ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เรามักจะได้รับคำแนะนำจากคนรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาว และเห็นโลกมาเยอะกว่า คำแนะนำสั่งสอนของคนรุ่นก่อนเลยดูเหมือน "แผนที่นำทาง" ชั้นดี ที่มีไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและติดตาม

แต่ในบางครั้ง...คำสอนหรือหลักการของคนรุ่นก่อนอาจจะใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่ ด้วยไลฟ์สไตล์ ระบบความคิด และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน และการอยู่รอดในสังคม ก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีการแบบใหม่ดูบ้าง แผนที่ที่ได้รับมา คงจะไม่ทันใจเท่ากับ GPS รุ่นใหม่ที่ใช้นำทางเหมือนในตอนนี้ก็ได้!

คำสอนเรื่องการเงินก็เหมือนกัน..

• ออมเงินมาลงทุนอย่างน้อย 10% ของรายได้ต่อเดือน
• ทำประกันบำนาญเพื่อให้อนาคตมีเงินใช้อย่างพอเพียง
• ซื้อกองทุนรวม LTF RMF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีเป็นหลัก
• อย่าสร้างหนี้ เพราะหนี้จะเป็นภาระที่ทำให้เราจนลงได้

เชื่อได้เลยว่าคนรุ่นใหม่ประมาณ 80% ต้องเคยได้ยิน หรืออ่านผ่านๆ กันมาบ้างแหละ ที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นแนวความคิดที่คนส่วนใหญ่นำมาปฏิบัติตาม และได้ผลดี “ในบางกลุ่ม” เพราะแนวคิดบางอย่างอาจจะช้า และไม่ทันใจคนรุ่นใหม่ที่อยากจะรวยเร็วมากกว่าที่จะรอใช้เงินตอนเกษียณฯ

บางคนต้องการใช้ชีวิตไปด้วย เก็บเงินเพื่ออนาคตไปด้วย..

บางคนยอมกัดฟัน 5-10 ปี เพื่อหาหนทางเกษียณฯได้เร็วกว่าคนอื่น

วิธีคิดเรื่องการเงินของคนรุ่นก่อนอาจจะดีอยู่แล้ว แต่บางอย่างก็อาจไม่เหมาะกับยุคนี้ เพราะอย่างนี้ ผมจึงขอนำ 5 แนวคิดเดิมๆ มาปฏิวัติใหม่ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่อย่างเรา เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตการเงินแตกต่างจากคนรุ่นก่อนกันดีกว่า!

• ออมเงินแค่ 10% ของรายได้ต่อเดือน บอกตามตรงมันไม่พอหรอก

ถามตรงๆ ว่าตอนนี้มีใครยังออมเงินแค่ 10% ของรายได้อยู่บ้างมั้ย? บางทีวลีที่ว่า “ขั้นต่ำ 10% ต่อเดือน” อาจจะทำให้หลายๆคนเข้าใจผิด คิดว่าแค่ 10% ต่อเดือนก็เพียงพอแล้ว

สมมุติ

เงินเดือนเริ่มต้นของวัยเริ่มทำงาน (อายุ 23 ปี) สมัยนี้คือ 2 หมื่นบาท ให้เงินขึ้นเดือนปีละ 7% ออม 10% ของรายได้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ลงทุนเลยเราจะมีเงินเก็บตอนอายุ 60 ปี เพียงแค่ 4 ล้านบาทนิดๆ แต่ถ้ารู้จักลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ขั้นต่ำ เงินก็อาจจะมาอยู่ที่ 21.4 ล้านบาท

ถามว่าที่อัตราเงินเฟ้อปัจจุบัน 3% ต่อปี มีเงินก้อน 21 ล้านบาทจะพอหรอ ?

ถ้าใช้เดือนละ 2 หมื่นบาท เงิน 21 ล้านที่ลงทุนไว้ก็อาจจะพอแหละ อย่าลืมว่าอนาคตเราจะมีค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง เข้ามาอีกมากมาย เช่น หากเจ็บป่วยขึ้นมาเงินก้อนในส่วนนี้ก็อาจจะหายไปได้ (ถ้าทำประกันสุขภาพไว้ไม่เพียงพอ) ถ้าสร้างครอบครัวใหม่ รายจ่ายเดือนละ 2 หมื่นนี่ถือว่าน้อยไปนะ อย่าคิดจะพึ่งพาลูกหลานด้วย เพราะเราไม่รู้เลยว่าอนาคตพวกเขาจะเป็นที่พึ่งพาให้เราได้มั้ย ?

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะลงทุนให้ได้ 10% ต่อปี สำหรับคนที่ไม่คิดจะศึกษาเรื่องการลงทุนเลย ผมมองว่าเป็นไปได้ยาก

จากโจทย์ข้างบน ถ้าลองเพิ่มตัวเลขเงินออมต่อเดือนเป็น 20% แล้วลงทุนได้ 6% ต่อเดือน ถ้าหลังเกษียณฯมีรายจ่ายเพียงเดือนละ 2 หมื่นบาทจริงๆ มันก็พอถูไถได้นะ

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูความสามารถในการออมของเราด้วย อย่าพยายามสร้างภาระก่อนวัยอันควร เช่น ซื้อบ้านซื้อรถด้วยเงินผ่อนโดยไม่จำเป็น ถ้าใครมีภาระค่าใช้จ่าย หรือให้เงินทางบ้านเยอะหน่อย ก็อนุโลมให้ออมขั้นต่ำ 20% ต่อเดือน

แต่ถ้าไม่มีภาระเลยก็ออมไปซะ 50% อาจจะแบ่งเป็นออมเพื่อเกษียณ 30% อีก 20% ที่เหลือจะออมเพื่ออะไรก็ไปจัดสรรกันดู ฉะนั้น จงลองเปลี่ยนหลักการนี้ใหม่เป็น…

“ลงทุนขั้นต่ำ 20% ของรายได้ต่อเดือน ถ้าเป็นไปได้ 50%”เพราะออมเงิน 10% ต่อเดือนมันไม่พอ!!

• สร้างหนี้บ้างก็ได้...ถ้าโอกาสสร้างผลตอบแทนมันมีมากกว่า

ประโยคที่ว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” นี่เป็นเรื่องจริงนะ คำสอนจากคนรุ่นก่อนที่ได้ยินมาจึงเป็นคำแนะนำที่ว่า “อย่าสร้างหนี้เกินตัว”

โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ย 20% ต่อปี ทบต้นทบดอกทุกเดือนยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เลย อย่าพยายามสร้างหนี้ที่มันเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”

แต่จงสร้างหนี้ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างแท้จริง เพราะสมัยนี้การทำธุรกิจ หรือการลงทุน จำเป็นที่จะต้องก่อหนี้ขึ้นมาบ้าง เพื่อให้โอกาสทางการลงทุนเป็นจริงขึ้นมา

สมมุติ 

ถ้ากู้ธนาคารเพื่อซื้อคอนโดมาปล่อยเช่าที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4%ต่อปี เมื่อลองคำนวณปัจจัยหลายๆ อย่างดีแล้ว พบว่าโอกาสนี้มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับ %Yield มากถึง 6-8% ต่อปี เราก็สามารถได้รับผลตอบแทนที่เป็นส่วนต่างได้บ้าง

หรือถ้าทำธุรกิจ มีบริษัทเล็กๆ เป็นของตัวเอง ร่างโครงการไปเสนอธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ Soft Loan ก็ยังได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5-10% ต่อปี เทียบกับโครงการใหญ่ในอนาคตที่เราวาดฝัน และมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว คิดว่าอาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากมาย ก็สร้างหนี้ไปเถอะจะได้ขับเคลื่อนกันต่อไป

แต่หนี้ที่ไม่แนะนำคือการกู้ Margin เพื่อลงทุนในหุ้น เพราะคนที่ประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้มีน้อยมาก แม้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5-7% ต่อปี แต่เราเชื่อมั่นในตัวเอง และอารมณ์ของตลาดได้หรอว่าจะทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปีขึ้นไปเพื่อชดเชยส่วนต่างนี้ รวมถึงการปล่อยกู้นอกระบบ เพราะมันผิดกฎหมาย ลูกหนี้หายก็ตามตัวยากนะบอกเลย

สร้างหนี้ไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน ถ้าหนี้สินนั้นเป็นหนี้ดีที่สร้างโอกาสให้กับเราได้!!

• ซื้อประกันบำนาญเพื่อชีวิตที่มั่นคง จริงหรอ?

ในเมื่อเราไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่อยากได้เงินใช้หลังเกษียณแบบเงินบำนาญ เราก็ต้องใช้ประกันบำนาญเข้ามาช่วยสร้างความมั่นคงสิ ถ้าอยากได้เงินบำนาญให้พอใช้เดือนละ 20,000 บาท (ปีละ 240,000 บาท) ถ้าตอนนี้อายุ 25 ปี เราต้องจ่ายเบี้ยรายปีเกือบ 2 แสนบาทต่อปีเลย ถามหน่อยว่าจ่ายไหวหรอ?

เพราะประกันบำนาญจะจ่ายเงินบำนาญตามที่กำหนดไว้ ถ้าเราทำประกันบำนาญที่จะจ่ายให้เรา 2 หมื่นบาทต่อเดือน อนาคตเขาก็จะจ่ายให้เราเท่านั้นแหละ แต่เงิน 2 หมื่นที่เขาจะจ่ายให้เราในอีก 35 ปีข้างหน้ามันจะเหลือแค่เดือนละ 7 พันบาทหน่อยๆ เองนะแก….

ดังนั้น ถ้าอยากได้เงินบำนาญมูลค่าเดือนละ 2 หมื่นบาทจริงๆ ก็ไปซื้อประกันบำนาญปีละ 4-5 แสนบาทซะสิ ตัวแทนประกันจะได้รวยๆ...จะบ้าหรอ!!

การทำประกันบำนาญอาจจะตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคงก็จริง แต่ไม่ใช่ชีวิตที่มั่นคงแน่นอน เพราะเบี้ยรายปีที่สูงมากนี่แหละจะเป็นตัวดูดเงินเราในอนาคต ความจริงเราสามารถใช้มันเป็น Asset ตัวหนึ่งของพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณ แต่ควรใช้ในสัดส่วนน้อยเพื่อที่จะได้อุ่นใจว่า อย่างน้อยเราก็มีรายได้ต่อเดือนเข้ามาบ้างแหละ

คนรุ่นใหม่อย่างเราเน้นลงทุนในหุ้น กองทุน LTF RMF หรือกองทุนรวมที่จ่ายปันผล ตอบโจทย์เรื่องรายได้ต่อปีมากกว่า ลงทุนเก็บสะสมหุ้นดีๆ ไปเรื่อยๆเพื่อให้ได้เงินปันผลรายปีมาไว้ใช้จ่าย ใช้ตรงนี้เป็นเสาหลักของแผนเกษียณที่มั่นคงจะปลอดภัยในระยะยาวได้ดีกว่า

ประกันบำนาญไม่ใช่เสาหลักของการเกษียณที่มั่นคง แต่เป็นเครื่องมือเสริมที่ช่วยให้อุ่นใจมากกว่า

(สนใจประกันบำนาญลองอ่านบทความของพี่เอ้ INSURANGER: 3 ขั้นตอนเลือกซื้อประกันบำนาญให้คุ้มค่าสุดๆ)

• อยากลดหย่อนภาษี ซื้อ LTF RMF ให้เต็มวงเงิน ก่อนประกันชีวิตสิ

เมื่อเข้าสู่วัยทำงานสิ่งที่ทุกคนต้องวางแผนเป็นลำดับแรกๆ เลยคือ “วางแผนลดหย่อนภาษี” ซึ่งทางเลือกที่นิยมกันในลำดับต้นๆ เรามักจะได้ยิน ประกันชีวิต LTF RMF มาก่อนใครเพื่อน

ซึ่งหลายๆ ครั้งเรามักจะได้รับคำแนะนำว่า ซื้อประกันให้เต็มก่อนสิ เพราะประกันมันช่วยลดหย่อนได้สูงสุด 1 แสนบาท และไม่มีจำกัดขั้นสูงที่ 15% ของรายได้ต่อปีเหมือนอย่าง LTF RMF แต่...มันจำเป็นหรอว่าเราจะต้องใช้สิทธิ์ประกันชีวิตให้เต็มวงเงินก่อน บางทีซื้ออะไรมากเกินไปแล้วมันไม่ตอบโจทย์มันก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรอยู่ดี

ผมมองว่าประกันชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ด้าน “ความคุ้มครอง” และเป็นหัวรถจักรที่สามารถพ่วงประกันสุขภาพตามมาได้ ซื้อประกันในวงเงินที่พอดีกับความต้องการ ไม่ใช่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นหลัก จงซื้อประกันเพื่อความคุ้มครองเท่าที่จำเป็น

ประกันอีกประเภทอย่าง “ประกันออมทรัพย์” อันนี้อาจจะได้ผลตอบแทนคืนมาบ้าง แต่มันไม่ได้ทุนคุ้มครองที่สูง เมื่อเทียบกับประกันชีวิต และระยะเวลาคุ้มครองก็นานกว่า 10 ปีบางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเงินจมก็ได้

ถ้าอยากลดหย่อนภาษีแล้วได้ผลตอบแทนดีๆLTF RMF เป็นทางเลือกที่ดีกว่าประกันชีวิตแบบออมทรัพย์จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายหลักของ LTF และ RMF คือ ผลตอบแทนจากการลงทุน เพียงแต่ว่าการลงทุนนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น LTF จะตอบโจทย์เรื่องผลตอบแทนและสภาพคล่องมากกว่าประกันแบบออมทรัพย์

ถ้าอย่างนั้น RMF ไม่จมกว่าหรอ กว่าจะขายออกได้ก็อายุ 55 ปีขึ้นไป ถึงแม้ว่า RMF จะไม่ตอบโจทย์เรื่องสภาพคล่อง แต่ถ้าเลือกดีๆ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้มากถึง 10% ต่อปี เมื่อทบต้นทบดอกแล้ว ผลตอบแทนดีกว่าประกันแบบออมทรัพย์ตั้งเยอะ แถมตอบโจทย์เรื่องแผนการเกษียณอีกด้วย

ไหนๆ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่อยากรวยก็กล้าเสี่ยงแล้ว ซื้อประกันให้พอดีกับความคุ้มครอง แล้วค่อยซัด LTF ให้เต็มวงเงินขั้นต่ำ ถ้ายังขาดอีกก็ค่อยเติมด้วย RMF แต่ถ้าอนาคตมันเต็มขีดจำกัดทั้งหมดแล้ว ก็ค่อยหันมามองประกันออมทรัพย์ไว้เป็นทางเลือก

ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงด้วย ถ้าเป็นคนชอบความเสี่ยงต่ำก็ใช้ประกันออมทรัพย์หรือประกันบำนาญเข้าช่วยลดหย่อนก่อน ส่วน RMF LTF ค่อยเลือกกองที่จะซื้อตามความเหมาะสม

• การลงทุน คือ การรักษาเงินต้นที่ดีที่สุด

หลายครั้งที่เราได้ยินว่า การลงทุนแบบรักษาเงินต้น เพื่อความปลอดภัยของเงินต้นในระยะยาว ให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือไม่เสี่ยงเลย..แต่ในความเป็นจริง การวางเงินไว้ในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำแบบนี้ รักษาเงินต้นแทบจะไม่ได้เลย

เพราะในระยะยาวมีศัตรูทางการเงินที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” คอยกัดกินเงินออมของเราอยู่ !

ดังนั้น ในระยะยาวถ้าไม่อยากให้เงินต้นหาย เราต้องรู้จัก “ลงทุน” ให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีชนะค่าเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย เงินต้นจึงจะไม่หายไปไหน

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนในหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 10% ต่อปีโดยเฉลี่ย อาจจะมีบางปีที่ขาดทุน แต่ในปีที่ได้กำไร ตลาดหุ้นก็ให้ผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน เมื่อเฉลี่ยผลตอบแทนในแต่ละปีแแล้ว ผลตอบแทนในตลาดหุ้นชนะเงินเฟ้อขาดลอย

(จริงๆ สินทรัพย์ชนิดอื่นๆ ก็ชนะเงินเฟ้อได้เช่นกัน ลองดูตัวอย่างได้จากบทความเก่าของผมอันนี้)

ดังนั้น การลงทุน ที่มีความเสี่ยง ก็คือการรักษาเงินต้นที่ดี แต่ต้องลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้นะ! แต่ถ้าจะลงทุนเพื่อเป้าหมายในระยะสั้นๆ 1-2 ปี แนะนำให้กันเงินก้อนนั้นออกมาก่อนแล้ว ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเพื่อ Make Sure ว่าเงินลงทุนจะปลอดภัย ใช้สำหรับเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นนี้

การจัดการทางการเงินเป็นเรื่องที่ไม่มีถูกผิด เราสามารถนำแนวคิดทุกอย่างมา Adapt ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเองได้ แน่นอนว่าหลักการคิดแบบคนรุ่นใหม่ของผม อาจจะดูเน้นไปที่ผลตอบแทน และไม่ค่อยสนใจความเสี่ยงซักเท่าไหร่

เพราะผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ อายุน่าจะยังไม่เยอะมาก ราวๆ 23-35 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง ยังมีเวลาในการล้มลุกคลุกคลานอยู่เยอะ ถ้าคิดว่าดีก็ลองนำไปปรับใช้ได้เลย แชร์ให้เพื่อนๆ ลองคิดตามกันดูก็ได้นะ ถ้ามีตรงไหนที่คิดว่าไม่ใช่สามารถแย้งกันได้เลยที่หน้าเพจ

ยังไงเราก็พร้อมเปิดรับทุกความเห็นอยู่แล้ว เรียนรู้และก้าวไปพร้อมกันนะวัยรุ่น !!!