สวัสดีคร้าบบบบ กลับมาพบกับผม Insuranger กันอีกครั้ง คราวที่แล้วเราได้ทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของประกันชีวิตกันไปแล้ว ก็อาจจะเกิดคำถามต่อมาว่า "แล้วสรุปแล้วประกันมีชีวิตมีกี่ประเภท? แล้วแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียยังไง? เหมาะกับจุดประสงค์อะไรบ้าง? ซึ่งเราจะมาหาคำตอบกันต่อในบทนี้กันครับ ^^

ถ้าพูดถึงประกันชีวิต หลายคนคงนึกถึงการฝากเงินระยะยาวที่มีเงินคืนทุกๆปี แล้วมีทุนประกันพ่วงด้วย แบบที่ธนาคารหลายๆแห่งชอบมาตื๊อขายใช่ไหมล่ะครับ? (ถ้าหนักกว่า “ตื๊อ” ก็คงกลายเป็น “หลอก” ขายไปแล้วล่ะ)

ไม่ว่าทางธนาคารเขาจะเรียกว่า “โครงการฝากเงิน”, “เงินออมแบบพิเศษ”, “เงินทุนเพื่อการเกษียณ” หรืออะไรก็แล้วแต่ ยังไงเสียมันก็คือประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” หรือ “ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์” (Endowment) นั่นแหละครับ (เพราะฉะนั้นถ้าต่อไปนี้ธนาคารเชื้อเชิญให้มาฝากเงินในโครงการ... เมื่อไหร่ ให้ตอบเจ้าหน้าที่เขาไปเลยนะครับว่า “ประกันออมทรัพย์อะไร? ฝากกี่ปี คุ้มครองกี่ปี? จะเสนอขายอะไรก็ว่ามา” เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่า “ฉันรู้เท่าทันแกนะเฟร้ยยย อย่ามาอ้อมค้อม”

 

แต่ประกันแบบสะสมทรัพย์ ก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของแบบประกันชีวิตที่มีอีกหลายๆแบบ ซึ่งจะมีกี่แบบ แต่ละแบบมีจุดเด่นจุดด้อยยังไง เหมาะกับความต้องการแบบไหน เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ 

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)

คือประกันชีวิตประเภทที่เน้นการคุ้มครองระยะยาว โดยเราต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี แต่ให้การคุ้มครองเราตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น โดยที่ตลอดระยะเวลา ส่วนใหญ่จะไม่มีเงินคืน (หรือถ้ามีก็จะมีประเภทตลอดชีพที่จ่ายปันผล ซึ่งปันผลจะได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการบริหารการลงทุนของบริษัทประกัน) ข้อดีก็คือ เบี้ยค่อนข้างถูก แถมยังคุ้มครองนานอีกด้วย เหมาะกับผู้ที่มีภาระรับผิดชอบยาวนาน หรือต้องการวางแผนสร้างกองมรดกให้ลูกหลาน แต่ข้อเสียก็คือ ไม่มีเงินคืน หากต้องการเงินคืนเป็นก้อนใหญ่ต้องปิดกรมธรรม์ แล้วเวนคืนมูลค่าเงินสด ทำให้ต้องหยุดการคุ้มครองไปด้วย (อาจจะใช้เมื่อคิดว่าไม่จำเป็นต้องการการคุ้มครองแล้ว) และอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ได้ต้องการการคุ้มครองนานถึงตลอดชีพ

2. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)

คือประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองระยะสั้น โดยเราเลือก ช่วงเวลาในการจ่ายเบี้ยและรับการคุ้มครองได้เอง ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 5 ปี / 10 ปี / 15 ปี เป็นต้น (อยากคุ้มครองกี่ปีก็จ่ายเบี้ยเท่ากับจำนวนปีนั้นๆ) จุดเด่นก็คือ เลือกระยะเวลาคุ้มครองเองได้ และถือเป็นแบบประกันที่เบี้ยประกันถูกที่สุด แต่ข้อเสียคือ ไม่มีมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ เพราะเบี้ยประกันเป็นแบบจ่ายทิ้งปีต่อปี (เหมือนประกันรถยนต์หรือประกันสุขภาพ)

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)

คือประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินในแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยมีทั้งแบบระยะสั้น กลาง ยาว ตั้งแต่ 3-5 ปี ยาวไปจนถึง 25-30 ปีก็มี จุดเด่นก็คือ เป็นการออมที่การันตีเงินเป้าหมาย ปราศจากความเสี่ยง และช่วยสร้างวินัยในการออมให้เราในเชิงบังคับ (เพราะไม่สามารถถอนเงินออกจากกรมธรรม์ได้) แต่ข้อเสียก็คือ ทุนประกันที่ได้ไม่สูง (เมื่อเทียบกับแบบประกันอื่นๆ หากต้องจ่ายเบี้ยประกันที่เท่ากัน) จึงไม่เหมาะกับการทำเพื่อการคุ้มครอง และผลตอบแทนจากการออมก็ไม่สูง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)

คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายๆกับแบบสะสมทรัพย์ แต่แบบบำนาญจะเป็นการออมเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยจะต้องออมอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ (เช่น 55, 60 หรือ 65 ปี แล้วแต่แบบ) แล้วหลังเกษียณจะมีเงินคืนจากแบบประกันทุกๆปี ไปจนกระทั่งอายุ 85 หรือ 90 ปี จุดเด่นจุดด้อยก็เช่นเดียวกับแบบสะสมทรัพย์ แต่แบบบำนาญจะมีผลตอบแทนสูงกว่าเล็กน้อยและมีเงินคืนที่ยาวนาน สำหรับไว้ใช้เพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ

5. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Link)

คือประกันชีวิตที่นำเบี้ยส่วนหนึ่งของเราไปลงทุนในกองทุนรวม โดยที่เราสามารถเลือกกอง จัดพอร์ตการลงทุนได้เอง และเบี้ยอีกส่วน จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันคุ้มครองชีวิต จุดเด่นก็คือ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดเบี้ยจ่าย, ทุนประกัน, ระยะเวลาจ่ายเบี้ย และระยะเวลาคุ้มครองเองได้ และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบประกันทุกรูปแบบ รวมถึงมีระบบในการบริหารการลงทุนอัตโนมัติ ทั้งการปรับสมดุลพอร์ต และการทำ DCA แต่จุดด้อยก็คือ มีความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มเข้ามา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลตอบแทน และเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น (เช่นกองทุนรวม) จะพบว่า ด้วยระดับความเสี่ยงที่เท่ากัน ผลตอบแทนจากยูนิตลิงค์จะต่ำกว่า (เพราะต้องถูกหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพิ่ม) 

เมื่อทราบลักษณะ และข้อดีข้อเสีย ของแบบประกันชีวิตแต่ละประเภทแล้ว อย่าลืมลองสำรวจตัวเราเองดูนะครับว่า ตกลงแล้วชีวิตเรามีความเหมาะสมหรือความจำเป็นที่จะต้องทำประกันชีวิตประเภทไหน และประกันชีวิตที่เราทำไปแล้ว ตอบโจทย์ชีวิตเราหรือไม่ หากไม่แล้ว ก็อาจจะต้องมาบริหารกรมธรรม์กันใหม่ครับ ;)

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะคร้าบบบบบ ^^