สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต แต่ก็กำลังจะถึงคิวที่จะต้องตรวจสุขภาพประจำปี อาจมีคำถามว่า เราควรไปตรวจสุขภาพก่อนทำประกันไหม? เพื่อให้ทราบสถานะความพร้อมของสุขภาพตัวเอง เวลาทำประกันจะได้ทำอย่างถูกต้อง หรือไม่ต้องไปตรวจ แล้วไปทำประกันเลย เพราะยังไงเสียบริษัทประกันก็อาจจะต้องเรียกตรวจสุขภาพอีกครั้งอยู่ดี แล้วการไปตรวจก่อน หรือหลังทำประกัน มันจะมีผลต่อการพิจารณารับทำประกันหรือไม่ อย่างไร?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจหลักการรับ หรือปฏิเสธการทำประกัน หรือการคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองโรคบางโรค ของบริษัทประกันก่อนว่า มีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และได้สิทธิประโยชน์สูงสุด โดยไม่ผิดเงื่อนไข

ซึ่งหลักการรับทำประกันหรือรับคุ้มครองโรค โดยทั่วไปของบริษัทประกันก็มีอยู่ว่า บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะรับคุ้มครอง แต่จะถูกเพิ่มเบี้ยประกัน หากมีตัวเลขทางสุขภาพบางอย่างที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป (เช่น ความดันโลหิต หรือระดับน้ำตาลในเลือด)  และอาจจะปฏิเสธการรับทำประกันเลย หากมีโรคประจำตัวที่เข้าข่ายโรคอันตรายร้ายแรง เช่น มะเร็ง, หลอดเลือดในสมองตีบ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น โดยที่บริษัทประกันจะถือเอาหลักฐานจากคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือประวัติการรักษาในโรงพยาบาลที่เราเคยไปรักษาทุกแห่ง รวมถึงการตอบคำถามสุขภาพในใบคำขอเอาประกันที่เราได้แถลงไว้ เป็นหลักฐานในการตัดสิน

ดังนั้น หากเราไม่เคยเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยมีประวัติการรับการรักษาใดๆ หรือ เคยมีประวัติรับการรักษา หรือผลการตรวจสุขภาพ แต่ผลออกมาเป็นปกติ ไม่มีอะไรที่ต้องน่ากังวลเป็นพิเศษ แต่กำลังจะทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต และใกล้จะถึงคิวต้องตรวจสุขภาพ ก็ขอแนะนำว่า “ให้สมัครทำประกันก่อน แล้วจึงค่อยไปตรวจสุขภาพทีหลัง” เนื่องจากสถานะปัจจุบันของเรา คือคนที่มีประวัติสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้น จึงมีโอกาสทำประกันผ่าน และได้รับความคุ้มครองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่า ในขณะนั้น เราอาจจะกำลังเป็นโรคบางอย่างอยู่ โดยที่เราไม่รู้ตัวก็ตาม (เพราะไม่มีประวัติตรวจพบโรคนี้มาก่อน และเราไม่รู้ตัวจริงๆ ดังนั้นบริษัทประกันก็ยังคงคุ้มครอง หากอาการเจ็บป่วย แสดงอาการออกมาหลังระยะเวลารอคอยโรค ที่บริษัทประกันกำหนดไว้ ในช่วง 30-120 วัน แล้วแต่โรค) หากตรวจร่างกายก่อนทำประกัน แล้วดันไปพบโรคที่เพิ่งเป็นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีประวัติมาก่อน ก็กลายเป็นว่าเราจะกลายเป็นคนมีประวัติสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพิจารณารับทำประกันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีประวัติสุขภาพที่เป็นปกติ ไม่เคยมีประวัติระบุว่าเป็นโรคร้ายแรงหรือมีโรคประจำตัวมาก่อน และบริษัทประกันรับทำประกันและให้ความคุ้มครองตามปกติ รวมถึงผ่านช่วงระยะเวลารอคอยมาจนครบเงื่อนไขแล้วก็ตาม แต่หากเราเกิดการเจ็บป่วยจากโรคที่บริษัทประกันระบุว่า ต้องมีระยะเวลารอคอย แม้จะหามาโรงพยาบาลหาคุณหมอ หลังพ้นช่วงระยะเวลารอคอยแล้ว (เช่น พ้นมา 3 วัน) แล้วเราแจ้งคุณหมอว่า เราเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว มาประมาณ 1 สัปดาห์ แบบนี้ บริษัทประกันก็มีสิทธิ์จะยกเลิกความคุ้มครองและปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยการรักษาโรคนั้นได้อยู่ดี เนื่องจากจะถือว่า การเจ็บป่วยเริ่มแสดงอาการขณะที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลารอคอย (นับย้อนหลังกลับไป 7 วัน) ซึ่งก็จะไปเข้าเงื่อนไขของการผิดเงื่อนไขในช่วงระยะเวลารอคอยอยู่ดี

นอกเหนือจากนี้ การเจ็บป่วยใดๆที่เกิดจาก “โรค” ทำให้เราต้องขอใช้สิทธิ์เบิกเคลมค่ารักษา ภายใน 2 ปีแรก นับตั้งแต่เริ่มทำประกัน เงื่อนไขที่บริษัทประกันทุกบริษัทนำมาใช้เหมือนกันหมดก็คือ ผู้ทำประกันต้อง “สำรองจ่าย” ค่ารักษาไปก่อน เนื่องจากหากเจ็บป่วยจากโรค บริษัทประกันจะต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดจากโรคที่เป็นมาก่อนเอาไว้ก่อน (แม้เราจะแถลงไปว่าไม่มีโรคประจำตัว และผ่านพ้นช่วงระยะเวลารอคอยมาเกิน 120 วันแล้วอยู่ดี) และจะขอไปสืบตรวจประวัติให้เรียบร้อยก่อน หากเป็นไปตามเงื่อนไข บริษัทประกันก็จะจ่ายเช็คสินไหมชดเชยตามหลังมาให้ แต่หากเป็นการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ และ/หรือจากโรคที่เกิดหลัง 2 ปีนับตั้งแต่เริ่มทำประกันไปแล้ว บริษัทประกันจึงจะจ่ายเงินคุ้มครองโดยการ Fax Claim ให้ได้ทันที

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องระมัดระวัง และควรจะศึกษาเงื่อนไขให้เข้าใจอย่างชัดเจน รวมถึงวางแผนการทำประกันเอาไว้ให้ดี ทุกครั้งก่อนจะตัดสินใจทำประกันนะครับ