หลายคน พอพูดถึงคำว่า “วางแผนทางการเงิน” ก็มักจะนึกว่าเป็นเรื่องของการ “วางแผนการลงทุน” ว่า

จะเลือกซื้อหุ้น/กองทุนอะไรดี? 

จะซื้อจะขายเมื่อไหร่ดี? 

หรือจะต้องถือไว้นานเท่าไหร่? 

ต้องลงทุนเท่าไหร่? ถึงจะได้กำไรเยอะๆ

ดังนั้นก็คงจะสงสัยว่า แล้วเรื่องการลงทุนเหล่านี้จะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการทำประกันได้ยังไง?

แน่นอนครับว่า การวางแผนการลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงินแหงๆอยู่แล้ว (ก็มันต้องคิดว่าเอาเงินเราไปลงทุนยังไงเท่าไหร่ดี) แต่อันที่จริง เรื่องการลงทุนนั้นมันเป็นแค่ส่วนเดียวของการวางแผนทางการเงินเท่านั้น เพราะขึ้นชื่อว่า “เงิน” แล้ว มันไม่ได้มีแค่การลงทุนอย่างเดียวใช่ไหมล่ะครับ? ไหนจะเรื่องของรายได้ เรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องของภาษี เรื่องของบัญชี เรื่องของการจัดทำพินัยกรรม มรดก และแน่นอน เรื่องของการทำประกันด้วยเช่นกัน เพราะมันกระทบกับเงินของเรายามเราเกิดเหตุไม่คาดฝันในชีวิตนั่นเอง

ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งขณะที่เรากำลังลงทุน พอร์ตกำลังโตอยู่ดีๆ เราเกิดประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บหนัก หรือป่วยเป็นโรคร้ายแรง ต้องผ่าตัด ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่แพงมากๆอย่างต่อเนื่อง มันจะเป็นยังไง? ถ้าเราเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูคนในครอบครัว แต่วันหนึ่งเราเกิดโชคร้าย ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนเป็นคนทุพพลภาพหรือเสียชีวิต แล้วคนที่เรารับผิดชอบเลี้ยงดูอยู่ล่ะ จะใช้ชีวิตกันต่อไปยังไง? ถ้าทรัพย์สินที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอกับค่ารักษาหรือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูจนกว่าคนที่อยู่ข้างหลังจะตั้งตัวเลี้ยงดูตัวเองกันได้

หากเรามีทรัพย์สินไม่มากพอ ชีวิตเราก็ย่อมจะมีความเสี่ยงที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันจะส่งผลกระทบถึงความมั่งคั่งของเราได้เสมอ (เพราะคงไม่มีใครที่คิดว่า ทั้งชีวิตตัวเองจะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพร่างกายหรือชีวิตเลยอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ?)

นั่นทำให้เรื่องของการทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันทรัพย์สิน ถูกจัดให้อยู่ในเรื่องของ “Wealth Protection” หรือ “การปกป้องความมั่งคั่ง” ตามหลักการวางแผนทางการเงินที่เป็นมาตรฐานกันทั่วโลก

เรื่องของการวางแผนทางการเงิน จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการลงทุน แต่เป็นเรื่องของการมองภาพรวมทางการเงินของเราในมุมกว้าง ทั้งเรื่องของการบริหารรายรับ-รายจ่าย การจัดการหนี้สิน เมื่อบริหารแล้วมีเงินเหลือก็ต้องปกป้องคุ้มครองความเสี่ยงที่จะกระทบกับเงินเก็บที่หามาได้ เมื่อมีการคุ้มครองแล้วก็ต่อยอดขนาดของทรัพย์สินของเราด้วยการวางแผนการลงทุน รวมถึงวางแผนภาษีเพื่อดึงเงินกลับคืนมาอย่างถูกต้อง 

สุดท้ายเมื่อเราสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตได้จนถึงอายุที่เหมาะสมแล้ว ก็วางแผนส่งมอบทรัพย์สินที่มีให้แก่ลูกหลานต่อไป ซึ่งการเงินในแต่ละส่วนนั้น ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก เช่น ถ้าบริหารรายรับรายจ่ายได้ไม่ดี ก็คงไม่มีเงินเพียงพอจะมาลงทุนหรือทำประกัน หรือถ้าทำประกันมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารรายจ่าย และไม่เหลือเงินเพียงพอมาลงทุน หรือถ้ามีเงินแล้วเอาแต่ไปลงทุน ไม่มีการปกป้องความเสี่ยง พอเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาอาจจะทำให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น รายได้หดหาย จนกระทบกับกระแสเงินสดและทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ได้ การวางแผนทางการเงินจึงต้องพิจารณาการเงินของเราหลายๆด้านไปพร้อมๆกันด้วย

ผมจึงบอกได้เลยว่า ถ้ามีการวางแผนทางการเงินแล้วพบว่า ทรัพย์สินที่อยู่มีไม่เพียงพอต่อการรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง ยังไงก็ต้องมีการวางแผนทำประกันเพื่อให้บริษัทประกันมารับความเสี่ยงให้แทน ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องของการวางแผนทางการเงินกันแล้ว ก็คงเข้าใจกันแล้วว่า ต้องมีเรื่องของการวางแผนทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอนครับ :)