ช่วงนี้คำถามเกี่ยวกับกองทุน HealthCare มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนคิดว่าจะซื้อดีไหม จริง ๆ แล้ว นี่ก็เข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ารักษาพยาบาลเองก็แพงขึ้น หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเองก็ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นกองทุนกลุ่ม HealthCare เองก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย แต่ก่อนจะไปดูว่ากองทุนไหนน่าสนใจ และดีหรือไม่ดีกันแน่ เรามารู้จักธุรกิจในกลุ่มนี้กันก่อนนะครับ

กลุ่ม HealthCare นั้นประกอบด้วยอะไรกันบ้าง หลายท่านคงคิดว่า โรงพยาบาลไง ผมบอกเลยนะครับ ว่าคิดผิดเสียแล้ว เพราะว่าโรงพยาบาลนั้นเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น ซึ่งหลัก ๆ แล้วประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่มมาก ๆ ครับ ดังต่อไปนี้ครับ

  • Biotechnology
  • Diagnostic Substances
  • Drugs - Generic
  • Home Health Care
  • Long-Term Care Facilities
  • Medical Practitioners
  • Health Care Plans
  • Drug Manufacturers - Major
  • Specialized Health Services
  • Drug Manufacturers - Other
  • Medical Instruments & Supplies
  • Hospitals
  • Medical Laboratories & Research
  • Medical Appliances & Equipment
  • Drug Related Products
  • Drug Delivery

เป็นไงครับ เยอะจนมึน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าความหลากหลายของบริษัทที่มีอยู่ตลาดหุ้นทั่วโลกนั่นเอง และกลุ่ม HealthCare เหล่านี้นับวันแล้วยิ่งเติบโต และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าถ้าเครื่องมือไหน หรือยาตัวไหนที่ประสิทธิภาพละก็ เราคงต้องจ่ายค่ารักษา ยา อุปกรณ์ และอื่น ๆ อีกจิปาถะที่แพงขึ้น รวมถึงเราคงไม่มีโอกาสต่อรองราคากับธุรกิจยา โรงพยาบาลแน่ ๆโดยในกลุ่ม Biotech และ กลุ่มยา รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ จะเป็นกลุ่มหลักครับที่มีมูลค่าทางตลาดสูงที่สุด

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแล้วการลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ จึงน่าสนใจลงทุนในระยะยาว เพราะว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเข้ามานั้น น่าจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่น่าสงสัยเลยครับ ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันครับ ว่ามีกองทุนกลุ่ม HealthCare ตัวไหนบ้างที่น่าสนใจ และมีความแตกต่างกันอย่างไรครับ

1. BCARE ของ บลจ. บัวหลวง

เป็นกองทุนด้าน Healthcare กองทุนแรกแห่งสยามประเทศครับ และเป็นกองทุนที่ประสบความสำเร็จในแง่ของผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว ซึ่งกองทุนนี้ ได้ไปลงทุนกับกองทุน Master Fund อย่าง Wellington Management Portfolios (Dublin) Plc.Global Health Care Equity Portfolio  โดยกองทุนนี้การลงทุนในอุตสาหกรรม Global Health Care ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต  เป็นหลัก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เป็น Biotechnology ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับกองทุนอื่น ๆ ครับ โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปีนั้นอยู่ที่ปีละประมาณ 20 % เลยทีเดียว แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่ม BioTech เองก็มีข้อเสียเหมือนกันครับ เนื่องจากว่าบริษัทที่คิดค้น และวิจัยนั้น ในช่วงแรก ๆ อาจจะต้องใช้เงินค่อนข้างมาก แล้วถ้าไม่สามารถนำเอายามาใช้ได้จริง อาจจะทำให้บริษัทขาดทุนก็เป็นไปได้นะครับ แต่ข้อดีคือ ถ้าพบยาใหม่ ๆ หรือ วัคซีนใหม่ ๆ ละก็บริษัทเหล่านี้ก็จะมีการจดสิทธฺบัตรไว้ ทำให้บริษัทคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ครับ ยิ่งนำไปใช้ได้จริง ก็ยิ่งเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทที่ทำได้ (ยิ่งกว่าถูกหวยอีก)

2. UGH ของ บลจ. UOB

กองทุนนี้เป็นกองทุนลูกพี่ลูกน้องของทาง BCARE ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะว่า ถึงแม้กองทุนนี้จะลงทุนในกองทุน United Global Healthcare Fund ก็ตาม แต่กองทุนนี้ก็ถูกบริหารงานโดย Wellington Management  เหมือนกับกับกองทุน BCARE นั่นเอง ดังนั้น พอร์ตการลงทุนก็จะคล้าย ๆ กัน อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ

3. KF-HEALTHD และ KFHCARERMF ของบลจ. กรุงศรีฯ

กองทุนนี้ เป็นกองทุนที่ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากพอร์ตการลงทุนนั้นจะต่างจากกองทุน BCARE อย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ก็เพราะว่า Master Fund ของกองทุนนี้คือ JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund ที่จะเน้นการลงทุนในหุ้นบริษัทยาเป็นหลักและเลือกหุ้นจากพื้นฐานที่ดี และสัดส่วนรองลงมาก็คือกลุ่มธุรกิจ Biotech ที่เน้นการเติบโต ซึ่งผมเองก็ค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับบริษัทที่อยู่ในกองทุนนี้มากกว่า เพราะเป็นบริษัทยาที่อยู่มาค่อนข้างนาน และมีพื้นฐานทางการเงินที่ดี และข้อได้เปรียบของการเลือกบริษัทใหญ่ ๆ ที่พื้นฐานทางการเงินดีก็คือ บริษัทสามารถอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือ ทนต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้นานครับ และพร้อมที่จะกว้านซื้อบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำงานวิจัยดี ๆ หรือ บริษัทที่คิดค้นยาตัวใหม่ได้ (โอ้ว !)

4. K-GHEALTH ของ บลจ. กสิกร

เป็นกองทุนฝาแฝดของ KF-HEALTHD จากกรุงศรีฯครับเพราะว่าไปลงทุนในกองทุน Master Fund กองทุนเดียวกัน แต่จะต่างกันในเรื่องของค่าธรรมเนียมเล็กน้อย และเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินครับ

5. MS-Hcare-A และ MS-Hcare-D ของ บลจ. Manulife

เป็นกองทุนที่ทาง บลจ.ของ Manulife เป็นคนบริหารเองครับ เนื่องจากเป็น บลจ. ที่มีสาขอยู่หลายแห่งมีผู้เชี่ยวชาญอยู่มากมาย และแน่นอนว่าก็สามารถลงทุนได้ด้วยตนเองได้ไม่ต้องไปพึ่งการลงทุนใน Master Fund ตัวอื่น ๆ จึงเป็นกองทุนที่น่าสนใจ และเป็นกองทุนที่เลือกหุ้นในกลุ่ม HealthCare แบบ Bottom-up หรือ หุ้นที่พื้นฐานดีเช่นเดียวกันกับ JP-Morgan เลยครับ ดังนั้นสัดส่วนการลงทุนใน หุ้นกลุ่มบริษัทยาต่าง ๆ จึงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงทีเดียวครับ จากนั้นจึงเป็นหุ้นกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพย์ และที่น่าประหลาดใจก็คือ สัดส่วนหุ้นในกลุ่ม BioTech นั้นกลับน้อยที่สุดในกองทุน HealthCare ด้วยกัน หรือผู้จัดการกองทุนนี้จะเห็นอะไรที่เราไม่เห็นก็เป็นไปได้ครับ จึงเป็นกองทุนนึงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

6. PHATRA GHC ของ บลจ.ภัทร

เป็นกองทุนเก่าแก่อันดับที่ 2 รองจาก BCARE ครับ ผลการดำเนินงานก็ไม่น้อยหน้าที่เดียว แต่กองทุนนี้ค่อนข้างจะแปลกกว่ากองทุนอื่น ๆ ในกลุ่ม HealthCare ด้วยกันครับ เนื่องจากว่าเป็นการผสมระหว่าง การลงทุนแบบ Active และ Passive เข้าด้วยกัน คือ กองทุนนี้ไม่มีกองทุน Master Fund ที่ไปลงทุนด้วย แต่จะทำการคัดเลือก (Active) กองทุนแบบ ETF (Passive) (exchange-traded fund หรือ เป็นการลงทุนกับหุ้นทุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมนั้น ๆ) ตามอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในกลุ่ม HealthCare ที่ผมได้เขียนไว้ด้านบนนั่นเอง เช่น ETF ของกลุ่มบริษัทยา และ ETF ของบริษัท Biotech ซึ่งสัดส่วนปัจจุบันนั้นก็เน้นไปในทาง Biotech มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ครับ ซึ่งข้อดีของการลงทุนผ่าน ETF ก็คือ มีการกระจายความเสี่ยงไปในตัวด้วย เพราะว่าถ้าเป็นการเลือกลงทุนในหุ้นเดี่ยว ๆ ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่านั่นเองครับ แต่ข้อเสียก็คือ อาจจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนแบบเลือกลงทุน