"เพราะชีวิตและเส้นทางของคนเรานั้นต่างกัน" แม้ทางเลือกชีวิตคนเรานั้นจะมีไม่เท่ากัน แต่ทุกคนสามารถเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีให้กับตัวเองได้ พบกับเรื่องราวชีวิตอดีตนักโทษห้องขังกว่า 15 ปี “หรั่งพระนคร” หรือ“อัครินทร์ ปูรี” เจ้าของแบรนด์กีต้าร์แฮนด์เมด “Be Light Guitar” ที่จะมาเล่าเส้นทางชีวิตโลกอีกใบของคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานพิจ คุกทหาร และเรือนจำ จนก้าวมาเป็นเจ้าของแบรนด์กีต้าร์ทำมืออย่าง Be Light Guitar ที่มีรายได้ถึงหลักหมื่นต่อเดือน 

จุดเปลี่ยนชีวิตของเขา และบทเรียนที่ได้เรียนรู้มีอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทสัมภาษณ์นี้ของคอลัมน์ aomMONEY INSPIRED ครับ

แนะนำตัวเอง

หรั่งพระนคร : ผมหรั่ง อัครินทร์ ปูรี ตอนนี้ผมอายุ 36 ปี เป็นช่างทำกีต้าร์ เจ้าของแบรนด์ BE LIGHT GUITAR รายได้เฉลี่ยแต่ละปีไม่แน่ใจนะครับ แต่ละเดือนจะอยู่ราวๆ 14,000 - 15,000 บาทครับ

ชีวิตในวัยเด็ก

หรั่งพระนคร : ชีวิตตอนเด็กของผมเนี่ย ผมอายุได้ประมาณ 6 ขวบ คุณแม่ผมก็เสียชีวิต ความอ่อนโยนที่คอยเชื่อมระหว่างแม่กับคุณพ่อในการเลี้ยงลูก สำหรับผมมันไม่มี คุณพ่อผมเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ สอนพิเศษคุณพ่อผมก็ต้องทำงานหนัก ทำงานหาเงินเลี้ยงลูก เอาตัวเองเป็นทั้งคุณพ่อคุณแม่ งั้นในแต่ละวันคุณพ่อจะพบแต่ความเครียด 

ฐานะทางบ้านเรามันไม่ค่อยดี เราไม่มีบ้านเป็นของตัวเองก็จะใช้วิธีการเช่าอะพาร์ตเมนต์อยู่ ผมมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นลูกชายคนเดียว ผมอยู่กับพี่สาวคนกลาง พี่สาวคนโตเนี่ย ก็ต้องถูกส่งไปอยู่กับทางญาติฝ่ายคุณแม่และน้องสาวคนเล็กเนี่ยก็ยกไปเป็นลูกบุญธรรมของครอบครัวหนึ่ง

ชีวิตมันเปลี่ยนตรงนี้แหละ พอแม่เสียปุ๊บเนี่ย คุณพ่อผมเกิดความเสียใจมาก คุณพ่อผมเนี่ยก็ใช้วิธีการย้อมใจโดยการดื่มเหล้า และทุกครั้งที่คุณพ่อผมดื่มเหล้าเนี่ยเหมือนพฤติกรรมแกเปลี่ยน แกกลายเป็นบุคคลที่ชอบใช้ความรุนแรงกับลูก คือเวลาพูดอะไรแล้วผมกับพี่สาวไม่ฟังเนี่ย แกก็จะใช้วิธีการตี ไม่เหมือนกับตอนที่แกไม่ได้ดื่มเหล้าเนี่ย แกจะเป็นคุณพ่อที่น่ารักมาก

โดนสังคมบูลลี่ตั้งแต่ ป.1

หรั่งพระนคร : ตอนที่เข้าไปเรียนโรงเรียน ป.1 คือพ่อเราไม่ได้มีเงินมากพอที่จะส่งให้เราไปเรียนโรงเรียนเอกชนดีๆ ผมกับพี่สาวก็เข้าไปเรียนโรงเรียนวัด เรา 2 คนเป็นลูกครึ่งมันทำให้เหมือนกลายเป็นตัวประหลาด ก็ถูกกลุ่มเพื่อนในห้องเรียนล้อ ล้อเป็นปีๆ จนพอขึ้น ป.2 เราทนไม่ได้แล้ว ใครมารังแกเรากับพี่สาว เราก็จะต่อยเขา 

“ด้วยความเป็นเด็กก็เข้าใจว่าไอ้ความรุนแรงเนี่ยมันคือคำตอบ มันสามารถยุติสิ่งที่เราไม่ชอบได้”

ติดคุกครั้งแรกตอนอายุ 15

หรั่งพระนคร : ตอน ม.3 เทอมแรกเนี่ย มันมียาบ้าระบาดหนักในโรงเรียน ตอนนั้นปี 2542 เหมือนผมก็ลองเสพกับเพื่อนเสพเป็นแฟชั่นครับ พอเราลองเสพเสร็จ มันก็ทำให้ผมติดยา

มันมีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเสพยาที่บ้านร้างหลังหนึ่ง เสพเสร็จก็กลับบ้านไม่มีอะไร แต่เพื่อนๆ ในกลุ่มผมเนี่ยเขานำเด็กผู้หญิงไปกระทำชำเรา จะไปข่มขืนอะไรแบบนี้ พอผ่านไป 2 วันตำรวจจับกลุ่มพวกนี้ได้หมดเลย แล้วผมก็ถูกซัดทอดว่ามีส่วนร่วมในนั้น แต่ว่าเราไม่ได้สนใจจะไปข่มขืนผู้หญิงหรืออะไร เราเพียงแค่เสพยาหลังเลิกเรียน ก็เลยถูกจับติดคุกเด็กครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี

ชีวิตในสถานพินิจ

หรั่งพระนคร : คือเข้าสถานพินิจตอนถูกจับกลัวมากเลย เราเป็นคนใหม่เข้าไปเนี่ยเราก็จะถูกรังแกโดนข่มด้วยภาษาที่แบบรุนแรง เฮ้ย! มึงหลบไปสิ บ้านมึงอยู่ไหน เขาใช้ความเป็นหัวโจกข่มเรา มีแต่เด็กที่คุยเรื่องเลวๆ ใส่กัน

ติดมาได้ประมาณเดือนหนึ่ง คุณพ่อก็หาเงินมาประกันตัว พอออกมาจริงๆ มันก็รู้สึกกลัวนะ แต่พอออกมาปุ๊บ กลุ่มเพื่อนนักเรียนที่รู้จักเราก่อนเราถูกจับเข้าไปเนี่ย กลับยิ่งยอมรับเราอีก ยิ่งยกยอให้เราเป็นเหมือนแบบอย่างในด้านนี้ มันก็ทำให้เราถลำลึกก็กลับไปเสพยาเหมือนเดิม ก็มาเข้าเฉพาะสถานพินิจก็ 7 ครั้ง

ไปเกณฑ์ทหารเพื่อหวังจะเลิกยา

หรั่งพระนคร : ผมอายุ 18 ปีแล้วเนี่ย คุณพ่อกับพี่สาวก็เลยขอร้องบอก หรั่งไปเป็นทหารได้ไหม เขาคาดหวังว่าถ้าผมอยู่ไปอยู่ในกฎเกณฑ์ อยู่ในระเบียบวินัยในกรมทหารเนี่ย มันน่าจะช่วยให้ผมเลิกยาเสพติดได้ เราสงสารคุณพ่อ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ไปให้คุณพ่อหน่อย

พอผมเข้าไปสมัครปี 2544 เนี่ย โชคร้ายคือ คุณพ่อเนี่ยเสียเลยคุณพ่อตรอมใจตาย ดื่มเหล้ามากแล้วก็เสียชีวิต พอหลังจากฝึกผมก็เลิกยาเสพติดไม่ได้ ก็ไปหากลุ่มเพื่อนทหารเหมือนกันที่เสพยา สุดท้ายเราก็ไปติดยาอยู่กับเขาจนมาถูกจับติดคุกทหารอีก 1 ปี 6 เดือน

โดนคดีชิงทรัพย์ติดคุก 10 ปี

หรั่งพระนคร : พอผมพ้นโทษจากคุกทหารมา พี่สาวก็ถามผมว่า เนี่ยติดคุกมาขนาดนี้แล้ว พ่อก็เสียแล้วอยากเลิกยาเสพติดไหม ในใจลึกๆ เราอยากเลิก แต่เราไม่กล้าพูดเพราะในใจเรารู้ว่าเราเลิกมันไม่ได้ ด้วยกำลังตัวเองเราเลิกไม่ได้สักที สุดท้ายผมต้องกลับไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนเหมือนเดิม แล้วไปทำคดีชิงทรัพย์ถูกตำรวจจับศาลตัดสิน 10 ปี เหตุผลก็คือผมไม่มีเงินซื้อยาเสพติด

ชีวิตอีกโลกหนึ่งข้างในคุก

หรั่งพระนคร : ความรู้สึกข้างในกับข้างนอกมันต่างกัน คือในคุกก็เป็นอีกหนึ่งโลก เนื่องจากเราใช้ชีวิตในเรือนจำมันนานรอบนี้ศาลตัดสินผม 10 ปี เราซึมซับพฤติกรรมด้านลบเยอะเรียนรู้วิถีเกเรในเรือนจำเพื่อให้เราไม่ถูกรังแกและทำให้เราได้อยู่สบาย มันก็ทำให้ผมเกเรมากเข้า มากเข้าจนผมรู้สึกว่าในคุกก็เป็นอีกโลกหนึ่งเหมือนกัน

คุกมีไว้ขังคนจน จริงไหม

หรั่งพระนคร :  ไม่ครับ ผมมีเพื่อนมากมายที่มีเงินมหาศาลเลย มีเงินเยอะคนรวยสุดท้ายก็ทำผิด คือความผิดถูก มันขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณของเขา ถามว่าคนรวยติดในคุกก็เยอะแยะ งั้นโอกาสของ 2 กลุ่มนี้มีเท่ากัน งั้นคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ถ้าเขามีศีลธรรม เขาจะปฏิเสธความไม่ดี

จากนักโทษสู่หัวโจกใหญ่

หรั่งพระนคร : ก็เริ่มเกเรพอมีอิทธิพลบ้าง สร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ ถูกย้ายไปแดนอื่น ถูกตีขังซอย ช่วงนั้นไม่กลัวตายเลยต่อให้มีเรื่องกันหรือเจ้าหน้าที่ตีหนักแค่ไหน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งปี 2552 ผมถูกสถาปนาให้ขึ้นไปอยู่ตำแหน่งสูงสุด เขาเรียกว่าหัวเรือพระนคร หรือเรียกว่าหัวหน้าแก๊งเลย ตอนนั้นเป็นตำแหน่งที่สูงสุดแล้ว คือในแดนนั้น แดน 4 ที่ผมอยู่ ปี 2552 เนี่ย คนในแดนประมาณ 1,000 กว่าคน คือยอมรับผมหมดแล้ว 

ตำแหน่งนี้พอเราได้มาเนี่ยความกลัวมาเลยครับ กลัวตาย.. กลัวถูกทำร้าย กลัวทุกอย่าง กลัวจนเกิดความหวาดระแวงทุกสิ่งเลย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเห็นเพื่อนเราทุกคนที่มาอยู่จุดแบบนี้จบไม่สวยเลยสักคน พอมาถึงเราก็เหมือนรอคอยวันจุดจบของเราว่ามันจะแค่เป็นวันไหนเท่านั้นเอง ถ้าโชคดีเราก็ตาย แต่ถ้าโชคร้ายในคุก เราจะพิการ

อยู่ในเรือนจำก็ต้องบริหารเงิน

หรั่งพระนคร : ในเรือนจำเนี่ยถามว่าบริหารเงินไหม สมัยยุคของผมมันฝากเงินได้ ใช้ได้วันละ 200 บาท เราไม่มีญาติคนไหนมาฝากได้ครบทุกเดือน นอกจากคนรวยจริงๆ ที่จะมาฝากเดือนละ 6 พันบาท งั้นเราก็จะใช้วิธีการแบบเรามีลูกบ้าน เงินของลูกบ้านทั้งหมดก็จะเป็นเงินของเรา เราก็จะมีวิธีจัดการว่าคนนี้จะได้เงินใช้เท่าไหร่ ต้องเหลือเงินไปซื้อข้าวเท่าไหร่อย่างนี้ครับ

ส่วนข้างนอกมันมีสิ่งของที่ตอบสนองความต้องการเราได้ไม่ว่าโทรศัพท์แพงๆ กางเกง เสื้อ รองเท้า งั้นการบริหารเงินข้างนอกน่าจะยากกว่า คือสิ่งเดียวที่ยึดไว้เลย คือความพอเพียง

สิ่งเดียวที่ยังห่วงคือ พี่สาว

หรั่งพระนคร : ผมมีพี่สาวคนเดียวที่คอยมาเยี่ยม เขามาทำหน้าที่แทนคุณพ่อ คุณแม่ คอยส่งเสียโดยการส่งจดหมายหาผมพี่สาวผมทำแบบนี้ตลอดโดยไม่เคยทิ้งผมเลย จนพอผมได้รับโอกาสพบญาติครั้งสุดท้าย ในใจผมกะจะลาเขาแล้ว ผมจะบอกเขาว่าพี่ครับพี่ไปจากชีวิตผมเลย น้องคนนี้กลับตัวไม่ได้ ผมกำลังดึงพี่สาวมาติดคุกด้วย เวลาพี่สาวผมมีโอกาสเจอผู้ชายดีๆ หรือมีโอกาสได้หน้าที่การงานที่จะต้องห่างจากน้อง ก็ไปไม่ได้เพราะเขามัวแต่ห่วงน้องคนนี้

แต่วันนั้นพี่สาวผมพูดเรื่องพระเจ้า พี่สาวบอกว่าแววตาของผมเนี่ยเหมือนคนสิ้นหวัง หน้าตามันดูแบบเคร่งเครียด พี่สาวเลยบอกว่ามีโอกาสลองเข้าไปทางศาสนาไหม พอดีพี่เชื่อพระเจ้าเป็นคริสเตียนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเพราะว่าพี่สาวเป็นคนพูด และเขาไม่เคยโกหกเราเลย

ผมก็กลับไปแล้วก็อธิษฐานกับพระเจ้า ถ้าพระเจ้าองค์นี้มีอยู่จริงช่วยทำให้ผมได้พ้นโทษได้ไหม ทำให้ผมเกิดศรัทธาได้ไหม และอัศจรรย์ก็เกิดขึ้นหลังจากวันที่ผมอธิษฐานผ่านไป 1 ปี ผมได้รับพระราชทานอภัยโทษ

“สิ่งหนึ่งที่มันช่วยเยียวยาผมก็คือกลุ่มพี่น้องคริสเตียนแล้วก็หลักคำสอน มันช่วยเหมือนเยียวยาสภาพจิตใจให้เรามีศีลธรรมมากยิ่งขึ้นหลังจากนั้นกระบวนการความคิดผมเริ่มเปลี่ยน”

ชีวิตหลังพ้นโทษ

หรั่งพระนคร : ตอนที่ออกมาแล้วยากมากครับ ผมก็ไม่เคยคิดเรื่องข้างนอกเลย ไม่เคยวางแผนชีวิตว่าพ้นโทษมาเราจะไปสมัครงานที่ไหน แต่พี่สาวเนี่ยก็ช่วยพาผมไปอยู่ที่มูลนิธิหนึ่ง ชื่อมูลนิธิบ้านพระพร มูลนิธินี้เขาช่วยเหลือกลุ่มนักโทษที่พ้นโทษมา เพื่อปรับปรุงทัศนคติ สอนเรื่องราวของพระเจ้าและจัดหาอาชีพให้

การปรับตัวเข้ากับสังคม

หรั่งพระนคร : ปรับไม่ได้เลยครับ คือจากที่ว่าเขาคุยกับเราดีๆ พอเราบอกเราเคยเป็นอดีตนักโทษ เราเคยใช้ชีวิตในเรือนจำนะครับ ผมสัมผัสได้ว่าหลายๆ คนไม่ได้ต้อนรับผม จนผมเริ่มไม่กล้าที่จะบอกแล้ว เฮ้ย เราจะพูดดีรึเปล่า “มันกลายเป็นผมเริ่มติดคุกในใจแล้ว”

จนวันหนึ่งพี่สาวบอกให้ลองอธิษฐานกับพระเจ้า พออธิษฐานเสร็จผมรู้สึกว่าผมจะพูด เราเป็นอดีตนักโทษวันนี้เรากลับใจได้แล้ว ผมก็ตัดสินใจยืนหยัดที่จะพูดแบบนี้ จนได้มีโอกาสออกรายการทีวี

เริ่มมาทำกีต้าร์ได้ยังไง

หรั่งพระนคร : ในขณะที่ผมมาอยู่มูลนิธิมีพี่คนหนึ่งชื่อคุณแหลม เขาก็เป็นช่างทำกีต้าร์แฮนด์เมด คือเวลาเขามาเห็นผมในมูลนิธิเขาก็เหมือนแบบอยากจะให้โอกาสอดีตนักโทษได้สร้างอาชีพ คือผมไม่มีความรู้เลยผมรู้แค่ว่ามันคือกีต้าร์พอเขาหยิบกีต้าร์ขึ้นมาอธิบายขั้นตอนในการทำ ในใจผมปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เอา แต่เหมือนแกมองแววตาผมออกแกก็พยายามบอกผมว่าลองดู “ลองดูไม่ได้ไม่เป็นไรแต่ต้องลองทำดูก่อน”

สิ่งหนึ่งที่ผมตัดสินใจเรียนเลย คือผมเป็นคนชอบงานศิลปะก็เลยตัดสินใจไปเรียนกับแก ในช่วง 6 เดือนแรกนี่เรียนยากมาก ตอนที่ได้เริ่มทำเป็นอาชีพก็คือ ผมใช้เวลา 7 ปี 6 เดือน มันทำให้เราได้มองสองมือตัวเองว่ากีต้าร์ตัวแรกของเรา เฮ้ย! เราทำแล้วมีคนยอมรับและมีคนซื้อเรา มันเลยทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เพราะสองมือเราไม่เคยทำสิ่งดีๆ เลย หลังจากนั้นมาเราก็เลยอยากทำเป็นอาชีพ

หลังจากนั้น 4 ปี ผมตัดสินใจออกจากมูลนิธิ ผมมาเจออาจารย์ท่านหนึ่งชื่อคุณวิรุฬ ทรงบัณฑิต หรือครูนิด แกทำกีต้าร์เป็นอาชีพ แล้วก็มารู้ว่าแกเป็นอาจารย์ของพี่แหลมอีกทีหนึ่งเราก็มีโอกาสพูดคุยกัน เขาก็พยายามผลักดันบอกหรั่งมันทำเป็นอาชีพได้ ผมก็เลยตัดสินใจไปอยู่ช็อปของเขาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน เขาก็ให้สถานที่ผมไปเรียนรู้อยู่กับเขาจนสามารถทำกีต้าร์เลี้ยงดูตัวเองได้จริง หลังจากวันนั้นผมเพิ่งจะมีช็อปตรงนี้เป็นของตัวเองประมาณ 1 ปี มันค่อนข้างยากมากครับ

ความภาคภูมิใจในชีวิต

หรั่งพระนคร : ก็เมื่อก่อนเราต้องการการยอมรับ เราทำสิ่งผิดแล้วเราก็ถลำลึก แต่พอมาวันนี้เรากลับเนื้อกลับตัวมีอาชีพสุจริตและทำสิ่งที่มันถูกต้องและมีคนยอมรับ มันเป็นพลังใจที่จะรักษาชีวิตของผมไว้ แล้วอีกอย่างผมเป็นวิทยากรเข้าเรือนจำ ทุกวันนี้นักโทษหลายๆ คนที่เป็นเพื่อนผมเนี่ย เขามองเราเหมือนเป็นรุ่นพี่เป็นแบบอย่างที่จะสามารถหยิบยื่นโอกาสให้กับเขาได้ เป็นความภาคภูมิใจในชีวิต ถ้าพี่สาวไม่มาเยี่ยมผมตอนนั้น ผมน่าจะตายในคุกไปแล้วครับ

เรือนจำและการศึกษา

หรั่งพระนคร :  เรือนจำมันคือสถานที่ลงโทษ ถ้าเราจะช่วยเหลือนักโทษในเรือนจำ มันต้องเปลี่ยนให้เป็นการพัฒนาเป็นโรงเรียนสอน เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว แต่วันนี้เขาแค่ทำผิด คนทุกคนทำผิดได้ ในยุคสมัยผมที่ผมสามารถเรียนจบ กศน. ม.6 มาได้เพราะมันมี กศน. เข้าไปสอนในเรือนจำ ขณะเกเรเนี่ยผมก็ยังเรียนงั้นผมว่าการศึกษาเนี่ยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในเรือนจำ

ฝากถึงคนที่ยังกลับตัวไม่ได้

หรั่งพระนคร : ผมอยากจะฝากข้อคิดสำหรับคนที่อยู่ในคุก ถ้าคุณพ้นโทษมาแล้วเนี่ย เวลาคุณจะทำสิ่งใดหรือจะทำผิดซ้ำอีก ให้คุณนึกถึงความลำบากที่คุณเคยอยู่ในเรือนจำ คุณจะได้ไม่ต้องทำสิ่งนั้น และกลับมาอยู่ที่เดิม เวลาได้โอกาสออกมาแล้วเนี่ยจงรักษามันไว้ให้ดี

ส่วนคนทั่วไปที่กำลังเดินเส้นทางแบบนี้ ผมยังไม่เห็นใครสักคนหนึ่งเป็นนักเลงประสบความสำเร็จ สุดท้ายไม่ตายก็ติดคุก เชื่อผมครับทำสิ่งที่ดีอาจจะช้าหน่อยแต่มีคนยอมรับแน่นอน จงรักษาสิ่งที่ดีไว้ครับ

ฝากถึงสังคมในวันนี้

หรั่งพระนคร : ผมขอฝากถึงสังคมอย่างนี้ครับ คือผมไม่เคยพูดเลยนะว่าให้สังคมเราช่วยนักโทษทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ แต่ผมขอโอกาสให้กับคนที่เขาพร้อมจะพิสูจน์ตัวเอง มีนักโทษมากมายที่ออกมาและพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเอง ให้โอกาสกับเขาได้พิสูจน์ อยากให้สังคมให้โอกาสเขาอย่าเพิ่งปิดกั้นเขา สิ่งเดียวที่ผมขอครับ

นี่คือประสบการณ์ชีวิตของโลกอีกใบหนึ่งของ “อัครินทร์ ปูรี” หรือ “คุณหรั่ง” เจ้าของแบรนด์กีต้าร์แฮนเมด “Be Light Guitar” จากอดีตนักโทษที่ครั้งหนึ่งเคยพลั้งพลาดไป แต่วันนี้เขากลายเป็นคนใหม่ที่มีอาชีพสุจริตบนความเรียบง่าย ชีวิตครอบครัวของคุณหรั่งที่ผ่านมาอาจไม่ได้มีพร้อมเหมือนคนอื่น แต่ทีมงงานเชื่อว่าทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า “กำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีวันนี้ได้”

ทางทีมงานคาดหวังว่าเรื่องราวและแง่คิดดี ๆ ของคุณหรั่ง จะส่งต่อไปถึงกับผู้อ่านทุกท่าน และเพื่อนๆ ที่กำลังหลงทางอยู่ในวันนี้ อยากให้อ่านบทความนี้ ลองทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทีมงานเป็นกำลังใจให้เสมอครับ 

วัชรินทร ศิระวัฒนานนท์ (ผู้เขียน)

รฐาพัชร์ ตุลยพิทักษ์ (บรรณาธิการ)

ทีมงาน aomMONEY Inspired

“ผมเป็นอดีตนักโทษ นั่นคือผม 

ส่วนคนทั่วไปที่กำลังเดินเส้นทางแบบนี้ ผมบอกเลยว่ามันจบไม่สวย 

ผมยังไม่เห็นใครสักคนหนึ่งเป็นนักเลงประสบความสำเร็จ สุดท้ายไม่ตายก็ติดคุก”

- อัครินทร์ ปูรี -