“ผมชอบวาดฝันถึงอนาคตมากกว่าการนึกย้อนถึงอดีต” 

- โธมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐฯ –

มนุษย์ทุกคนมีความสุขเวลาได้วาดภาพอนาคตที่สวยงามไว้ เพราะมันมีผลทางจิตวิทยาที่ช่วยให้การกระทำในปัจจุบันของเรามีความหมายมากขึ้น อนาคตคือสิ่งที่ยังไม่เกิด เราสามารถจินตนาการให้มันออกมาในหลายรูปแบบได้

แน่นอนว่า..คงไม่มีใครอยากเจออนาคตที่น่าผิดหวังกันสักเท่าไหร่

นักธุรกิจและนักลงทุนที่อยู่ในเหตุการณ์ “วิกฤตฟองสบู่ดอทคอม” ก็เช่นกัน

เรื่องราวของฟองสบู่ดอทคอมเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 (1995-2000)

อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ต่างๆมีราคาสมเหตุสมผล และใช้งานได้ง่ายกว่ายุคแรกๆ

ในเวลานั้นทั่วทั้งโลกต่างพูดถึงอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยพามนุษยชาติก้าวไปได้ไกลมากขึ้น ทุกคนให้ความสนใจและเรียนรู้มัน มีเว็บไซต์และซอฟต์แวร์จำนวนมากผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด จากการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์นี้นั่นเอง

ทุกคนบนโลกเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในโลกอนาคต

เมื่อประสิทธิภาพของอินเตอร์เน็ตเริ่มเติบโตขึ้น โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจึงมีมากขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้บรรดานักธุรกิจรุ่นใหม่หันมาใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มในการประกอบธุรกิจ ทำให้มีธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย

บริษัทในยุคนั้นจะใช้เว็บไซต์ดอทคอม (.com) เป็นฐานหลักของพวกเขา

สาเหตุที่หลายบริษัทเน้นกิจกรรมผ่านเว็บไซต์และซอฟต์แวร์ก็เพราะเป็นธุรกิจที่ได้อัตรากำไรสูงและเริ่มต้นได้ง่าย ต่างจากการขายฮาร์ดแวร์ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเหมือนกัน แต่กลับมีการแข่งขันด้านราคาสูงกว่า และมาร์จิ้นก็น้อยกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นรายได้จากธุรกิจเว็บไซต์หรือซอฟต์แวร์ส่วนมากจะเพิ่มตามจำนวนผู้ใช้งาน และเป็นรายได้ที่เกิดซ้ำไปมา (Recurring Income) อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงมีธุรกิจจำนวนมากเติบโตขึ้นจากไอเดียที่เริ่มต้นได้โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากนัก และทุกธุรกิจที่กำลังเติบโตต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ

NASDAQ เป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา บริษัทเทคโนโลยีและไอทีนิยมเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์กับแนสแดค เพราะหลักเกณฑ์ในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนไม่มากเรื่องเหมือนตลาดใหญ่ของอเมริกาอย่าง NYSE ทำให้แนสแดคกลายเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่รวมบริษัทที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในสมัยนั้น

ในช่วง 1995 นักลงทุนหลายคนต่างจับตามองหุ้นยักษ์ใหญ่ในสายเทคโนโลยีที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งและเติบโต เพราะโอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้าง เมื่อมีหุ้นเทคโนโลยีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ประกอบกับเทรนด์อินเตอร์เน็ตที่มาแรง นักลงทุนในสมัยนั้นจึงสนใจรลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าซื้อขายในตลาดมากเป็นพิเศษ 

ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกซื้อขายกันที่ราคาสูง (P/E สูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ)

ส่งผลต่อดัชนี NASDAQ เพิ่มขึ้นจาก 800 จุดในปี 1995 ไปอยู่ที่ 5,000 จุดในปี 2000 จนถือได้ว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับการคาดหวังอย่างสูงจากนักลงทุน โดย P/E ของตลาดถูกเทรดกันแพงกว่า 100 เท่า มีทั้งการลงทุนระยะยาวและการเก็งกำไรบนสิ่งที่เรียกว่า “อนาคต” อยู่ในตลาดหุ้นแห่งนี้

กลุ่มผู้ถือหุ้นและพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีกลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา หลังจากหุ้นที่ตนเองถืออยู่ถูกเทรดในราคาแพงขึ้นทุกวัน เมื่อ P/E ของหุ้นกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้น ความมั่งคั่งของพวกเขาก็มากขึ้น ทุกคนในตลาดทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนเหมือนวิ่งเล่นอยู่ในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ เพราะมีภาพความสวยงามแห่งอนาคตเต็มไปหมด

ฟองสบู่ดอทคอมจึงเกิดขึ้นจากความคาดหวังและการเก็งกำไรในหุ้นเทคโนโลยี

ทั้งๆที่หุ้นบางตัวก็ไม่ได้มีความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอเลยด้วยซ้ำ เพราะมีบางบริษัทที่ยอมขาดทุนเพื่อแลกกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

ซึ่งในความเป็นจริง...แม้หลายบริษัทจะมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากกว่าล้านคน แต่นั่นไม่ได้การันตีตัวเลขกำไรของทุกบริษัท และแม้ว่าจะทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าทำตามความคาดหวังของนักลงทุนไม่ได้ ราคาหุ้นก็พร้อมจะถูกปรับลงมาทุกเมื่อ

จนกระทั่งความคาดหวังของนักลงทุนเริ่มจางหายไปจากตลาดในปี 2000-2002 เมื่อนักลงทุนค่อยๆเทขายหุ้นของบริษัทดอทคอมต่างๆ บางคนขายเพื่อทำกำไร บางคนมองไม่เห็นผลประกอบการที่เติบโตได้ตามคาด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังพัฒนาตามจินตนาการของนักลงทุนไม่ทัน และยังมีเรื่องอื้อฉาวในการปลอมแปลงตัวเลขของบริษัทเกิดใหม่อีกมาก

การเทขายหุ้นทำให้ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลงสู่จุดต่ำสุดในปี 2002 ที่ 1,100 จุดกว่าๆ นับเป็นผลขาดทุน 78% จากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2000 ที่ 5,132 จุด

ตัวอย่าง บริษัทที่เกิดขึ้นในยุคนั้นและเป็นที่คาดหมายว่าจะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจแห่งอนาคต ได้แก่..

YAHOO! – หลายคนรู้จักบริษัทนี้กันดีอยู่แล้ว เพราะในอดีต YAHOO.com ถือได้ว่าเป็นบริษัทแรกๆที่เข้ามาบุกเบิกโลกอินเตอร์เน็ต มีฟังก์ชั่น Web Portal การใช้งานเว็บไซต์ที่หลากหลาย รวมถึงเคยเป็น Search Engine อันดับหนึ่งมาก่อน

YAHOO เข้าสู่ NASDAQ ในเดือนเมษายน 1996 ด้วยราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นจากเดิม 3 เท่า เคยทำราคาสูงสุดที่ 118.75 USD ก่อนที่จะลดลงเหลือ 8.11 เหรียญ ภายในปีเดียว

TheGlobe.com – โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ครุ่นแรกที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาพร้อมๆกับ YAHOO! ในปี 1995 และจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหุ้นในปลายปี 1998 ราคาหุ้นเคยขึ้นไป 97 USD ให้ผลตอบแทนสูงสุดกว่า 600% จากราคา IPO ก่อนที่จะเหลือเพียง 10 เซนต์ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมแตก

Ask Jeeves หรือ Ask.com – Search Engine ที่ตอบโจทย์การค้นหาของผู้ใช้งานได้ด้วยการพิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหาเป็นภาษาพูดแบบง่าย เหมือนกับถามคำถามเพื่อน เป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่ได้รับความนิยมมากกว่าใครในยุคนั้น Ask Jeeves ก่อตั้งในปี 1996 ก่อน IPO เข้าตลาดหุ้นในปี 1999 และทำราคาสูงสุดในปีเดียวกันที่ 190 USD ต่อหุ้น ก่อนจะโดนพิษฟองสบู่ดอทคอมเล่นงานทำให้ราคาหุ้นเหลือเพียง 86 เซนต์ ในปี 2002

แม้กระทั่งร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon.com ก่อตั้งในปี 1994 และ EBAY.com ในปี 1995 ต่างก็เคยผ่านบาดแผลจากฟองสบู่ดอทคอม แต่พวกเขาใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นผู้อยู่รอด กลับมาเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน


สาเหตุที่เรียกว่า ฟองสบู่ดอทคอม ก็เพราะหุ้นหลายตัวที่นักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรในยุคนั้นโดยส่วนมากจะมีเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย "ดอทคอม" นั่นเอง

คงไม่ต้องพูดอะไรกันมากกับฟองสบู่ดอทคอมนี้ เพราะประโยคของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันที่ยกมาในต้นบทความ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนส่วนมากไว้หมดแล้ว

คนเรามักจะมองโลกในอนาคตไว้ดีเกินไป ทำให้เกิดความคาดหวังที่ยากเกินจะเอื้อมถึง จนความโลภก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ

ด้วยเหตุนี้ฟองสบู่ดอทคอมจึงเกิดกับหุ้นดอทคอมและบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายในเวลานั้น หวังว่าบทเรียนของดอทคอมนี้จะช่วยเตือนใจบรรดานักธุรกิจและนักลงทุน Start Up ที่ในตอนนี้กำลังวาดฝันไว้สูงได้ ไม่มากก็น้อย...