เวลาผ่านไปครบ 20 ปีจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนทั่วโลกรู้จักในนามว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เกิดจากความเชื่อมั่นที่มีมากเกินไปจนขาดความระมัดระวัง ธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินแห่กู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศมาแสวงหาผลตอบแทน นักลงทุนนักเก็งกำไรอยู่เต็มตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ปั่นราคาจนเกิดฟองสบู่ก้อนโตที่มองไม่เห็น

แต่ต่างชาติกลุ่ม Hedge Fund เริ่มรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเปราะบาง จึงเข้ามาโจมตีค่าเงิน เพื่อหวังทำกำไรมหาศาลจากเงินบาทลอยตัว สุดท้ายเค้าทำสำเร็จ ทุนสำรองระหว่างประเทศแทบไม่เหลือ ค่าเงินบาทอ่อนลงไปมาก ธุรกิจและสถาบันการเงินขาดทุนยับหลายแห่งต้องถูกปิดกิจการ ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ยืมจาก IMF มาชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดและไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศสร้างความเชื่อมั่น

ทุกวันนี้ถือได้ว่าเราหลุดพ้นจากวิกฤตแล้ว แต่ก็ยังหลงเหลือซากตึกระฟ้าที่ยังสร้างไม่เสร็จไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่เลย

ปัจจุบันเริ่มมีคนกังวลว่าจะเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้นอีกไหม เพราะในโลกโซเชียลมีคนเขียนบทความว่ามีโอกาสเกิดวิกฤตขึ้นได้จากสัญญาณบางอย่างที่ไม่ดี อาทิเช่น คอนโดล้นตลาดราคาแพง แห่จองกันเพียบ ดัชนีตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดสูงสุดเดิมตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงจนกังวลเรื่องหนี้เสีย และเศรษฐกิจไม่ดีขายของแทบไม่ได้ เป็นต้น

ก่อนจะอธิบายว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขอบอกเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นลงเป็นรอบๆ มีช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูและเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นประเทศไทยหนีไม่พ้นที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกในอนาคต เพียงแต่ไม่มีใครทำนายได้ถูกต้องว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร รุนแรงแค่ไหน สัญญาณที่พอบอกเค้าลางวิกฤตได้บ้าง คือ คนส่วนใหญ่กำลังโลภมากกว่ากลัว และตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ดูดี

ผมคิดว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังลงทุนแบบกล้าๆกลัวๆ และตัวเลขทางเศรษฐกิจก็มีทั้งดีและไม่ดีปนๆกันไป จึงยังไม่เห็นด้วยว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ต้องรอจังหวะที่คนส่วนใหญ่เผลอไม่ระมัดระวังตัวถึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทเราต้องเตรียมตัวรับมืออยู่ตลอดเวลา เพราะขอย้ำว่าไม่มีใครทายถูก

ดังนั้นผมขอเสนอแผนการเงินที่พารอดวิกฤติมีดังนี้

1.หารายได้มั่นคงและควรมีรายได้หลายทาง

2.ใช้จ่ายประหยัดต่ำกว่าฐานะและมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน

3.งดสร้างหนี้ฟุ่มเฟือยและมีหนี้จำเป็นได้ไม่เกิน 2 เท่าของทรัพย์สินที่มี

4.จัดพอร์ตทรัพย์สินเงินทองให้เหมาะสมและเน้นลงทุนที่ได้กำไร

บางคนอาจยังสงสัยอยู่ เป็นกังวลว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นหรือเปล่าในเร็ววันนี้ ผมขออธิบายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญทีละตัว เพื่อให้เห็นเลยว่าตัวไหนสบายใจได้ ตัวไหนเฝ้าระวังไว้หน่อย มีดังนี้ครับ

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)

ตัวเลขเป็นบวกแต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง และเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลานี้

2. อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate)

ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งช่วงดอกเบี้ยสูงแสดงว่าคนต้องการเงินมากยอมเสียดอกเบี้ยแพง

3. อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate)

เราเปลี่ยนจากดอกเบี้ยคงที่เป็นลอยตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ดี เพียงแต่การปล่อยลอยตัวนี้มีขอบเขตอยู่บ้างไม่ให้ผันผวนมากเกินไปถือว่าเป็นเรื่องดี

4. อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate)

ตัวเลขอยู่ในระดับต่ำในบางช่วงถึงขั้นติดลบเล็กน้อย แต่ผมกังวลว่าในอนาคตมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากผลของมาตรการพิมพ์เงินปริมาณมหาศาล (QE) ที่ประเทศมหาอำนาจใช้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

5. ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves)

ตัวเลขอยู่ในระดับสูงมากเพียงพอทำให้ต่างชาติมั่นใจว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้

6. หนี้ครัวเรือน (Household Debt)

ตัวเลขยังอยู่ในระดับสูงจนน่ากังวลจากนโยบายประชานิยมในอดีตและจากพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ภาครัฐไม่นิ่งนอนใจออกมาตรการมาควบคุมการก่อหนี้ของคนรุ่นใหม่และผู้มีรายได้น้อยแล้ว

7. สินเชื่อ (Loan)

ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ โดยมีการกำหนดนโยบายป้องกันความเสี่ยงและตรวจสอบประวัติการชำระเงินของผู้กู้จากเครดิตบูโร นอกจากนี้มีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูงในระดับสูง

8. อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวังศึกษาความเป็นได้เป็นอย่างดี ในบางทำเลมียูนิตเหลือขายมากไปก็จะเร่งระบายสต็อก และอาจพิจารณาชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ นอกจากนี้กำหนดให้ผู้ซื้อวางเงินดาวน์มากพอสมควรเพื่อดูศักยภาพในการขอสินเชื่อบ้าน ผมกังวลในเรื่องปริมาณคอนโดที่ออกมาค่อนข้างเยอะเพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนแทนฝากเงิน ซึ่งไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง

9. ตลาดหุ้น (Stock Market)

ดัชนีหุ้นขยับใกล้จุดสูงสุดในอดีตในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแต่พื้นฐานต่างกัน ตอนนี้เรามีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้นและบริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการกำไรได้ดีขึ้นอีกด้วย