จากตอนแรกที่ได้เล่าให้ฟัง (อ่านตอนแรกได้ที่นี่) เกี่ยวกับการลงทุนสูตรลับกลยุทธ์ในเรื่องของการ ออมหุ้น แบบ DCA จริงๆแล้วทุกอย่างมันมาจากเรื่องของการจัดสรรเงินละครับ สำหรับตอนนี้ก็คงจะมีหลายคนอยากรู้ว่า ความลับในการเลือกหุ้นนั้นมันมีอะไรบ้าง? โดยผมจะมีสูตรในหลักการเบื้องต้นและหลักการเพิ่มเติมที่ผมใช้อยู่นะครับ

ผมว่าหลักการเบื้องต้นเนี่ยมันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทราบเป็นอย่างดีนะครับ ธุรกิจที่มันจะดีได้นั้นมันจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. มีกำไรในการทำธุรกิจ

มันก็เหมือนกับชีวิตของคนเดินดินอย่างเราๆนะครับ เรามีรายได้ มีรายจ่าย หากรายได้เราน้อยกว่ารายจ่ายก็เหมือนกับชีวิตติดลบ การทำธุรกิจของบริษัทต่างๆก็เช่นกันครับ ลงทุนไปแล้วจ่ายเงินกับต้นทุนต่างๆไปแล้วต้องเกิดกำไรขึ้น สิ่งที่ผมจะให้ความสำคัญมากๆก็คือ "กำไรขั้นต้น" เพราะมันบอกว่าธุรกิจนั้นน่าสนใจ

ธุรกิจที่น่าสนใจคือธุรกิจที่กำไรขั้นต้นเยอะ เวลาขายของกำไรเยอะๆไม่เหนื่อยด้วยเพราะขายได้น้อยก็ยังได้กำไรใช่ไหมครับ และหากกำไรขั้นต้นเยอะมันก็เอื้ออำนวยให้บริษัทมีส่วนต่างในการแข่งขัน เอางบประมาณมาทำอย่างอื่นได้หากเลือกได้เราก็คงชอบที่จะขายสินค้าที่กำไรชิ้นละ 300 บาท ดีกว่าไปนั่งขายของกำไรชิ้นละ 5 บาท และถ้าจะให้ดีก็ต้องดูว่า ที่กำไรชิ้นละ 300 เนี่ย มันขายได้เรื่อยๆไหม มีคู่แข่งและสินค้าสู้คู่แข่งได้หรือเปล่า ในแง่มุมการต่อรองกับคู่ค้าเป็นอย่างไร 

ส่วนต้นทุนในเรื่องอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการบริหารงาน ต้นทุนทรัพย์สินที่ใช้ไปและต้นทุนทางการเงินพวกนี้ก็ต้องดูด้วยนะ ถ้าผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการสร้างผลกำไรสุทธิด้วย เขาจะ Control ให้ ค่าบริหารงานกับต้นทุนทางการเงินมันอยู่กรอบที่สมควรครับ บริษัทที่ "กำไรสุทธิดี" ก็คือบริษัทที่มีกาเติบโตที่น่าลงทุน แต่ถ้าตั้งบริษัทลูกมาดูดเงินแล้วทำให้เกิดการขาดทุนเนี่ย ก็ไม่น่าสนใจที่จะลงทุนละ หุ้นที่กำไรดี กิจการโต มันก็น่าออมหุ้นไว้ใช่ไหมครับ

และอย่าลืมว่า บริษัทมีกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเงินจากการทำธุรกิจจริงด้วย ในชีวิตจริงขายของมีกำไรแต่ไม่มีเงินก็เยอะแยะนะ ฮ่าๆ

2. บริษัทมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เวลาธุรกิจมันเดินเนี่ย มันย่อมมี capacity ของมันอยู่ เช่น โรงงานหนึ่งผลิตบะหมี่ได้วันละ 10,000 ห่อ ถ้าเกิดสินค้านั้นมันมีความต้องการมากๆๆๆ กำไรดีซะด้วย และแรงการผลิตมันมีไม่พอต่อความต้องการ ถ้าดูเหมือนว่าระยะยาวแล้วคนน่าจะกินหมี่ยี่ห้อเรามากยิ่งขึ้น มันก็น่าจะสนใจที่จะต้องมีการขยายกิจการเพิ่ม การลงทุนเพิ่มมันย่อมสร้างโฮกาสในการสร้างผลกำไรของบริษัทสูงขึ้นในระยะยาวได้ วันนี้ขายได้ 10,000 ห่อ วันหน้าอาจจะได้ 100,000 ห่อ การลงทุนก็ควรเกิดขึ้นได้

การลงทุนควรเป็นลักษณะของธุรกิจที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ทั้งนี้มันก็ต้องดูด้วยว่าจุดแข็งของบริษัทที่เราจะลงทุนนั้นเป็นอย่างไรและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะยาวได้มากแค่ไหน ผมเองเลยชอบธุรกิจที่มีการขยายตัวไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำกำไรในอนาคตจากลูกค้าที่มีความต้องการมากขึ้น

ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนกับหนี้สิน ผมว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ใช่ปัญหามาก นักลงทุนหลายๆ คนกลัวบริษัทมีหนี้ แต่จริงๆแล้วมันต้องดูเหตุผลก่อนว่ามีหนี้ไปเพื่ออะไรและอยู่ในความสามารถของการจัดการของบริษัทหรือเปล่า เหมือนเราๆ ทั่วไปนี่แหระหากเรามีหนี้เพื่อจะเป็นรายได้และทรัพย์สินในอนาคตก็ย่อมดีกว่าการมีหนี้ที่มันไม่ได้จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดรายได้

3. สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนได้

นักลงทุนย่อมคาดหวังเสมอครับว่าธุรกิจนั้นจะมีกำไร และผลกำไรต้องตอบแทนการลงทุนได้สูงกว่าการฝากเงินและการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ถ้าบริษัทที่ลงทุนนั้นมีกำไรและมีเงินสดเพิ่มขึ้น ก็ดูว่าเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ ถ้านำไปสร้างความมั่งคั่งมากขึ้นจากการต่อยอดกิจการก็เป็นเรื่องที่ดี หรือ นักลงทุนเองก็อาจจะอยากได้ผลตอบแทนเป็นรูปแบบเงินปันผลเพื่อใช้เป็น passive income ในการดำรงชีวิต ส่วนตัวผมเองจึงมักจัด port ให้มีหุ้นที่มีนโยบาย ทั้ง 2 แบบ ส่วนหนึ่งลงทุนในหุ้นที่นำไปต่อยอดธุรกิจเสมอ และ อีกส่วนนำไปสร้างเป็นเงินปันผล

ซึ่งเมื่อสะสมไปเรื่อยๆมันจะมากขึ้นและสามารถช่วยให้เรามีเงินใช้และเพิ่มความสบายในการสร้างรายได้มากขึ้นครับ ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่าเราจะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไรต่อ สร้างความสุขให้กับชีวิต ลงทุนเพิ่มเติม หรือนำไปมอบให้กับสังคมเพื่อทำให้มันดีขึ้น การลงทุนในบริษัทหนึ่งๆนั้นเราควรจะหาบริษัทที่มีกำไรเติบโต มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เราเองต้องสำรวจเสมอว่าธุรกิจที่ลงทุนนั้นมีความได้เปรียบต่อคู่แข่งมากขนาดไหนเพราะความได้เปรียบนั้นมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย กระแส ความเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี ถ้าเรามองต่อยอดไปยังการแข่งขันในปัจจุบันนั้น เช่น การเปิดการแข่งขันในแง่มุมของอาเซียน เราเองก็ต้องปรับตัวในการลงทุนเช่นกัน

หลักการต่อมาที่ผมมองมันจะเป็นหลักการในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก

โดยทั่วไป ผมเองจะไม่ได้มองที่ประเทศไทยในการลงทุนอย่างเดียว แม้ตัวผมเองยังเน้นในการลงทุนในประเทศไทยก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า การแข่งขันในสมัยนี้มันไร้พรมแดนมากและธุรกิจของไทยนั้นก็ตายหายไปจากการแข่งขันเยอะแยะ ซึ่งถ้าเรามามองในระดับแคบสุดก็คือรอบๆบ้านเราอย่าง AEC นั้นมีอะไร ผมเชื่อว่าธุรกิจในไทยที่แข่งขันได้มันก็มีให้เห็นๆ อยู่คือ

ธุรกิจที่พึ่งแรงงานที่มีทักษะ

ถ้าเราไปแข่งในเรื่องของแรงงานนะครับ จะพบได้ว่าประเทศรอบบ้านเรามีแรงงานที่ค่าแรงต่ำกว่าเราอยู่รายล้อมประเทศ หลายๆธุรกิจท