ในส่วนของแบบประกันชีวิตทั้งหมด “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” อาจจะเป็นประกันชีวิตแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันน้อยที่สุด หรือไม่ก็คิดว่าไม่น่าสนใจ เพราะต้องจ่ายเบี้ยระยะยาว แถมกว่าจะได้เงินคืน ต้องรอไปจนถึงตอนเกษียณ

“แต่หากพิจารณาให้ดีๆจะพบว่า ประกันชีวิตแบบบำนาญเองนั้น
ก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ไม่แพ้ประกันชีวิตแบบอื่นๆเลย”

ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประกันบำนาญกันอย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้น รวมถึงจุดเด่นและข้อจำกัด เพื่อดูว่าประกันบำนาญนั้นมีประโยชน์อย่างไร และเหมาะกับเป้าหมายของเราหรือไม่ กันดีกว่า

ประกันบำนาญคืออะไร ?

ประกันบำนาญ หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ คือประกันชีวิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นประเภทที่ “เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง” ทำนองเดียวกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มักจะมีผลตอบแทนหรือ “เงินคืน” ทยอยจ่ายคืนมาให้ระหว่างช่วงเวลาที่อยู่ในสัญญาความคุ้มครอง แต่ประกันบำนาญ จะไม่มีเงินคืนให้ระหว่างทาง แต่จะจ่ายคืนให้เป็น “เงินบำนาญ” ให้เราเป็นจำนวนเท่าๆกันทุกปี ตั้งแต่เริ่มเกษียณ (ตอนอายุ 55 60 หรือ 65 ปี) ไปจนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี แทน โดยที่เราต้องจ่ายเบี้ยตั้งแต่เริ่มทำประกัน ไปจนถึงปีสุดท้ายก่อนถึงอายุเกษียณ หรืออาจจะจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาที่แบบประกันกำหนด (เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี) แล้วแต่แบบประกันของแต่ละบริษัท

ในส่วนของความคุ้มครองชีวิต หากเสียชีวิต ช่วงก่อนจะเกษียณ ก็จะได้เงินชดเชยที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายมาแล้วทั้งหมดเล็กน้อย (โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นจากทุนประกัน หรือเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมาแล้ว) หรือจ่ายมูลค่าเวนเงินสดกรมธรรม์ที่มีอยู่ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่า (แต่จะมากกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมาแล้วอย่างแน่นอน) หากเสียชีวิต ช่วงหลังเกษียณ ก็จะได้เงินชดเชยเป็นมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญส่วนที่ยังไม่ได้รับ (ซึ่งจะการันตีว่าอย่างน้อยต้องได้รับกี่ปี เช่น 10 ปี หรือ 15 ปี แล้วแต่แบบประกัน) หรือเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมา หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว ซึ่งก็แล้วแต่แบบประกันอีกเช่นกัน

ตัวอย่างลักษณะของประกันบำนาญ

จากตัวอย่าง เป็นประกันชีวิตแบบบำนาญของบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ที่ชื่อว่า iRetire 1 และ iRetire 5 ซึ่งเป็นประกันบำนาญที่มีจุดเด่นอยู่ที่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยระยะยาว

โดยที่ iRetire 1 จ่ายเบี้ยเพียงแค่ 1 ปี แล้วไปรอรับเงินบำนาญได้เลย โดยจะมีเงินบำนาญคืนให้ปีละ 5% ของทุนประกัน ตั้งแต่อายุ 60-85 ปี เหมาะกับคนที่มีเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แล้วจะนำมาเตรียมไว้เพื่อการเกษียณ 

ส่วน iRetire 5 ก็จ่ายเบี้ยเพียงแค่ 5 ปี แล้วไปรอรับเงินตอนเกษียณเช่นกัน โดยจะมีเงินบำนาญคืนให้ 20% ของทุนประกัน ตั้งแต่อายุ 60-85 ปี เช่นกัน เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการมีภาระจ่ายเบี้ยยาว ก็สามารถมีเงินเกษียณตามที่วางแผนไว้ได้

ส่วนของความคุ้มครองชีวิต ทั้ง iRetire 1 และ iRetire 5 ก็จะมีลักษณะความคุ้มครองที่เหมือนกัน คือหากเสียชีวิตช่วงก่อนจะรับบำนาญ จะได้รับเงินชดเชย ที่ถูกคิดจาก 3 วิธี แล้วแต่ว่า วิธีไหนคิดแล้วจำนวนเงินมากที่สุด ก็จะจ่ายเงินตามจำนวนนั้น คือ

  1. 200% ของทุนประกัน (เช่น ทุนประกัน 1,000,000 บาท หากเสียชีวิตก็จะคิดเป็นเงิน 2,000,000 บาท)
  2. 110% ของเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมาแล้ว (เช่น จ่ายเบี้ยปีละ 200,000 บาท รวมค่าปี คือ 1,000,000 บาท หากเสียชีวิตก็จะคิดเป็นเงิน 1,100,000 บาท
  3. มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ (เช่น ในปีนั้น มีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ อยู่ 1,500,000 บาท)

ถ้าเป็นแบบนี้ ในกรณีนี้ก็จะใช้วิธีจ่ายแบบ 200% ของทุนประกัน เพราะได้จำนวนเงินมากที่สุด

ส่วนหากเสียชีวิตช่วงรับเงินบำนาญ ก็จะจ่ายเงินชดเชยเป็นมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญส่วนที่ยังไม่ได้รับ หรือเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมา หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่านั่นเอง

จากรูปแบบนี้ก็จะเห็นว่า ประกันบำนาญ iRetire ก็ถือเป็นประกันบำนาญรูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัวพอสมควรในการวางแผนทำประกันสำหรับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณ โดยอยากให้เงินส่วนหนึ่งถูกเก็บในที่ที่ปลอดภัย และได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน ปลอดความเสี่ยงให้อุ่นใจ แต่ไม่ต้องการภาระผูกพันในการจ่ายเบี้ยระยะยาว ก็สามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายเบี้ยแบบครั้งเดียวจบ แต่อาจจะใช้เงินก้อนใหญ่กว่า หรือทยอยจ่าย 5 ปี แต่ใช้เงินออมแต่ละปีน้อยกว่า แล้วแต่กำลังความสามารถในการออมหรือการจ่ายเบี้ยของแต่ละคน โดยที่ถ้าจ่ายเบี้ยครบแล้ว ก็สามารถทยอยซื้อเพิ่มได้อนาคต หากต้องการเงินบำนาญเพิ่ม ก็สามารถทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เงินคืนภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลดหย่อนภาษีสูงสุด 2 แสน สำหรับ iRetireหากใครสนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ลิ้งนี้ได้เลยครับ http://bit.ly/2CHSoyJ

ข้อจำกัดและจุดเด่นของประกันบำนาญ

ข้อจำกัดของประกันบำนาญ ก็คือ เป็นการออมระยะยาว ที่ต้องไปรอผลตอบแทนเป็นเงินบำนาญตอนเกษียณอีกหลายปี ทำให้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ต้องการออมสำหรับเป้าหมายการออมระยะสั้น-กลาง และความคุ้มครองชีวิตอาจจะไม่สูงมากนัก จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องการทำประกันชีวิตแบบเน้นคุ้มครองภาระการเงินเป็นหลัก

แต่จุดเด่นของประกันบำนาญ ก็คือ เป็นการออมเงินที่การันตีเงินได้ตอนเกษียณอายุ ซึ่งเป็นเป้าหมายออมเงินระยะยาวที่ต้องอาศัยวินัยในการออมสูง ดังนั้น เมื่อทำประกันบำนาญ เราจึงแน่ใจได้เลยว่า เราจะมีเงินใช้ตอนเกษียณแน่ๆส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน แบบไม่ต้องเสี่ยง ซึ่งประกันบำนาญหลายๆแบบ อาจจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่แน่นอนอยู่ในช่วง 2-4% ต่อปี (แล้วแต่แบบประกัน) จึงเหมาะใช้เป็นเงินเกษียณส่วนหนึ่งที่ต้องการความปลอดภัยในระยะยาว สำหรับคนที่ต้องการวางแผนเก็บเงินเกษียณ อีกทั้งยังได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ในช่วงก่อนเกษียณสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายออมในทุกๆปีอีกด้วยด้วย ต่างจากเครื่องมืออื่นที่เป็นการลงทุน ที่อาจจะมีความผันผวนของผลตอบแทน และอาจจะไม่มีผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม

สิทธิในการลดหย่อนภาษีของประกันบำนาญ

เบี้ยประกันที่เราจ่ายทุกปีเพื่อทำประกันบำนาญ สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงกว่าเบี้ยประกันชีวิตแบบอื่นได้สูงสุดถึง 2 เท่า (เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท แต่เบี้ยประกันบำนาญใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท) ทำให้เราเสียภาษีน้อยลง หรืออาจจะได้เงินคืนภาษีกลับมา ดังนั้นเท่ากับว่า การทำประกันบำนาญ จะทำให้เราได้ผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ ต่อแรกก็คือ เราได้ผลตอบแทนเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณ ต่อที่สอง คือเราได้ผลตอบแทนในรูปของรายจ่ายภาษีที่ลดลงหรือเงินคืนภาษี เท่ากับว่า เบี้ยประกันที่เราจ่ายไป ไม่ได้หายไปไหน แต่เป็นเงินออมที่เราจะได้เอาไว้ใช้หลังเกษียณ พร้อมทั้งช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลงอย่างถูกต้องอีกด้วย โดยที่เงื่อนไขในการนำเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีก็คือ

  1. เบี้ยประกันนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินลงทุนหรือเงินสะสมในเครื่องมือออมเงินเพื่อการเกษียณ อย่าง RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
  2. หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตแบบทั่วไป ยังไม่เต็ม 100,000 บาท สามารถใช้เบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนในส่วนของโควต้าเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ (ดังนั้น หากไม่มีเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย เบี้ยประกันบำนาญจะนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท)
  3. ต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองเกิน 10 ปีขึ้นไป มีการจ่ายเงินผลประโยชน์คืนทุกปี ตั้งแต่ตอนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี หลังจากจ่ายเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปีนี้เรามีรายได้ 500,000 บาท เราจะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันบำนาญได้ไม่เกิน 500,000 x 15% = 75,000 บาท ถ้าสมมติเราเสียภาษีอยู่ที่ขั้นภาษีที่อัตรา 10% ก็เท่ากับว่า เราจะสามารถประหยัดภาษีไปได้อย่างน้อย 75,000 x 10% = 7,500 บาทต่อปี

หรือสมมติ ถ้าเรามีรายได้ทั้งปี 2,000,000 บาท แล้วเราซื้อประกันบำนาญไป 400,000 บาท โดยไม่เคยซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย จะสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันบำนาญได้สูงสุด 2,000,000 x 15% = 300,000 บาท แต่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ก็ใช้สิทธิ์ได้แค่ 200,000 บาท และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันชีวิตแบบทั่วไปได้อีก 100,000 บาท รวม 300,000 บาท (ซื้อ 400,000 บาท แต่เอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท) ถ้าเสียภาษีในขั้นอัตรา 25% ก็เท่ากับว่าจะประหยัดภาษีไปได้ปีละ 300,000 x 25% = 75,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

สรุปส่งท้าย

จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้วประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากจะช่วยให้เรามีเงินเกษียณอย่างแน่นอนก้อนหนึ่งในทุกๆปี โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยง แถมยังได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 200,000 บาทในทุกๆปี พร้อมกับมีความคุ้มครองชีวิตให้อีกส่วนหนึ่งแล้ว การวางแผนออมเงินเกษียณโดยใช้ประกันบำนาญ ก็ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราอุ่นใจได้ว่า เราจะสามารถออมเงินในระยะยาวได้แน่ๆ โดยไม่ล้มเลิกไปก่อนระหว่าง เพราะการทำประกันเป็นเครื่องมือการออมเชิงบังคับ ทำให้เรามีวินัยในการออม เก็บเงินอยู่ ทำให้เรามีนิสัยทางการเงินที่ดีขึ้น และหากจากไปก่อน เราก็ยังอุ่นใจได้ว่า เงินออมของเราก็จะไม่หายหรือขาดทุน เพราะมีความคุ้มครองชีวิตให้ตลอดทางระหว่างออมด้วยนั่นเอง

รู้แบบนี้แล้ว ใครที่กำลังวางแผนเกษียณ ก็ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใช้ประกันบำนาญเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการออม ก็มีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

บทความนี้เป็น Advertorial