ผู้เริ่มต้นลงทุนกับกองทุนรวม หรือ แม้แต่นักลงทุนที่ลงทุนมาสักพักแล้วส่วนใหญ่ มักจะเริ่มตั้งคำถามว่า กองทุนที่เราถืออยู่นี่มันดีไหมเนี่ย...เนื่องจากเห็นผลตอบแทนของกองทุนที่เราถืออยู่ แลดูมันช่างน้อยนิดเหลือเกิน แถมพอไปดูกองทุนของเพื่อน ๆ ก็รู้สึกอิจฉาตาแหกว่า ทำไมของเพื่อนได้มากจัง เรายังติดดอย หรือ ว่ายังขาดทุนอยู่เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งเห็นบรรดากูรู ทั้งหลายยังเชียร์กองทุนใหม่ ๆ ดี ๆ หรือ กองทุนที่ออกมาตาม กระแสการลงทุน (ซึ่งไม่รู้ว่าออกมาช้าเกินไปไหม) และ ยังมีกองทุนที่ดูแล้วผลตอบแทนนั้น “เทพ” มาก ซึ่งทำให้เราเกิด “อาการคันหู ไม่รู้เป็นอารายย…..” ไม่ใช่ !! เกิดอาการ “คันไม้ คันมือ” อยากได้กองทุนที่ เทพ ๆ บ้าง

สุดท้ายเลยต้องออกตามหากองทุนที่ดูดี และดูเทพ หรือ ตามกระแสบ้าง 

แต่ส่วนใหญ่ก็จะมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่

วันนี้ครับ ผมจะมาไขข้อข้องใจว่า ทำไมเราจึง มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ตามมาเลยครับ

ซึ่งปัญหานี้ที่เกิดขึ้นเพราะว่า คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า “กองทุนที่ดีที่สุดนั้น ไม่มีอยู่จริง” ครับ แต่ยังคงคิดว่า กองทุนที่ดีที่สุด มันต้องมีสิ ผมจะขอย้ำอีกทีว่า ไม่มี !! ครับ

เพราะว่า ไม่มีกองทุนไหน 
ที่จะทำผลตอบแทนได้ดี เป็นผู้ชนะ อยู่ตลอดเวลา 

ถ้าหากมองย้อนกลับไป ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนย้อนกลัง 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี ก็ตาม เราก็มักจะเห็นว่า กองทุนอันดับหนึ่งในแต่ละปีจะพลัดกัน ไม่มีใครได้ที่ 1 ตลอดเวลา แถมบางกองทุนที่เคยได้อันดับ 1 มา บางกองทุน ปัจจุบัน ก็ไม่เคยได้ที่ 1 อีกเลยก็มี

ดังนั้น การเลือกกองทุนด้วยผลตอบแทนย้อนหลังดี ๆ นั้น ไม่ได้บอกอะไร ไม่ได้บอกถึงอนาคตสักเท่าไหร่ว่าจะดีไปด้วย แน่นอนครับว่า ถึงแม้การเลือกกองทุนที่ทำผลตอบแทนย้อนหลังได้ดีติดต่อกัน จะมีโอกาสสูงมากขึ้น ที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง หรือ มีการรักษาความสม่ำเสมอของผลตอบแทนไว้ได้ดีก็ตามทีครับ แต่ก็ไม่ได้มีการยืนยันว่าจะทำได้ดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ 100%

ถึงกองทุนที่ดีที่สุดจะไม่มี แต่ก็มี “กองทุนที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด” อยู่ครับ

คำว่า “เหมาะสม” ของผม ก็คือ

1.เป็นกองทุนที่สามารถพาเราไปถึงจุดหมาย หรือ ถึงเป้าหมายการลงทุนของเราได้

2.เป็นกองทุนที่เรา “เข้าใจดี” ว่ากองทุนนี้ทำอะไรกับเงินของเรา รวมถึง เข้าใจกระบวกการการลงทุนของกองทุนอย่างดี รู้สึก ถูกจริต หรือ ถูกใจกับแนวคิดการลงทุนของ ผจก.กองทุน

3.เป็นกองทุนที่มี “ความเสี่ยง” อยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้

4.เป็นกองทุนที่มีความ “ผันผวนไม่สูงจนเกินไป”

หรือ ถ้าจะให้อธิบายมากขึ้น ก็คือ ไม่จำเป็น ต้องเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่ดี ที่เหมาะ ครับ อาจจะเป็นกองทุนธรรมดา ๆ แต่ว่าให้ผลตอบแทนที่โอเค พาเราไปสู่เป้าหมาย อย่างที่ต้องการได้ก็พอ

เช่น 

“กองทุนหุ้น” A ให้ผลตอบแทน 12%

“กองทุนอสังหาฯ”  B ให้ผลตอบแทน 7%

ถ้าดูผ่าน ๆ แล้ว ใคร ๆ ก็อยากได้กองทุน 12% เพราะว่ามันดูแล้ว ได้ผลตอบแทนสูง

แต่ในความเป็นจริง กองทุนหุ้นนั้น ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่ากองทุนอสังหาฯ และ ถ้าเรามีเป้าหมายว่า จะต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 5,000 บาท ด้วยผลตอบแทน 6% ก็จะทำให้เราเก็บได้ 2,000,000 บาท ได้พอดี ณ วันที่เกษียณ ตามที่เราต้องการ 

ถามว่าเราจำเป็นต้องไปเสี่ยงกับกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทน 12% หรือไม่ ? เพราะแน่นอนว่า ผลตอบแทนที่สูง บางครั้งก็หมายถึง ความเสี่ยงที่สูงขึ้นไปด้วยนั่นเอง

ดังนั้น เราอาจจะไม่ต้องลงทุนในกองทุน ที่ได้ผลตอบแทน 12%  แต่ลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำลงมาหน่อยที่กองทุน อสังหา ฯ แต่ได้ 7 % และก็บรรลุเป้าหมายการลงทุนแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าจะเสี่ยงไปทำไม ?

และบ่อยครั้งที่ผมเห็นว่า นักลงทุนหลาย ๆ ท่าน ก็ยังคงไม่ทราบถึง แนวคิด แนวทางการลงทุนของกองทุนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เรา ผิดพลาดได้มากเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บางคน ไม่ทราบว่า กองทุน Healthcare นั้นไปลงทุนกับอะไรบ้าง แต่ที่ซื้อเพราะคิดว่าจะเป็นกองทุนที่ไปลงทุนกับ โรงพยาบาล ซึ่งดูแล้วน่าจะปลอดภัย แต่ในความเป็นจริง กองทุน Healthcare ที่ขาย ๆ กันอยู่นั้น เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก เป็นกองทุนที่เน้น เทคโนโลยี มากกว่า เพราะว่า เมื่อมียาตัวใหม่ออกมา ยาตัวเก่าก็จะขายได้น้อยลง ดังนั้น หุ้นกลุ่ม Healthcare นั้น ก็จะกึ่ง ๆ เทคโนโลยีไปด้วยครับ ดังนั้นต้องลงทุนระยะยาว ๆ และทยอยลงทุน จึงจะเหมาะกว่า การทุ่มลงทุน โดยไม่ทราบรายละเอียดของกองทุน

หรือว่าบางกองทุนจะเน้นซื้อขายหุ้น มากกว่าซื้อแล้วถือยาว ๆ บางครั้งเองก็อาจจะมีความผันผวนมากกว่ากองทุนอื่น ๆ แต่ระยะยาว ๆ แล้ว ก็สามารถที่จะทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกัน หากผู้จัดการกองทุนมีความสามารถ ซึ่งพอนักลงทุนไม่ทราบตรงจุดนี้ ก็จะทำให้ รู้สึกกลัว และขายกองทุนออกมาก่อน และ พอขายปุ๊บ ราคาหน่วยลงทุนก็มักจะวิ่งสวนทางกันเลยทีเดียว (ชาวสวนของแท้เลย)

เห็นไหมครับว่า ถ้าไม่เข้าใจแนวทางการลงทุนของกองทุนไว้บ้าง ก็อาจจะทำให้เราพลาดอะไรบางอย่างไป แต่คนส่วนใหญ่มักจะละเลย และเลือกกองทุนที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า หรือเพราะว่าความรู้สึกที่อยากได้มากขึ้น อยากได้กองทุนที่ดีกว่าเดิม อยากได้สุดยอดกองทุนนั่นเอง

นอกจากปัญหาการเลือกกองทุนที่ดีที่สุดแล้ว 

นักลงทุนเอง ก็ยังมี ปัญหาที่เกิดจากนักลงทุนเอง หรือ “ทำร้ายตัวเอง” อีก นั่นก็คือ  ไม่ได้มีการติดตามการลงทุนเสียเท่าไหร่ หรือ บางครั้งก็ action มาก หรือ มีการปรับไป ปรับมา จนผิดทาง ทั้ง ๆ ที่วางแผนไว้ค่อนข้างดีแล้ว

จากประสบการณ์การลงทุนของผม แล้ว ผมคิดว่า นอกจากที่จะมีการเลือกกองทุนที่เหมาะสมแล้ว ก็ควรจะทีจะมีกระบวนการในการ รักษา และดูแล พอร์ตการลงทุนของเราตลอดระยะเวลาการลงทุนอีกด้วยครับ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในระยะยาว ๆ ได้