สำหรับใครก็ตามที่ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพไปแล้วนั้น เราจะได้รับ “กรมธรรม์” มาเป็นหลักฐานและข้อมูลไว้ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ของแบบประกันที่เราได้ทำไป แต่สำหรับหลายๆคนที่ทำประกันไปแล้ว กรมธรรม์ประกันชีวิต อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ไปแตะต้องอีกเลย อาจจะด้วยเพราะรายละเอียดจำนวนมากในกรมธรรม์ ความซับซ้อน และภาษาที่ใช้ ทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องอ่านเรื่องไหน หรืออ่านไปแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจ เลยทำให้หลายคนสนใจกรมธรรม์ที่ทำไปน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

สาเหตุที่เราควรจะต้องอ่านกรมธรรม์เพื่อทำความเข้าใจเอาไว้บ้าง นอกเหนือจากเรื่อง เงื่อนไขการเคลม ข้อกำหนด และการใช้สิทธิ์ต่างๆแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการ “บริหารจัดการกรมธรรม์” โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีกรมธรรม์อยู่หลายฉบับ เพราะหากเราไม่เคยศึกษารายละเอียดกรมธรรม์เลย เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะลืมไปแล้วว่า เราได้ทำอะไรไป? แล้วจะได้ผลประโยชน์อะไรเท่าไหร่บ้าง? ถ้าเราต้องทำประกันเพิ่มเราควรทำแบบไหนเท่าไหร่? หรือถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว เราควรจะหยุดจ่ายตัวไหน และใช้สิทธิ์บริหารจัดการอย่างไรดี? ก็เป็นได้

ดังนั้น อย่างน้อยเพื่อที่จะได้เข้าใจข้อมูลพื้นฐานของการทำประกันของเราเอาไว้บ้าง ผมขอแนะนำให้ศึกษา หรือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ ในกรมธรรม์ประกันชีวิตของเรา ในส่วนที่สำคัญที่สุดอยู่ 3 ส่วนไว้ ดังนี้

1. ส่วนสรุปกรมธรรม์

คือส่วนที่จะอยู่ในหน้าแรกๆเมื่อเปิดกรมธรรม์ขึ้นมา ภายในหน้าสรุปกรมธรรม์ก็จะบอกข้อมูลของแบบประกันที่เราทำไว้ ซึ่งข้อมูลสำคัญที่เราควรจะรับรู้ไว้ เพื่อให้รู้รายละเอียดเบื้องต้นของแบบประกันที่ทำ ก็คือ

  • ชื่อแบบประกัน / ประเภทแบบประกันชีวิต / บริษัทประกันที่ทำ
  • อายุตอนเริ่มทำประกัน / วันที่เริ่มทำประกัน / วันที่สิ้นสุดสัญญา
  • งวดจ่ายเบี้ย (รายเดือน/รายปี) / ระยะเวลาจ่ายเบี้ย / ระยะเวลาสัญญาความคุ้มครอง
  • ทุนประกันชีวิต (จำนวนเงินเอาประกันชีวิต) / เบี้ยประกันชีวิตต่อปี
  • สัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองสุขภาพ / เบี้ยประกันของสัญญาเพิ่มเติม / ระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยของสัญญาแต่ละตัว 

2. ส่วนผลประโยชน์แบบประกัน

คือส่วนที่จะอยู่ถัดไปจากส่วนสรุปกรมธรรม์ จะเป็นส่วนที่บอกถึง ผลประโยชน์ที่จะเราจะได้รับจากประกันชีวิตทั้ง “กรณีที่มีชีวิตอยู่” เช่น จะมีเงินคืน เมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ที่เท่าไหร่ เป็นร้อยละเท่าไหร่ จากทุนประกันบ้าง เมื่อครบสัญญาจะได้อีกร้อยละเท่าไหร่ และ “กรณีที่เสียชีวิต” ว่าถ้าหากเสียชีวิตปีไหน จะมีความคุ้มครองชีวิตคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของทุนประกัน เป็นต้น หากเรามีหลายกรมธรรม์ ก็ควรจะทำสรุปเอาไว้บ้าง ว่าแบบประกันแต่ละฉบับจะได้ผลตอบแทนเราเท่าไหร่ ในปีไหน เมื่ออายุเท่าไหร่บ้าง นอกจากนั้น หากเราทำสัญญาเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองเรื่องสุขภาพ พ่วงเข้าไปกับประกันชีวิต เราก็ควรดูสรุปผลประโยชน์ของสัญญาเพิ่มเติมแต่ละตัวด้วยเช่นกันว่า มีวงเงินความคุ้มครองรายการใดบ้าง แต่ละรายการเป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกินเท่าไหร่ เอาไว้ด้วย

3. ส่วนตารางมูลค่าเงินสด

คือส่วนที่จะอยู่หน้าท้ายๆของกรมธรรม์ จะเป็นตารางที่แสดงมูลค่าการใช้สิทธิ์บริหารกรมธรรม์ คือสิทธิ์เวนคืนมูลค่าเงินสด, สิทธิ์แปลงกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์เงินสำเร็จ และสิทธิ์ขยายเวลาความคุ้มครอง เมื่อเราหยุดจ่ายเบี้ย ในสิ้นปีกรมธรรม์แต่ละปี โดยในตาราง จะเป็นตัวเลข สำหรับทุนประกันทุกๆ 1,000 บาท ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังพิจารณาหยุดจ่ายเบี้ยประกันดีหรือไม่ และควรใช้สิทธิ์ไหนดี ก็ต้องไปดูว่า ปัจจุบันเราจ่ายเบี้ยไปกี่ปีแล้ว (อยู่ในสิ้นปีกรมธรรม์ที่เท่าไหร่) และทุนประกันที่ทำไว้คือเท่าไหร่ แล้วจึงคิดสัดส่วนของผลประโยชน์ เทียบกับทุนประกันที่ทำไว้ (เอาตัวเลขในตาราง/1,000 แล้วคูณกับทุนประกันที่ทำไว้) ก็จะได้มูลค่าของผลประโยชน์ที่จะได้ ไว้ใช้ประเมินทางเลือกแต่ละแบบ สำหรับคนที่ต้องการบริหารกรมธรรม์ที่มีอยู่ครับ

ทั้ง 3 ส่วน คือข้อมูลส่วนสำคัญที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนที่อ่านง่าย เนื้อหาไม่เยอะ ที่อย่างน้อยเราควรจะรับทราบเอาไว้บ้าง เพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการทำประกันชีวิตอย่างเต็มที่ ส่วนในส่วนอื่นๆ อย่างเช่น เงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ หากมีโอกาส เราก็ควรศึกษาเอาไว้บ้าง โดยอาจจะปรึกษาหรือสอบถาม ร่วมกับตัวแทนประกันชีวิตส่วนตัวของเราไว้ด้วย ก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นครับ