ถ้าให้ผมพูดถึงสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทำไว้ให้กับประเทศไทยให้ครบทุกอย่าง จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน? ผมไม่สามารถตอบได้

เพราะนอกจากพระราชกรณียกิจที่ท่านช่วยพัฒนาประเทศไทย ยังมีพระราชดำริต่างๆมากมายที่เป็นแนวทางให้คนไทยได้เดินตามรอยที่ท่านสร้างไว้ให้

และหนึ่งในพระราชดำริที่ผมเชื่อว่า คนไทยทุกคนต้องจำคำสอนนี้ได้อย่างขึ้นใจ นั่นคือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ให้แนวคิดหลัก เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนไทยในทุกๆส่วน ตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้าไปจนถึงผู้มีอันจะกิน ไม่ว่าจะเป็นใคร มีเงินทองมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถน้อมนำแนวความคิดนี้มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานได้

ที่ผ่านมาผมนั่งอ่านและทำความเข้าใจเรื่องนี้ จากบทความต่างๆที่มี และได้พบกับแนวคิดหนึ่งใน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งตรงกับเรื่องแนวทางการบริหารเงินลงทุนที่ผมชื่นชอบอย่าง Asset Allocation มากๆ นั่นคือ “แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่” !!!

ที่สำคัญคือท่านเกิดแนวความคิดนี้ และทดลองใช้ก่อนที่ผมจะเกิดซะอีก !!!

แม้ว่าโดยหลักการแล้วแนวคิดนี้จะเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร และถูกสร้างมาเพื่อเกษตรกรเป็นหลัก แต่ถ้าเรามองที่ภาพรวมดีๆแล้ว ผมว่าแนวทางทฤษฎีใหม่ใหม่นี้ สามารถนำมาต่อยอดกับเรื่องการเงินและการลงทุนของเราได้ดีเลยนะ

งั้นเรามาดูแนวความคิดของพ่อหลวงของพวกเรากันก่อนว่า“แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่” !!! คืออะไร ??

เริ่มต้นจากเกษตรกรขาดแคลนที่ดินทำกิน..

ปัญหาสำคัญของเกษตรกรที่เพาะปลูก ทำไร่ ทำนาในสมัยนั้นคือ การขาดแคลนที่ดินทำกิน เพราะไม่มีการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ หรือช่วงที่ผลผลิตยังไม่ออกผล เกษตรกรจึงมีความเสี่ยงสูง ที่ผลผลิตจะอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด

แต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพของในหลวงรัชาลที่ 9 จึงได้พระราชทาน "การเกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา โดยให้ดำเนินการในพื้นที่นที่มีขนาดเล็ก ประมาณ ๑๕ ไร่ และใช้วิธีจัดการทรัพยากรภายในไร่นาให้เกิดประโยชน์ โดยมีการขุดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตร “แบบผสมผสาน” อย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้และผลผลิตสำหรับการบริโภคตลอดทั้งปี

(ที่มา: กรมวิชาการ, 2539: 77)

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"…เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…"

(สำนักพระราชวัง, 2542: 31)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานาน ทรงเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์เองขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตร.วา ที่บริเวณวัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่นๆ ต่อไป

ทฤษฎีใหม่มีแนวความคิดอย่างไรบ้าง ?

พระราชดำริทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการจัดสรรทรัพยากรภายในไร่นา ประกอบด้วยที่ดินและน้ำ เพื่อการกินอยู่ และทำการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้

ขั้นที่ ๑ ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น

โดยพื้นฐานของเกษตรกรส่วนมาก คือ ค่อนข้างยากจน มีพื้นที่น้อย อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิต เสถียรภาพของการผลิต ความมั่นคงของรายได้ และเป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น

มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน

ซึ่งส่วนแรกนั้น ให้ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 30% เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย)

ส่วนที่สอง ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน จำนวน 30% ของพื้นที่ เพราะครอบครัวต้องกินต้องใช้ สำหรับเป็นแหล่งอาหารหลัก เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและพึ่งพาตนเองได้

ส่วนที่สาม ให้ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น 30% เก็บดอกผลไว้กินไว้ขาย เสริมสร้างรายได้ส่วนหนึ่งอีกทาง เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ

และพื้นที่ส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 10% ของพื้นที่ เช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง

จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่งได้ตามสะดวก ขึ้นอยู่กับความต้องการและความถนัดของผู้ที่ทำกินในพื้นที่นั้นๆ

เมื่อเกษตรกรเข้าใจหลักการ ก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ

(มูลนิธิชัยพัฒนา, 2542)

ขั้นที่ ๒ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง

เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว ก็เริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา และสังคมศาสนา

ขั้นที่ ๓ ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า

เมื่อเกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้นก้าวข้ามสองขั้นตอนที่ผ่านมา ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนา ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต

การปรับใช้ทฤษฎีใหม่กับการลงทุนด้วยกลยุทธ์สมัยใหม่ Asset Allocation

เมื่อเพื่อนๆทำความเข้าใจในแนวคิดการเกษตรทฤษฎีใหม่กันเรียบร้อย จะเห็นได้เลยครับว่า พระราชดำริเรื่องนี้ก็คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบ Asset Allocation ในปัจจุบันนี่แหละ เพียงแต่ทรงนำมาปรับใช้กับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการเกษตร