“ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวได้

แต่ยากที่จะคาดเดาความบ้าคลั่งของมนุษย์”

คำพูดของเซอร์ไอแซ็ค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้โด่งดัง หนึ่งในผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากความบ้าคลั่งของตลาดหุ้นที่เริ่มต้นจากบริษัท South Sea Company วิกฤตฟองสบู่ครั้งนี้สร้างความรุนแรงในวงกว้างให้กับสหราชอาณาจักร ประเทศมหาอำนาจในอดีต เช่นเคย.. แม้จะมีการศึกษา หรืออยู่ในชนชั้นสูงแค่ไหนก็ตาม แต่ความโลภไม่เคยปราณีใคร

ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ถือเป็นยุครุ่งเรืองในการแผ่ขยายอำนาจของจักวรรดิอังกฤษ เป็นช่วงเวลาแห่งความมั่งคั่งที่ประชาชนส่วนใหญ่มองหาแหล่งลงทุนให้กับเงินที่หามาได้จากการค้าขายและใช้แรงงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สงครามแย่งชิงผืนแผ่นดินกระจายตัวอยู่ทั่วโลก (ป.ล. อังกฤษรวมประเทศกับสก๊อตแลนด์เป็นสหราชอาณาจักรในปี 1707)

ปี 1711 South Sea Company (SSC) ก็ถูกก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มจากนายโรเบิร์ต ฮาร์เลย์ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งคล้ายๆ กับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยนั้น มองเห็นว่างบดุลของสหราชอาณาจักรไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ เพราะมีหนี้สินตัวแดงสูงมาก

สาระ: ตัวเลขหนี้สินตัวแดง ณ ตอนนั้นเพิ่งจ่ายครบไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง (ใช้เวลาไป 300 กว่าปี)

คงนึกภาพภาระอันหนักอึ้งของฮาร์เลย์ไม่ออก เพราะสิ่งแรกที่เขาต้องเผชิญภายหลังเข้ารับตำแหน่งก็คือจัดการกับหนี้สินก้อนโตที่ใช้ไปกับในการทำสงครามกับสเปนและฝรั่งเศส นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งการเมืองสมัยนั้นแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ TORY (อนุรักษ์นิยม) และ WHIG (เสรีนิยม) ตัวของฮาร์เลย์เองอยู่ฝ่าย TORY ก็เป็นคู่ปรับกับธนาคารกลางของอังกฤษซึ่งก่อตั้งและควบคุมโดยฝ่าย WHIGการจะขออนุมัติเงินสำหรับการชำระหนี้ก็ดูจะทำได้ยากสำหรับเขา ณ เวลานั้น

SSC ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือหนี้สินของรัฐบาล โดยบริษัทจะรับซื้อพันธบัตรและหนี้สินระยะสั้นของรัฐบาล แล้วลดอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายลง โดยกำหนดให้รัฐบาลสามารถจ่ายคืนหนี้สินนั้นได้ในระยะยาว ซึ่งการช่วยเหลือนี้ก็ต้องแลกมาด้วยสัมปทานการค้าขายที่ทะเลทางตอนใต้ของอเมริกาใต้ ซึ่งท่าเรือต่างๆอยู่ในการปกครองของสเปนทั้งหมด

ในปี 1713 บริษัทได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการชักชวนประชาชนที่ถือครองพันธบัตรหรือหนี้ระยะสั้นของรัฐบาล เอามาแลกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SSC ล้อตแรกจำนวน 10 ล้านปอนด์ โดยรัฐบาลจะตอบแทนบริษัท SSC ด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 10 ล้านปอนด์ให้ และจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทในอัตรา 6% ทุกปี ทำให้การันตีได้ว่า SSC จะมีรายได้จากดอกเบี้ยรับปีละ 600,000 ปอนด์ทุกปี

ถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาชดใช้ ?

รัฐบาลอังกฤษคาดหวังกับการเก็บภาษีนำเข้าจากอเมริกาใต้ ที่ทาง SSC ได้สัมปทานไปนั่นแหละ โดยจะเอาภาษีที่เก็บได้มาจ่ายให้กับ SSC ทุกปีๆ ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า SSC ได้ทำธุรกิจค้าขาย และมีรายได้เป็น Recurring Income จากการรับดอกเบี้ยด้วย แถมยังช่วยให้รัฐบาลลดภาระดอกเบี้ยลงได้อีกด้วย อะไรๆก็ดูดีไปหมด

ในปี 1717 รัฐบาลก็ทำเหมือนเดิมกับการแปลงหนี้สินจำนวน 2 ล้านปอนด์ให้เป็นหุ้นสามัญของ SSC และในปี 1719 บริษัท SSC ก็เสนอดีลให้กับรัฐบาลในการขอซื้อหนี้สินเกือบทั้งหมดของรัฐบาล ตีมูลค่าได้ 30 ล้านปอนด์ โดยบริษัทเพิ่มทุนมาแลกกับหนี้สินจำนวนนี้ และจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ตามสัญญาซึ่งระบุไว้ที่ 5% ต่อปีจนถึง 1727 และหลังจากนั้นจะปรับเหลือ 4% ต่อปี...

งงมั้ย ทำไมบริษัทใจดีขนาดนั้น ปกติมีแต่ปรับเพิ่มไม่ใช่หรอ?

เมื่อจำนวนหุ้นในมือของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้น สภาพคล่องก็มากขึ้น การซื้อขายก็ง่ายขึ้น ราคาหุ้นก็ต้องสูงขึ้นตามกันไป เพราะในขณะนั้นการจะแปลงสิทธิ์จากพันธบัตรมาเป็นหุ้น SSC ต้องมีราคาที่เหมาะสมกับราคาใช้สิทธิ์ในการแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “รายใหญ่” อย่างรัฐบาลและผู้ถือหุ้นเริ่มแรกของบริษัทจะต้องปล่อยข่าวดีออกมาปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้น

อย่าลืมว่าบริษัทมีสัมปทานในการค้าขายที่ทะเลทางใต้หรือ “ขุมทรัพย์แห่งโลกใหม่” การปล่อยข่าวดีว่าบริษัทมีการค้าขายที่ดีมากๆ ออกมาในช่วงนั้น ทำให้อุปสงค์ของหุ้น SSC มีมากขึ้นจนเกิดซื้อขายกันอย่างบ้าคลั่ง ในเดือนมกราคมปี 1720 ราคาหุ้นอยู่ที่ 128 GBP ขยับขึ้นไปที่ 175 GBP ในเดือนกุมภาพันธ์ และโตขึ้นอีกเกือบเท่าตัวในปลายเดือนมีนาคม ที่ราคา 330 GBP

หุ้น SSC เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจนราคาพุ่งขึ้นมาแตะ 550 GBP ในเดือนพฤษภาคม เมื่อกลุ่มราชวงศ์อังกฤษและรัฐสภาอนุมัติให้บริษัทกู้เงินจำนวน 70 ล้านบาทสำหรับขยายกิจการเพื่อการเติบโต ความคาดหวังจากนักลงทุนจึงสูงขึ้น เพราะคิดว่าหุ้นตัวนี้จะเติบโตต่อไปในระยะยาว

การปั่นราคายังไม่จบลงเพียงแค่การปล่อยข่าวลือ เมื่อบริษัท SSC ขายหุ้นให้กับกลุ่มชนชั้นสูงเจ้าขุนมูลนาย เพื่อเพิ่มเครดิตให้กับบริษัทตัวเองว่ามีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มคนมีชื่อเสียง ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป โดยกลุ่มคนเหล่านั้นยังไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อชำระราคาในทันที ถ้าได้กำไรเมื่อไหร่ค่อยขายคืนบริษัท ได้ใจนักลงทุนทุกกลุ่มไปเต็มๆ

ในปี 1720 นั้นเป็นปีที่มีบริษัทขนาดเล็กผุดขึ้นมามากมาย เป็นที่รู้จักกันในนาม “ปีของฟองสบู่” มีโอกาสการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้น จนรัฐสภาต้องออก พ.ร.บ.ฟองสบู่ขึ้นมาบังคับ จนไม่มีโอกาสที่บริษัทใหม่จะก้าวเข้ามาแข่งขันได้ ยิ่งทำให้บริษัทใหญ่อย่าง SSC ถูกดันราคาขึ้นไปสูงถึง 1,050 GBP ในปลายเดือนมิถุนายน

แต่กิจกรรมหลักของบริษัทอยู่ที่สัมปทานการค้าที่ทะเลทางตอนใต้ เราไปดูที่แก่นธุรกิจของมันดีกว่า...

ความจริงแล้วสัมปทานที่ SSC ได้มาจากรัฐบาลนั้นมีข้อจำกัดจาก “สนธิสัญญาอูเทรคต์” ที่ใช้ยุติสงครามในปี 1713 (ตั้งแต่ตอนที่ดีลล้อตแรกถูกปล่อยออกมาแลกกับสัมปทานนั่นแหละ) โอกาสทางการค้าของ SSC มีน้อยมาก ในทุกท่าเรือที่สเปนครอบครองอยู่ SSC สามารถส่งเรือไปเจรจาค้าขายได้เพียงปีละ 1 ลำเท่านั้น จึงนำทาสไปขายให้กับอาณานิคมได้น้อยกว่าที่คิด ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1717 ความสัมพันธ์ของสเปนกับอังกฤษก็ดูแย่ลง ทำให้การค้าต่างๆทรุดลงไปด้วย

เมื่อความจริงเริ่มแพร่กระจาย การที่บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้จากธุรกิจหลัก การนำของมาค้าขายน้อยกว่าที่คาดก็ทำให้ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้น้อยลง รัฐบาลไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับ SSC ได้ตามสัญญา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็สูญสิ้น

การ “ทิ้งของ” ของนักลงทุนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนสิงหาคมราคาหุ้น SSC ร่วงไปต่ำกว่า 800GBP และทิ้งดิ่งสู่ 175 GBP ในเดือนกันยายน ทำให้บุคคลทั่วไปและสถาบันการเงินทั้งหลายล้มละลายจากการลงทุนครั้งนี้

ในปี 1721 การสืบสวนอย่างเป็นทางการทำให้พบเครือข่ายคอร์รัปชั่น การติดสินบน และการโกงมากมาย นำไปสู่การฟ้องร้องตัวละครสำคัญหลายคนในเรื่องนี้ทั้งฝ่ายบริษัทและรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นบทเรียนครั้งนี้ส่งผลเสียหายกับความน่าเชื่อถือของราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะกษัตริย์อย่าง พระเจ้าจอร์จที่หนึ่ง

นี่ถือเป็นบทเรียนชีวิตครั้งใหญ่ที่ เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องไปนั่งใต้ต้นแอปเปิ้ล...

เพียงแค่นำเงินไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นเท่านั้นเอง