ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน หากจะถามว่าธุรกิจใดที่มีข้อร้องเรียนอันดับต้นๆ  หนึ่งใน ผมเชื่อว่าหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ประกัน” อย่างแน่นอน

เพราะหากพิจารณาตั้งแต่ “ต้นน้ำ” จนถึง “ปลายน้ำ” ในธุรกิจประกัน สามารถพบปัญหาได้เสมอ

ไล่ตั้งแต่ การขายประกันของตัวแทน หรือนายหน้าที่ทำให้ผู้เอาประกันเข้าใจผิดจนเกิดความเสียหายการฟ้องร้องบริษัทประกัน ที่ปฏิเสธการเคลม เพราะไม่เข้าเงื่อนไข หรือผู้เอาประกันปิดบังข้อมูล หรือแม้แต่การเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกัน ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนครบถ้วน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการทำประกัน และความมั่นคงของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีใครสักคนที่มาคอยช่วยดูแลแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในวงการประกันให้เรา ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” หรือที่รู้จักกันในนาม “คปภ.” ที่จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ (เฉกเช่นเดียวกับ การควบคุมดูแลแวดวงการลงทุน ในตลาดทุน ของ กลต. นั่นเอง)

โดย "คปภ." จะมีหน้าที่หลักๆอยู่ 3 ประการด้วยกัน นั่นก็คือ

1. กำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ให้มีความมั่นคง

เนื่องจากธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่ต้องแบกรับความเสี่ยงของลูกค้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจนี้ จำเป็นที่จะต้องมีความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า และมีการบริหารจัดการการเงินในบริษัทเป็นอย่างดี คปภ. จึงมีหน้าที่เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัย เช่น การตั้งเงินสำรองที่เพียงพอ การออกแบบแบบประกันให้เหมาะสมกับบริษัทและตลาด ขณะเดียวกัน ก็ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกัน เช่น การสนับสนุนให้บริษัทประกันนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันในการทำประกันภัยในไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นอีกด้วย

2. ส่งเสริม สนับสนุน ให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทในการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เนื่องจากประเทศชาติจะมีความมั่นคงได้ ประชาชนในประเทศจำเป็นที่ต้องมีความมั่นคงทางการเงินเสียก่อน ไม่อย่างนั้น ปัญหาหรือภาระทางการเงินต่างๆก็จะตกเป็นภาระของรัฐบาลและของประเทศ ทำให้ประเทศชาติก้าวเดินต่อไปได้ยาก ดังนั้น คปภ.จึงต้องช่วยสนับสนุนธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ และมีการทำประกันภัยกันอย่างถูกต้อง ถ้วนหน้า ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้

3. คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย

ถือเป็นหน้าที่หลักสำคัญของ คปภ. สำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้เอาประกัน ที่ต้องช่วยรับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันที่เกิดความเสียหาย จากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายที่เป็นผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทน นายหน้า หรือบริษัทประกัน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้เอาประกัน ในบางกรณีที่ผู้เอาประกันเกิดความเข้าใจผิดเสียเอง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายในธุรกิจประกันภัยด้วยเช่นกัน

สำหรับประชาชนทั่วไป และลูกค้าที่เป็นผู้เอาประกันกับบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต คปภ.ก็จะช่วยเหลือเราในการรับข้อร้องเรียนต่างๆ และดำเนินการเพื่อสอบสวนค้นหาข้อเท็จจริง หากพบมูลความผิด ก็อาจจะมีการลงโทษ (เพิกถอนใบอนุญาตของผู้ปฏิบัติงาน) หรือบังคับให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย

ซึ่งตัวอย่างของปัญหาที่เราสามารถร้องเรียนให้ คปภ.ช่วยเหลือเราได้ ที่มักจะพบเจอกันบ่อยๆ ก็เช่น

  • ถูกคนกลาง (ตัวแทน นายหน้า หรือธนาคาร) สร้างความเข้าใจผิดว่าการทำประกัน ว่าเป็นการฝากเงินดอกเบี้ยสูง โดยไม่บอกว่าเป็นประกันชีวิต / ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์หรือสิทธิ์ต่างๆของแบบประกัน ไม่ตรงกับข้อมูลความเป็นจริง หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ / การันตีผลประโยชน์บางอย่าง ที่ไม่สามารถการันตีได้ เช่น เงินปันผล
  • จ่ายค่าเบี้ยผ่านคนกลาง (ตัวแทน นายหน้า) แล้วคนกลาง ไม่ได้นำเงินไปส่งให้กับบริษัทประกัน แต่หนีหายไปพร้อมกับค่าเบี้ย แล้วติดต่อไม่ได้
  • ตัวแทนเสนอขายกรมธรรม์ไม่ตรงกับที่บริษัทประกันขออนุญาต
  • กรณีถูกรบกวนโดยการเสนอขายประกันภัยทางโทรศัพท์ แล้วยังไม่ได้ตกลงทำประกัน แต่บริษัทส่งกรมธรรม์มาให้ผู้เอาประกัน และมีการหักเงินจากบัตรเครดิต โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
  • ถูกบริษัทประกัน ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยอ้างว่าผู้เอาประกันปกปิดข้อเท็จจริงในใบคำขอ
  • บริษัทประกัน ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือจ่ายไม่เป็นไปตามเงื่อนไข บริษัทประกันจะจ่ายค่าซ่อมหรือค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าจำนวนที่ผู้เสียหายเรียกร้อง หรือไม่ยอมจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงที่ไม่เกิดวงเงินเอาประกัน
  • บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

โดยที่เราสามารถ ร้องเรียนคปภ.ได้หลายช่องทาง ดังนี้

  1. ร้องเรียนโดยตรงที่สำนักงาน คปภ. ถนน รัชดาภิเษก หรือสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ
  2. E-mail : ppd@oic.or.th
  3. ผ่านระบบกระดานรับเรื่องร้องเรียน http://oiceservice.oic.or.th/oicrequest/index.php

นอกจากนี้ ผมก็อยากจะแนะนำให้เราลองไปศึกษาหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ คปภ. ดูเพิ่มเติม ที่ http://www.oic.or.th/th/home โดยสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ส่วน tab “สำหรับผู้บริโภค” แล้วเลือกที่ “แหล่งความรู้” ในนั้นก็จะมีความรู้เกี่ยวกับประกันภัยมากมายที่เราสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ทั้งบทความ และวิดิโอ  รวมไปถึง คำถามที่พบบ่อย หรือ FAQ ที่อาจจะตรงกับความสงสัยที่หลายๆคนอาจจะกำลังต้องการคำตอบเกี่ยวกับด้านประกันอยู่ ส่วนใครที่กำลังทำงานในแวดวงประกัน ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทน หรือนายหน้า ก็อาจจะเข้าไปศึกษาในส่วนของ “ข้อมูลสถิติประกันภัย” ทั้งประกันชีวิต และประกันวินาศภัย สำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมได้อีกด้วย

แม้ทุกวันนี้ จะเกิดปัญหาขึ้นมากมายในวงการประกัน จนอาจทำให้ผู้บริโภคหลายๆคนเกิดความเบื่อหน่าย หวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ แต่ก็อยากให้เข้าใจว่า "นั่นไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะปฏิเสธการทำประกัน"

เพราะอย่างไรเสีย การทำประกัน ก็ยังถือว่าเป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นสำหรับใครหลายคน ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้เราได้

แทนที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการไม่ทำประกัน เราควรจะหันมา ศึกษาหาความรู้ด้านประกันให้เข้าใจ และทำประกันด้วยความมั่นใจ เพราะอย่าลืมว่า เรายังมี คปภ. ที่จะคอยช่วยกำกับดูแลการทำงานของ พนักงานขาย และการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกัน พร้อมกับช่วยคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ให้ผู้ประกันภัยอย่างเรา ยามเราเกิดปัญหาหรือเสียผลประโยชน์จากการทำประกัน อยู่อีกแรงหนึ่ง

ดังนั้น ขอให้เราอุ่นใจว่า ถ้าเราทำประกันไปอย่างซื่อสัตย์จริงๆแล้ว

เราจะได้รับความคุ้มครองจาก คปภ.ให้เราอุ่นใจอยู่เสมออย่างแน่นอนครับ