ก่อนอื่นเลย ผมต้องกราบขออภัยทุกท่านที่ผมไม่ได้เขียนบทความใหม่ ๆ ออกมา เนื่องจากงานที่รัดติว (รัดตัว !! เล่นเองแก้เอง..) ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหนังสือเล่มใหม่ งานบรรยาย งานอื่น ๆ อีกมากมาย จึงห่างหายกันไปนานกับการเขียนบทความใน Aommoney จนหลาย ๆ คนคิดว่าผมลาออกจากออมมันนี่ไปแล้ว หลัง ๆ มีข่าวลือกันว่าผมตายไปแล้ว เห็นบางท่านจุดธูปเชิญผมให้ออกมาด้วย….

แต่….ยังครับ ยังไม่ตายไปไหนง่าย ๆ เพราะยังรักคนอ่านทุกท่านอยู่ (เอาใจกันน่าดู) และถ้าไม่มีผมแล้วใครจะเขียนบทความให้คนอ่านทุกท่านละครับ…..

…….หลายท่านคงพูดพร้อมกันว่า “ มี ”.....(T-T)

เฮ่อ….เข้าเรื่องเลยกว่า....ในวันนี้ผมจะมาเล่าถึงการจัดพอร์ตกองทุนให้หายคิดถึงกัน โดยเราจะมาพูดถึงการจัดพอร์ตกองทุนแบบง่าย ๆ สบาย ๆ แต่รับรองว่า ผลที่ได้ ไม่น้อยหน้าใครทั้งนั้นครับ

แต่พอพูดถึง การจัดพอร์ต หลาย ๆ ท่านก็สงสัยว่าคืออะไร ผมขออธิบายสั้น ๆ แบบนี้ครับ การจัดพอร์ตการลงทุนคือ การแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาฯ กองทุนทองคำ หรือจะลงทุน กองทุนหุ้นต่างประเทศก็ได้ (กระจายการลงทุนมันออกไป อย่าเอามาไว้รวมกัน)

ตัวอย่างเช่น เรามีเงิน 100 บาท โดยเอาเงิน 60 บาทไปลงทุนในกองทุนหุ้น และ 40 บาท ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ครับ ทั้งนี้ที่ต้องมีการจัดพอร์ตก็เพราะว่า จะช่วยทำให้เรากระจายความเสี่ยงได้ดี ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่แกว่ง หรือ ผันผวนมากจนเกินไป (ผันผวนน้อยก็ดีกว่า จะได้ไม่เครียดไงครับ และสามารถปรับระยะเวลาการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายได้อีกด้วย)

โดยปกติเรามักจะเห็นภาพการจัดพอร์ตที่เป็นแบบ คงสัดส่วนอย่างคงที่ไว้ ตามอายุ หรือ เป้าหมายการลงทุนของเรา หรือที่เราเรียกว่า Strategic Asset Allocation (SAA) กันนั้นเอง ซึ่งต้องมีการติดตาม และการปรับให้สัดส่วนคงที่อยู่ตลอดทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อที่จะทำให้ความเสี่ยงที่เรารับได้ไม่เปลี่ยนไป (แน่นอนว่าลงทุนนาน ๆ พอร์ตในส่วนกองทุนหุ้นมันจะบวมมากขึ้น เพราะว่ามีผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ครับ) เช่น อยู่ไปนาน ๆ จากหุ้น 60 % อาจจะขยายเป็น 70% ก็เป็นไปได้

แต่ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะเบื่อรูปแบบเดิม ๆ และ อยากจะมีผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นในบางช่วงเวลา ปัจจุบันที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะมีการให้เทคนิคมากมายเข้ามาช่วย หรือเราจะเรียกว่า Tactical Asset Allocation (TAA) ตัวอย่างเช่น Core and Stellite คือมีพอร์ตหลัก เป็น SAA และ มีกองทุนที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีมากขึ้นมาเพิ่มเติมลงไปในพอร์ต (เหมือนดาวเทียมที่ลอยอยู่รอบ ๆ ตามชื่อ) หรือ บางคนก็อาจจะจับจังหวะในการลงทุนโดยใช้กราฟเทคนิคเข้ามาช่วย หรือ มีการปรับพอร์ตตามธีมในแต่ละปี หรือ จะมี Rebalance สัดส่วนในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งการจัดพอร์ตยังมีวิธีอีกมากมายก่ายกอง บางคน advance มาก ๆ ก็มีการใช้ model ทางสถิติมาคำนวนกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเทพสุด ๆ คุยกันได้เป็นวัน ๆ

ส่วนการจัดพอร์ตด้วย กองทุน Flexible ที่ผมจะคุยต่อไปนี้  ไม่ได้ซับซ้อนอะไร และคิดว่าน่าจะทำให้ทุกท่านประหยัดเวลาในการติดตามข่าวสาร หรือ ไม่ต้องปรับพอร์ตเองบ่อย ๆ ตามสภาวะของตลาดหุ้น เศรษฐกิจ การเมือง การงาน และความรัก(ไม่ใช่แล้ว !! ไม่ใช่มาดู ไพ่ยิปซี) เพราะว่าถ้าปรับเองบ่อย ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมแพงมากขึ้น และการปรับพอร์ตตามภาวะ หรือ จับจังหวะลงทุนนั้นบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้เราได้กำไรมากขึ้นเท่าไหร่ แน่นอนว่าอาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นอีกด้วย

ซึ่งการทำ Asset allocation ด้วยกองทุนแบบ ผสมยืดหยุ่น (Flexible Fund) นั้นจะช่วยได้เราสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องจับจังหวะเอง (หรือ คิดไปเอง) ว่าจะปรับพอร์ตอย่างไร

แต่ก่อนจะไปถึงวิธีการขออธิบายเพิ่มสักนิด Flexible Fund ก็คือ กองทุนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนหุ้น กับ ตราสารหนี้ในพอร์ตได้ ตั้งแต่ หุ้น 100 % ตราสารหนี้ 0%  ถ้าผู้จัดการกองทุนเห็นว่าตลาดหุ้นน่าสนในในการลงทุน แต่พอในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี อาจจะเห็นกองทุนปรับสัดส่วนเป็น หุ้น 0 % และตราสารหนี้ 100 % ก็เป็นไปได้ครับ ดังนั้นเราก็จะอาศัยจุดนี้ มาช่วยทำให้พอร์ตของเราปรับเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อยากรู้แล้วสินะครับว่า จะทำอย่างไร ? ตามมาเลยครับ

วิธีการนั้นก็ง่ายแสนง่ายครับ เพียงแค่ปรับสัดส่วน หรือ ปรับพอร์ตใหม่ ให้มี Flexible Fund อยู่ด้วยเท่านั้นเองครับ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ดูได้ตาม infographic ด้านล่างเลยครับ

เห็นไหมครับว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นดี กองทุน Flexible fund นั้นจะปรับสัดส่วนในกองทุนให้มีหุ้นทั้งหมดในส่วนของ Flexible Fund จนทำให้พอร์ตรวมทั้งหมดกลายเป็นพอร์ตเชิงรุกมากขึ้น

* คือ มีหุ้น 60 %(มาจากกองทุนผสม 20 %) + ตราสารหนี้ 40 %

ส่วนถ้าตอนไหนเศรษฐกิจไม่ดีละก็ กองทุน Flexible fund นั้นจะปรับสัดส่วนให้มีตราสารหนี้มากขึ้น จนกลายเป็นพอร์ตเชิงรับ หรือ มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น

** คือ  หุ้น 40 % + ตราสารหนี้ 60 %(มาจากกองทุนผสม 20 %)

หรือถ้าชอบการโยกย้ายพอร์ตแบบแรง ๆ หน่อย ก็อาจจะปรับสัดส่วนใหม่ให้เป็น กองทุนหุ้น 30% กองทุนตราสารหนี้ 30% และ กองทุน Flexible เป็น 40%  เผื่อที่เวลาตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น สัดส่วนทั้งหมดจะกลายเป็น หุ้น 70 %(มาจากกองทุนผสม 40 %) + ตราสารหนี้ 30% นั่นเอง และในทางกลับกันถ้าตลาดเป็นขาลง ก็จะเห็นหุ้นเหลือแค่ 30 % + ตราสารหนี้ 70% (มาจากกองทุนผสม 40 %)

เห็นไหมครับว่า สะดวกสบายขึ้นเยอะ ไม่ต้องมานั่งปรับสัดส่วนตามภาวะตลาด และเศรษฐกิจเอง ซึ่งในใจหลายคนในตอนนี้ คงคิดว่าทำไมไม่ใช้กองทุน Flexible Fund กองเดียวไปเลย จะได้ไม่ต้องยุ่งยาก จริง ๆ ก็ทำได้นะครับ แต่ว่ามันจะวัดผลยาก ไม่มีตัวเปรียบเทียบ เพราะว่ากองทุน Flexible Fund แต่ละกองทุน จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่เหมือนกันเลย แล้วเราจะดูได้อย่างไรว่า กองทุนที่เราถือนั้น ทำผลตอบแทนได้ดีหรือไม่ ดังนั้นโดยส่วนตัว ผมมองว่าเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับพอร์ตดีกว่าที่จะเอามาถือในระยะยาวมาก ๆ แต่ถ้าไม่มีเวลาดูพอร์ตจริง ๆ ก็สามารถทำได้นะครับ ผมไม่ได้ห้ามทำ แต่ให้ดูที่ความเหมาะสมจะดีที่สุดครับ