จากตอนที่แล้วที่พูดกันไปในเรื่องของการซื้อประกันชีวิตมาเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียวจะคุ้มไหม เทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ (แนะนำให้อ่าน : คุ้มไหม? ถ้าจะซื้อประกัน(แค่)เพื่อลดหย่อนภาษี) คราวนี้ผมจะมาลองขยายความไปถึง LTF กับ RMF ซักเล็กน้อยนะครับ ว่าสำหรับบางคนที่มีงบประมาณเงินเหลือๆอยู่ซักก้อนแล้วเนี่ย ตกลงเราควรเอาไปลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี? ไปซื้อประกันชีวิต, LTF หรือ RMF ดี? หรือซื้อมันทุกอย่างเลย? แล้วถ้าซื้อมากกว่า 1 อย่าง ควรจะแบ่งเงินไปซื้ออย่างละเท่าไหร่? โอ้ย! คิดแล้วปวดหัว

คำตอบง่ายๆนะครับ ถ้าคุณคิดแค่จะซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ก็แค่หลับตาจิ้ม หรือโยนหัวก้อยแล้วเลือกมาซักตัวก็จบแล้วครับ เพราะไม่ว่าจะซื้ออะไร ถ้าจ่ายเงินเท่ากัน มันก็ช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้เท่ากันเหมือนกันหมดนั่นแหละ!

(อ่าว กวน พูดงี้เดี๋ยวสวย) ผมป่าวกวนนะครับ ผมพูดจริงๆ แต่ ถ้าคุณต้องการอะไรที่มากกว่านั้น ต้องการที่จะซื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์จากแก่นแท้ของตัวลดหย่อนนั้นๆจริงๆ ให้มันคุ้มค่า และตอบโจทย์ชีวิตคุณจริงๆ คุณก็ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า :

1. วัตถุประสงค์ของตัวลดหย่อนแต่ละตัวคืออะไร มันตอบโจทย์อะไรเราบ้าง?

2. คุณต้องการอะไร? มีเป้าหมายทางการเงินอะไร? หรือตัวลดหย่อนตัวไหนจำเป็นต่อชีวิตของคุณมากที่สุด?

จุดประสงค์ของ ประกันชีวิต ก็คือ การการันตีเงินที่จะได้ในอนาคต ไม่ว่าจะได้ตอนเสียชีวิต (แบบเน้นความคุ้มครองชีวิต), ตอนยังมีชีวิต (แบบสะสมทรัพย์) หรือตอนเกษียณ (แบบบำนาญ) จึงมีไว้สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องความเสี่ยงเนื่องจากมีภาระเลี้ยงดูคนอื่น หรือสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ต้องการเน้นความแน่นอนของเงินได้ในอนาคต

จุดประสงค์ของ LTF ก็คือ การลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงทุนระยะกลางถึงยาว มีสัดส่วนการลงทุนแต่เฉพาะในหุ้น 70-100% ทำให้มีความเสี่ยงและความผันผวนค่อนข้างสูง หากจะให้เข้าเงื่อนไขภาษี ก็ไม่สามารถขายได้ก่อน 7 ปีปฏิทิน (ตามเงื่อนไขใหม่) ทำให้ไม่สามารถจัดพอร์ตการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนได้ ในระหว่างที่อยู่ในเงื่อนไขลดหย่อนภาษี หากระหว่างนั้น มีผลขาดทุนมาก ก็ต้องรับผลขาดทุนเต็มๆ LTF จึงเหมาะกับการลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินใดๆ ที่มีระยะเวลาอย่างน้อย 7 ปี ขึ้นไป สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง

จุดประสงค์ของ RMF ก็คือ การลงทุนเพื่อสะสมเป็นเงินทุนไว้ใช้ยามเกษียณอายุ ตั้งแต่อายุ 55 ปีเป็นต้นไปโดยเฉพาะ มีการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งหุ้น หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ จึงสามารถจัดพอร์ตการลงทุนและบริหารพอร์ตการลงทุนได้ตลอดเวลา (โดยการซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันเอง) จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความชัดเจนว่า ต้องการเกษียณอายุตามระบบ คือเมื่ออายุ 55 หรือ 60 ปี และรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนสูง (เพราะสามารถจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงโดยให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการได้)

ที่นี้ เราก็มาพิจารณาตัวเองครับ ว่าชีวิตของเรามีความต้องการประมาณไหน มีโอกาสจะเกษียณอายุตามระบบไหม? มีเป้าหมายทางการเงินในระยะ 5-7 ปีไหม? ต้องการความแน่นอนของเงินในอนาคตมากกว่าอัตราผลตอบแทนสูงๆรึเปล่า? หรือมีความเสี่ยงในการเลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในอุปการะหากจากไปกะทันหันรึเปล่า? แล้วเราก็จัดงบประมาณไปให้แต่ละความต้องการในการซื้อประกันชีวิต LTF หรื RMF ตามลำดับความสำคัญครับ (ซึ่งตรงจุดนี้ ถ้าใครมีความเสี่ยงเรื่องความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ข้างหลัง หากเราจากไปกะทันหัน การทำประกันชีวิตแบบเน้นคุ้มครองชีวิตเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงดังกล่าว ก็ควรจะเป็นเรื่องทีมีความสำคัญอันดับแรกก่อนเรื่องอื่นๆ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะจากไปเมื่อไหร่ จะเร็วหรือช้า? เราจึงต้องรีบทำไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ)

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. อายุ 40 ปี เป็นพนักงานบริษัท ต้องเลี้ยงดูลูก 2 คนและภรรยา และคิดว่าตัวเองก็คงจะเกษียณอายุตอน 60 ตามระบบทั่วไป นาย ก. สำรวจแล้วว่า ปีนี้จะมีงบสำหรับซื้อตัวลดหย่อนภาษีประมาณ 150,000 บาท และนาย ก. ประมาณเอาไว้ว่า ถ้าตัวเองจากไปกะทันหัน ควรจะมีเงินประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อให้ภรรยาและลูกๆได้ใช้ไปจนกว่าลูกๆจะเรียนจบ (วิธีการคำนวณแบบละเอียดเดี๋ยวผมจะสอนทีหลัง) แบบนี้นาย ก. ก็ควรจะทำประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครอง เช่น แบบตลอดชีพ ทุนประกัน 3 ล้านบาท จ่ายเบี้ยประกันประมาณ 60,000 บาท ที่เหลืออีก 90,000 บาท ก็เอาไปซื้อ RMF ประเภทกองหุ้น, กองตราสารหนี้, กองที่ไปลงทุนต่างประเทศ หรือกองอสังหา รวมๆกัน 90,000 บาท สำหรับเป็นพอร์ตการลงทุนไว้ใช้หลังเกษียณอายุก็ได้ครับ

*** แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าลืมว่า วิธีการดังกล่าว อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดในการที่จะบริหารเงินให้ตอบโจทย์ชีวิตของเรามากที่สุด เพราะเราตั้งโจทย์ที่การลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า ด้วยการเริ่มที่งบประมาณในการลดหย่อนภาษี ซึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอกับโจทย์ชีวิตที่เราต้องการ หรือเกินพอสำหรับบางเป้าหมาย แต่บางเป้าหมายก็อาจจะไม่พอ (จัดสรรผิดพลาด) ก็ได้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะแน่ใจว่า เราจัดสรรเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เราบรรลุได้ทุกเป้าหมาย ก็คือ “การวางแผนทางการเงิน” ที่เริ่มจากการตั้งโจทย์ที่ “เป้าหมายทางการเงิน” ของเราก่อน ว่าต้องการอะไร? เท่าไหร่? เมื่อไหร่(อีกกี่ปี)? มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? แล้วจึงค่อยมาคิดว่า เราจะจัดสรรเงินไปลงแต่ละเป้าหมายเท่าไหร่ เพื่อให้ตอบโจทย์ดังกล่าว แล้วจึงค่อยหาสินค้าทางการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายนั้น ถึงจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดครับ ^^ (ซึ่งมันก็จะช่วยให้เราวางแผนการลงทุน และจัดพอร์ตการลงทุนได้มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย)