ทุกวันนี้ หลายคนน่าจะเริ่มคุ้นหูกับ “ประกันชีวิตควบการลงทุน” หรือ “ยูนิตลิงค์” กันมาบ้างแล้ว (ใครยังไม่ค่อยเข้าใจยูนิตลิงค์ ขอแนะนำให้ไปศึกษาก่อนได้ที่บทความ [ซีรีย์] เจาะลึก ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน Unit-Linked (ตอนที่ 3) และ "ซื้อประกันชีวิตควบการลงทุน" หรือ "ซื้อประกันชีวิตแบบปกติกับกองทุนรวมแยกกัน" แบบไหนดีกว่ากัน?

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม ก็ได้พบเห็นว่า ผู้แนะนำยูนิตลิงค์หลายๆคน หรือสถาบันการเงินหลายๆแหล่ง ยังคงแนะนำยูนิตลิงค์ให้กับลูกค้า ด้วยการ “ชู” จุดขาย ในเรื่องของ “ผลตอบแทน” อยู่ ว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารการเงินการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ หรือสร้างความตระหนักว่า คนเราจำเป็นต้องนำเงินเก็บมาบริหารจัดการ ด้วยการนำเงินมาลงทุน เพื่อให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณ หรือเพื่อเป้าหมายการเงินอื่นๆ แล้วค่อยพูดถึงเรื่องของความคุ้มครองชีวิตที่ได้เหมือนเป็น “ของแถม” เท่านั้น (คำพูดที่มักจะได้ยินคือ “ได้นำเงินมาลงทุนให้งอกเงย แถมยังมีส่วนของประกันชีวิตมาคุ้มครองชีวิตด้วย)

ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว อาจจะฟังดูไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะก็พูดถึงทั้งเรื่องของ การลงทุน และความคุ้มครอง (แต่มันจะผิดแน่ๆ ถ้าทำให้เข้าใจผิดว่า ยูนิตลิงค์คือเครื่องมือลงทุนอย่างเดียว) แต่การนำเสนอ ที่เอาเรื่องของ “ผลตอบแทน” หรือ “ความสำคัญของการลงทุน” ขึ้นมาเน้นย้ำก่อน แล้วค่อยพูดถึงเรื่องของความคุ้มครอง เป็นส่วนประกอบตามมา มันต่างจากการที่นำเสนอยูนิตลิงค์ว่า “เป็นประกันชีวิต” ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความคุ้มครองชีวิตมาเป็นอันดับแรก แล้วค่อยดูเรื่องผลตอบแทนที่ได้ตามมา (หรืออย่างน้อย ก็ต้องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน) อยู่มากโข ซึ่งมีส่วนให้ ผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในยูนิตลิงค์ หรือไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการเงินอย่างถูกต้องมาก่อนจริงๆ อาจจะ “คล้อยตาม” เห็นว่ายูนิตลิงค์เป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุน มาก่อนที่จะเข้าใจจริงๆว่า ยูนิตลิงค์เป็น “ประกันชีวิต” ที่เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารความเสี่ยงเป็นหลักได้

ทำไมเราจึงไม่ควรใช้ ยูนิตลิงค์ เพื่อเป้าหมายการลงทุน หรือโฟกัสไปที่เรื่องขอผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นหลักอย่างเดียว? โดยที่ไม่มีความจำเป็นเรื่องความคุ้มครองชีวิต หรือมองความคุ้มครองชีวิตเป็นแค่ของแถม ผมจะขอยกตัวอย่าง และชี้ให้เห็นผลกระทบที่ตามมา ดังนี้ครับ

สมมติว่า มีลูกค้าคนหนึ่ง เป็นเพศชาย อายุ 30 ปี สนใจที่จะซื้อยูนิตลิงค์โดยมีเป้าหมายเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก วางแผนจะซื้อยูนิตลิงค์แบบ RP (Regular Premium) โดยจะจ่ายเฉพาะเบี้ยประกันภัยหลักปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 7 ปี (หากจ่ายต่ำกว่านี้อาจจะเหลือมูลค่าเงินลงทุนไม่เพียงพอให้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันในระยะยาว) จัดพอร์ตการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนประมาณ 8% ต่อปี และเลือกความคุ้มครองที่ทุนประกันขั้นต่ำสุดตามเงื่อนไข (ในที่นี้สมมติให้ขั้นต่ำคือ 10 เท่าของเบี้ยประกันภัยหลัก) คือ 1,000,000 บาท โดยมีเป้าหมายคือ ตั้งใจจะทิ้งเงินไว้ยาวๆ เพื่อให้เงินเติบโตไว้ใช้ยามเกษียณ

โดยที่ สมมติให้โครงสร้างค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และโบนัส ของแบบประกันยูนิตลิงค์ตัวนี้ เป็นไปตามนี้

1) ค่าดำเนินการประกันภัย (% ของเบี้ยหลัก) = ปีที่ 1 40% / ปีที่ 2 30% / ปีที่ 3 15% / หลักจากนั้น ไม่คิด

2) ค่าการประกันภัย (COI) =  [(ทุนประกัน x อัตราค่าประกันภัย)/1,000]/12 ต่อเดือน

3) ค่าธรรมเนียมการรักษากรมธรรม์ = 55 บาท ต่อเดือน

4) ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ = เบี้ยประกันหลังหักค่าดำเนินการประกันภัย x 0.125% ต่อเดือน

5) โบนัสชำระเบี้ยประกันหลัก = ชำระเบี้ยครบ 7 ปี จะมีโบนัสให้ 20% ของเบี้ยประกันหลัก

จากข้อมูลดังกล่าว หากลองนำมาประเมินมูลค่าเงินลงทุนในอนาคตเมื่อผ่านไป 7 ปี จะสามารถประเมินได้ ดังนี้

สรุปได้ว่า 7 ปีที่ผ่านมา เขาได้จ่ายค่าเบี้ยไป 100,000 x 7 = 700,000 บาท และหากถอนเงินจากกรมธรรม์ทั้งหมดเมื่อสิ้นปีที่ 7 เขาจะได้เงินประมาณ 792,489 บาท หรือกำไรประมาณ 92,489 บาท ซึ่งสามารถนำมาคิดหาอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น หรือ IRR ได้ จากการคำนวณในเครื่องคิดเลขทางการเงิน ดังนี้

นั่นเท่ากับว่า เขาจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 8%ต่อปี และเผชิญความเสี่ยงในระดับนั้น โดยที่ในความเป็นจริง เขาจะเหลือผลตอบแทนอยู่แค่ประมาณ 4.11% ต่อปี (ดูที่ช่อง Rate หรืออัตราผลตอบแทน)

ซึ่งหากเขานำจำนวนเงินที่เท่ากัน (ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 7 ปี) ไปจัดพอร์ตการลงทุนเอง ผ่านกองทุนรวมแบบเดียวกันกับในยูนิตลิงค์แบบไม่มีผิดเพี้ยน และคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 8% เท่ากัน ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือ

เขาจะสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ประมาณ 892,280 บาท ซึ่งต่างจากการไปลงทุนในยูนิตลิงค์ อยู่ 892,280 - 792,489 = 99,791 บาท หรือเกือบ 1 แสนบาท

หรือถ้าใครคิดว่า มันอาจจะยังต่างกันไม่มากพอ ผมอยากจะให้ดูผลของความแตกต่างในระยะยาวเอาไว้ ตามกราฟนี้

จากกราฟจะเห็นได้ว่า ถ้าลงทุนด้วยต้นทุนที่เท่ากัน คือปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 7 ปี ยิ่งอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้ต่างกันเท่ามากไหร่ และยิ่งระยะเวลาการลงทุน ยาวนานมากขึ้นเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่ได้ก็จะยิ่งต่างกันมากขึ้นเท่านั้น จากกราฟ ถ้าผลตอบแทนต่างกันประมาณ 2% ต่อปี หากผ่านไป 30 ปี ผลตอบแทนที่ได้จะต่างกันถึง 1.2-1.8 ล้านบาท ยิ่งถ้าผลตอบแทนต่างกันประมาณ 4% ต่อปี อาจจะต่างกันได้ถึงประมาณ 3 ล้านบาท (จากต้นทุนที่เท่ากัน)

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านยูนิตลิงค์ กับการลงทุนผ่านกองทุนรวมด้วยตัวเอง นั้นแตกต่างกัน ก็ไม่ได้มาจากสิ่งไหน แต่มาจาก “ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆรวมถึงเงินโบนัส” ของยูนิตลิงค์ ทั้ง 5 ตัวนั่นแหละครับ

นั่นก็เท่ากับว่า หากวางแผนตามพอร์ตการลงทุนเดียวกัน คาดหวังผลตอบแทนที่เท่ากัน ต้องเผชิญความเสี่ยงในระดับที่เท่ากัน โดยใช้กองทุนกองเดียวกันแล้ว การลงทุนผ่านยูนิตลิงค์นั้น จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่า การไปจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวมด้วยตัวเอง อย่างแน่นอน

แล้วมีข้อดีอะไรบ้างไหม ที่ลงทุนผ่านยูนิตลิงค์ จะดีกว่า ไปจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมด้วยตัวเอง?

ก็ต้องตอบว่า “มี” ครับ เพราะยูนิตลิงค์ จะมีระบบบริหารความเสี่ยงการลงทุน มาช่วยผู้ถือกรมธรรม์อยู่ 2 ระบบหลักๆ คือ “การทำ DCA” กับ “การทำ Auto-Rebalancing” ให้อัตโนมัติ (รายละเอียดของทั้ง 2 ระบบ สามารถอ่านได้จากบทความที่แนะนำข้างต้นเลยครับ) ซึ่งก็สามารถช่วยให้เราบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง นั่นก็แปลว่า ถ้าเราไม่ลงทุนผ่านยูนิตลิงค์ แต่เราจะบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีแบบนี้ เราก็ต้องทำ DCA และ Auto-Rebalancing ด้วยตัวเอง

โดย DCA เราก็อาจจะทำเองได้ ด้วยการกรอกเอกสารกับบล. หรือบลจ. ที่เราไปลงทุนในกองทุนนั้น ขอให้หักเงินจากบัญชีเงินฝาก ที่เราผูกไว้กับบัญชีกองทุนรวม ให้ไปลงทุนในกองทุนที่เราต้องการ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม มันก็ไม่ได้ถึงกับยุ่งยากอะไร ยอมเสียเวลาเล็กน้อย ทำครั้งเดียวตอนแรก จากนั้นก็หมดธุระแล้วครับ

ส่วน Auto-Rebalancing อาจจะยุ่งยากกว่าเล็กน้อย เพราะเราต้องกลับมารีวิว และคำนวณเอง ว่าตอนนี้ สัดส่วนของเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ หรือแต่ละกองทุน เปลี่ยนไปจากที่เรากำหนดไว้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ต้องสั่งขายกองทุนที่สัดส่วนเพิ่มขึ้น มาซื้อกองทุนที่สัดส่วนลดต่ำลงด้วยตัวเอง ในความเห็นของผม แม้ Auto-Rebalancing อาจจะฟังดูยุ่งยาก แต่ผมก็เชื่อว่า มันไม่ได้ยากเกินกว่าจะเข้าใจ และไม่ได้ต้องคอยมาทำกันบ่อยๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็อาจจะเพียงพอ เพราะในช่วงเวลา 1 ปี โดยเฉลี่ยสัดส่วนของสินทรัพย์มันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจนมีนัยสำคัญเท่าไหร่นักอยู่แล้ว

ผมพูดแบบนี้ไป อาจจะมีใครกำลังคิดว่า ผมต่อต้าน หรือ ไม่ชอบยูนิตลิงค์ อยู่รึเปล่า ซึ่งผมก็ต้องขอให้ทำความเข้าใจกันก่อนให้ดีๆว่า ผมไม่ได้ไม่ชอบยูนิตลิงค์ครับ เพียงแต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นัก ถ้าจะซื้อยูนิตลิงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว เหตุผลก็เพราะ จากข้อมูลทั้งหมดที่ผมยกมา ถ้าเราไม่มีความจำเป็น หรือไม่ต้องการความคุ้มครองชีวิตเลย (หรือไม่ได้ต้องการมากนัก) เท่ากับว่า การลงทุนผ่านยูนิตลิงค์ จะทำให้เราต้องสูญเสียต้นทุนต่างๆที่ไม่จำเป็นกับเราไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (และต่างกันมหาศาลในระยะยาว) แลกกับระบบบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ที่ดูแล้วไม่ค่อยคุ้มค่ากับต้นทุนทั้งหมดที่เสียไปเท่าไหร่นัก (แต่ถ้าหากใครดูตัวเลขแล้ว คิดว่ายังคุ้มกว่าไปทำเอง อันนั้นก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะครับ เพราะนี่คือความคิดเห็นของผมเองคนเดียวล้วนๆ) (อันนี้พูดถึงเฉพาะกรณีที่เน้นไปที่การลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ)

ในทางกลับกัน ถ้าใครที่มีความจำเป็นในการสร้างความคุ้มครองให้ชีวิต เนื่องจากมีภาระการเงินอยู่มาก ต้องการความคุ้มครองสูงๆ และแบบประกันชีวิตแบบทั่วไป ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ (ระยะเวลาจ่ายเบี้ย / ระยะเวลาคุ้มครองชีวิต ไม่สอดคล้อง กับแผนความคุ้มครองของตัวเอง) โดยที่เข้าใจ และรับความผันผวนจากการลงทุนได้ ผมจะแนะนำให้ทำยูนิตลิงค์ให้อย่างไม่ลังเลเลยทีเดียว หากพิจารณาแล้วว่า ยูนิตลิงค์แบบนี้สามารถทำทุนประกันวงเงินสูงได้ และมีความยืดหยุ่น สามารถขอปรับลดทุนประกันลงได้ตามภาระการเงินที่ลดลง ตามโจทย์นี้ ยูนิตลิงค์ จะกลายเป็นสินค้าทางการเงินที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความจำเป็นทางการเงินแบบนี้มากที่สุดครับ

อย่าลืมนะครับว่า ยังไงเสีย ยูนิตลิงค์ ก็คือ “ประกันชีวิต” ดังนั้น ความจำเป็นเรื่องความคุ้มครองชีวิต ควรมาก่อนเรื่องของผลตอบแทน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องผลตอบแทนที่จะได้ เป็นเรื่องรอง หากเราจะพุ่งเป้าไปที่การลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ในตลาดก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เหมาะสมกับโจทย์การเงินแบบนี้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุนรวมต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจใช้เครื่องมืออะไร ขอให้แน่ใจว่า เราเข้าใจ “หัวใจ” ของเครื่องมือนั้นจริงๆ และใช้เครื่องมือนั้นได้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า ให้สอดคล้องกับโจทย์การเงินในเรื่องนั้นๆที่สุด เอาไว้ด้วยนะครับ