของบริษัท หรือยังคงจ่ายปันผลได้อย่างที่คาดการณ์ ในกรณีที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง ผมเชื่อว่าก็จะมีนักลงทุนที่เห็นโอกาสเข้ามาซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวต่อเนื่อง (อย่างน้อย ๆ ก็ผมคนนึงแหละครับ) และจะทำให้ตลาดก็กลับมาอยู่ในสภาพสมดุล

3. กองทุนจะติดลบไหม ถ้าไม่มีเงินใหม่เข้ามาใน LTF?

ผมต้องบอกว่า กองทุนจะติดลบ หรือเป็นบวกนั้น ขึ้นกับ 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ

  1. แนวคิดการลงทุนของกองทุน หรือของผู้จัดการกองทุน ว่าเป็นวิธีที่สามารถทำให้ผลตอบแทนของกองทุนนั้นดี หรือไม่ดีครับ พูดง่าย ๆ คือ ผลตอบแทนจะขึ้นกับฝีมือของ บลจ. หรือของผู้จัดการกองทุนนั่นเองครับ
  2. สภาวะของตลาดหุ้นในช่วงนั้น ๆ ซึ่งหากตลาดหุ้นเป็นขาลง ไม่ว่าผู้จัดการกองทุนจะเก่งแค่ไหน ผมว่าก็คงเอาไม่อยู่ครับ เนื่องจาก LTF เป็นกองทุนหุ้นที่ต้องคงสัดส่วนหุ้นอยู่ที่ 65% ห้ามต่ำกว่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลง กองทุนก็มีโอกาสที่จะติดลบไปด้วยครับ ทั้งนี้จะลบมาหรือว่าน้อย ก็จะขึ้นกับฝีมือของ บลจ. นั้น ๆ แล้วว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหุ้นตัวไหนเพื่อให้ติดลบน้อยที่สุดครับ

4. มูลค่าสินทรัพย์ต่อหน่วยจะลดลงไหม?

ในกรณีที่มีแต่เงินออก แต่ไม่มีเงินใหม่เข้า LTF  ขนาดของกองทุน LTF ก็จะเล็กลงครับ แต่มูลค่าสินทรัพย์ต่อหน่วยหรือราคา NAV ต่อหน่วย จะไม่มีเกี่ยวกับขนาดกองทุน  ตัวราคาต่อหน่วยของกองทุนรวม LTF เองจะไม่เหมือนกับราคาของหุ้นนะครับ

ราคาหุ้นสามารถเพิ่มลดได้จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มลด (*Dilution effect) แต่ราคาต่อหน่วยจะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุนและ กลยุทธ์หรือแนวคิดการลงทุนของผู้จัดการกองทุนครับ

5. กองทุนรวม LTF ที่เคยตั้งไว้แล้ว จะต้องถูกปิดลงไหม?

กองทุนยังคงมีสถานะตามกฎหมาย แต่หากยกเลิกจริง ๆ ก็อาจถูกแปลงสภาพเป็นกองทุนเปิดซึ่งสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ แต่ผู้ลงทุนที่นำเงินใหม่เข้ามาลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครับ

แต่ในกรณีที่กองทุนมีขนาดเล็กลงมาก จนเข้าเกณฑ์ของทาง ก.ล.ต. หรือ บลจ. เห็นว่าค่าใช้จ่ายที่เก็บจากกองทุนอยู่ในระดับสูง ก็อาจเสนอให้ควบรวมกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกัน เพื่อให้มีการประหยัดค่าใช้จ่ายจากขนาดกองที่เล็กลง หรืออาจเสนอผู้ลงทุนที่ถือกองทุนจนครบเงื่อนไขระยะเวลาลงทุน ให้สับเปลี่ยนไปยังกองวิธีการลงทุนเดียวกันแต่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า

ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ ในข้อที่ 5 นี้ก็ต้องรอทาง รัฐบาล และสรรพกรประกาศอีกครั้งครับ

6. ถ้าไม่ต่ออายุมาตรการส่งเสริม LTF เราสามารถขายได้เลยตั้งแต่ปี 2564 โดยไม่ต้องรอครบการถือครองตามปีปฏิทินที่กฏหมายเคยกำหนดไว้ ใช่ไหม?

ผมคิดว่าเงินที่ได้ลงทุนไว้จะต้องถือให้ครบปีปฏิทินตามเงื่อนไขเดิมครับ คือ เงินลงทุนที่ลงทุนก่อนสิ้นปี 2558 จะต้องถือให้ครบ 5 ปีปฏิทิน โดยนับเงินตามปีปฏิทินที่ได้ลงทุนและบวกไปอีกสี่ปีปฏิทิน ส่วนใครที่ลงทุนต้นปี 2559 เป็นต้นมาจะต้องถือให้ครบ 7 ปีปฏิทิน โดยนับเงินตามปีปฏิทินที่ได้ลงทุนและบวกไปอีกหกปีปฏิทิน

ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ ในข้อที่ 6 นี้ก็ต้องรอทาง รัฐบาล และสรรพกรประกาศอีกครั้งครับ

7. ถ้าผู้ลงทุนที่อื่นที่ลงทุนมาครบ 5 หรือ 7 ปีปฏิทิน เริ่มทยอยขายหรือสับเปลี่ยนออกไป เราต้องถืออยู่เพราะยังไม่ครบเงื่อนไข เราจะได้รับผลกระทบราคาต่อหน่วยที่ถือหรือไม่  จะขาดทุนไหม เพราะไม่มีคนใหม่เข้ามาลงทุน?

ถ้าหากผู้ที่ลงทุนครบเงื่อนไขทยอยขายหรือสับเปลี่ยนออกไป และไม่มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามา  ขนาดของกองทุนจะเล็กลงครับ แต่ราคาต่อหน่วยไม่เกี่ยวข้องกับขนาดของกองทุนแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ที่ผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นหลักครับ

ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าหากกองทุนมีขนาดเล็กลง กองทุนเองก็มีโอกาสที่จะทำผลตอบแทนได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากกองทุนสามารถกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นเล็ก หรือ Small Cap ได้ ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กเองก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ครับ

ดังนั้น เราจึงควรติดตามและให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานของกองทุนเทียบเกณฑ์มาตรฐาน  มากกว่าเรื่องขนาดของกองทุนครับ

8. ถ้าเราถือครบเงื่อนไขของ LTF แล้ว  แต่เรายังขาดทุน  เราควรถือต่อหรือขายออกไป?

ก่อนอื่นนะครับ เราต้องดูก่อนว่ากองที่เราถือแล้วขาดทุนนั้นมีเงินปันผลหรือไม่ ถ้าเป็นกองทุนที่มีเงินปันผล เราได้นำเงินปันผลที่ได้รับมา บวกกลับเข้าไปเพื่อคิดผลตอบแทนแท้จริงแล้ว หรือยัง หากนำเงินปันผลเข้ามาคิดแล้ว ยังขาดทุน ถัดมาเราก็ต้องเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีชี้วัด หรือ Benchmark ว่าที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของกองว่าดีกว่า ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าดัชนีชี้วัดครับ

ในกรณีที่ผลการดำเนินงานดีกว่า หรือใกล้เคียง ผมคิดว่านักลงทุนเองก็สามารถที่จะลงทุนต่อไปได้ เนื่องจากกองทุนเองก็ได้ทำผลตอบแทนได้ดีแล้วครับ

นึกภาพสิครับ หากปีนั้นตลาดหุ้นลง -10% แต่กองทุนทำผลตอบแทน -5% นั้นก็หมายความว่ากองทุนทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีชี้วัดแล้วนะครับ แสดงว่ากองทุนที่เราถือทำผลงานได้ดีครับ ดังนั้นการถือต่อไป ก็มีโอกาสในปีที่หุ้นเป็นขาขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นเดียวกันครับ

แต่ถ้าหากผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีชี้วัด เราก็อาจจะเริ่มพิจารณาในการสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เอะอะผลตอบแทนติดลบนิดหน่อยแล้วก็ย้ายนะครับ

ผมคิดว่าควรให้โอกาสกองทุนเดิมของเราได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขกลยุทธ์การลงทุนบ้าง เช่นอาจจะจับตาดูผลตอบแทนสัก 6 เดือน - 1 ปี ก่อนค่อยทำการย้ายกองทุน เช่น ผลตอบแทนแย่มาแล้ว 6 เดือน ผมก็จะจับตามดูอีก 6 เดือน ว่าผลตอบแทนดีขึ้นหรือไม่อย่างไร สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้หรือไม่ในช่วงเวลาที่ผมให้โอกาสนั่นเองครับ

ทั้งหมดจึงเป็นความรู้และข้อเตือนใจหากสถานการณ์เกิดขึ้นอย่างที่ผมตั้งสมมติฐานเอาไว้ สำหรับครั้งหน้าผมจะมาเล่าถึงเรื่องอะไรยังไงฝากติดตามกันด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ลาไปก่อนสวัสดีครับ