สำหรับใครที่ศึกษาประกันชีวิตกันมาบ้าง คงพอจะทราบว่า หัวใจหลักของการทำประกันชีวิตนั้น คือการ “คุ้มครองภาระการเงิน” เพื่อไม่ให้ใครต้องมารับผิดชอบภาระแทน หากเราเกิดเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากหากเราทำประกันชีวิตไว้ เมื่อเสียชีวิต คนข้างหลังที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามที่เราระบุชื่อ ก็จะได้รับเงินทุนประกันตามจำนวนที่เราเลือกทำเพื่อคุ้มครองชีวิตไป เพื่อนำไปจัดการกับภาระการเงินที่มีอยู่ได้

ซึ่งในที่นี้ คำว่า “ภาระการเงิน” อาจจะหมายถึง “ความรับผิดชอบทางการเงิน” ใดๆที่เราต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านั้น และต่อให้เราจากไปแล้ว ความรับผิดชอบนี้ก็ยังไม่หายไปไหน แต่จะต้องมีคนอื่นมารับผิดชอบต่อแทน ซึ่งโดยทั่วไป ภาระการเงินเหล่านี้ก็เช่น

  • ค่าใช้จ่ายต่างๆในการเลี้ยงดูบุคคลที่อยู่ในอุปการะ เช่น บุตร, ภรรยา, พ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง อาจจะคนเดียว หรือหลายคน ซึ่งหากบุคคลที่อยู่ในอุปการะเป็นบุตร ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ต้องรวมไปถึงค่าเล่าเรียนของบุตรด้วยเช่นกัน
  • มูลค่าหนี้สินต่างๆที่ค้างอยู่ เช่น หนี้บัตรเครดิต, หนี้รถ หรือหนี้บ้าน ของตัวเราเอง (หรืออาจจะรวมไปถึงหนี้ของคนอื่นที่เราช่วยรับผิดชอบอยู่ด้วยก็ได้ หากเราต้องการรับผิดชอบหนี้ก้อนหนี้หลังเราจากไปด้วย)
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น หลังจากที่เราจากไป ที่เราต้องการเป็นคนรับผิดชอบเอง เช่น ค่าจัดงานศพ เป็นต้น

ดังนั้น หากใครต้องการทำประกันชีวิต เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงเรื่องภาระการเงินดังกล่าว แล้วเกิดความสงสัยว่า ควรจะต้องทำที่ทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม คำแนะนำก็คือ ควรทำเท่ากับ “ภาระการเงินส่วนเกิน” ซึ่งก็เท่ากับ “ภาระการเงินทั้งหมดที่มีอยู่ หัก มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่” นั่นเอง (ที่ต้องหักด้วยมูลค่าทรัพย์สินก่อน เนื่องจากเมื่อเราจากไป ทายาทหรือผู้ที่เราต้องการให้ได้รับผลประโยชน์ของเรา ก็จะได้รับทรัพย์สินของเราไปเป็นมรดก เพื่อนำไปใช้จัดการกับภาระการเงินที่ยังเหลืออยู่ด้วย)

ซึ่งเราสามารถประเมินทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมให้ตัวเองได้คร่าวๆ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ประเมินค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูผู้ที่เรากำลังเลี้ยงดูอยู่

ตั้งแต่ปัจจุบัน จนถึงวันที่เราหมดภาระเลี้ยงดูแล้ว ซึ่งคำนวณได้จาก ค่าเลี้ยงดูปี (หรือค่าเลี้ยงดูต่อเดือน x 12) x จำนวนปีที่ต้องเลี้ยงดู โดยที่หากผู้ที่เลี้ยงดูเป็นบุตร จำนวนปีที่ต้องเลี้ยงดูก็อาจจะเป็นจำนวนปีที่ยังต้องเรียนหนังสือต่อจนกว่าจะเรียนจบ (เพราะถือว่า เมื่อเรียนจบ บุตรจะสามารถทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่เป็นภาระเราต่อไป) หรือถ้าผู้ที่เลี้ยงดูเป็นบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่  จำนวนปีที่ต้องเลี้ยงดู ก็อาจจะเป็นจำนวนปีจากนี้ต่อไปจนกว่าพวกท่านจะจากไป ซึ่งก็ต้องประมาณการอายุขัยของพวกท่านเอาไว้ด้วย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็แล้วแต่เราจะกำหนดจำนวนปีเอาเอง ตามแต่ที่เราคิดว่าเหมาะสมว่าจะเผื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้คนที่เราอุปการะอยู่ได้ใช้ต่อไปอีกกี่ปีด้วยก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่าง : ต้องเลี้ยงดูบุตร เดือนละ 5,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท ปัจจุบันบุตรอายุ 5 ขวบ จะเรียนจบตอนอายุ 22 ปี ดังนั้นต้องคุ้มครองต่อไปอีก 21-5=16 ปี ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการอุปการะทั้งหมดจะเท่ากับ 60,000 x 16 = 960,000 บาท

2. หากผู้ที่เราอุปการะเป็นบุตร ให้ประเมินทุนการศึกษาจนกว่าบุตรจะเรียนจบ

โดยรวมค่าเล่าเรียนบุตรในแต่ละปี ตั้งแต่ปัจจุบัน จนกว่าจะเรียนจบการศึกษาเข้าไปด้วย (ดังนั้น เราอาจจะต้องวางแผนคร่าวๆว่า ในอนาคต เราจะส่งบุตรไปเรียนที่ไหน ค่าเทอมประมาณเท่าไหร่)

ตัวอย่าง : ค่าเล่าเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนจบปริญญาตรี ประมาณเทอมละ 30,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท รวม 16 ปี ดังนั้นทุนการศึกษาทั้งหมดจะเท่ากับ 60,000 x 16 = 960,000 บาท

3. ประเมินภาระหนี้สินทั้งหมด

โดยรวมมูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่ยังเหลือค้างอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหนี้บัตร, หนี้ส่วนบุคคล, หนี้บ้าน และหนี้รถ เข้าด้วยกัน

ตัวอย่าง : ปัจจุบันมีหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท, หนี้บ้าน 3,000,000 บาท หนี้รถ 200,000 บาท รวมภาระหนี้สินทั้งหมด 10,000 + 3,000,000 + 200,000 = 3,210,000 บาท

4. ประเมินค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราต้องการเตรียมไว้ หลังจากไป

เช่น ค่าจัดงานศพ

ตัวอย่าง : คาดว่า ค่าจัดงานศพจะประมาณ 100,000 บาท

5. ประเมินภาระการเงินทั้งหมดที่มีอยู่

โดยรวมค่าใช้จ่ายและหนี้สินทั้งหมดในข้อ 1-4 เข้าด้วยกัน

ตัวอย่าง : ภาระการเงินทั้งหมดที่มีอยู่ = 960,000 + 960,000 + 3,210,000 + 100,000 = 5,230,000 บาท

6. ประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด

โดยรวมมูลค่าทรัพย์สินที่เรามีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งเงินฝากธนาคาร, เงินออม และเงินลงทุนต่างๆ

ตัวอย่าง : ปัจจุบันมีเงินฝากออมทรัพย์ 300,000 บาท, เงินลงทุนในหุ้น 200,000 บาท และเงินลงทุนในกองทุนรวม 500,000 บาท รวม 300,000 + 200,000 + 500,000 = 1,000,000 บาท

7. นำมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ประเมินได้ในข้อที่ 6 ไปหักออกจากภาระการเงินทั้งหมดในข้อที่ 5

ก็จะได้ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม

ตัวอย่าง : ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม = 5,230,000 - 1,000,000 = 4,230,000 บาท นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากเรามีการทำประกันชีวิตบ้างอยู่แล้ว ก็ให้เรารวมทุนประกันชีวิตของทุกกรมธรรม์ที่มีอยู่ แล้วนำมาหักออกจาก ทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม เพื่อดูว่า ทุนประกันชีวิตที่เราอยู่ มีเพียงพอทุนประกันชีวิตที่เราควรทำหรือไม่ ถ้าหากไม่เพียงพอ แล้วเรายังมีงบประมาณเหลือที่ยังสามารถทำประกันชีวิตเพิ่มได้ ก็ควรทำประกันชีวิตเพิ่ม โดยเลือกทำที่ทุนประกันส่วนที่ยังขาดอยู่นั่นเองครับ

สุดท้าย หลังจากที่เราทราบทุนประกันที่เหมาะสมแล้ว เราก็ควรต้องเลือกประเภทประกันชีวิตที่เหมาะสมกับทำเพื่อจุดประสงค์คุ้มครองภาระการเงินด้วย ได้แก่ แบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา โดยที่ถ้าเป็นแบบชั่วระยะเวลา ค่าเบี้ยประกันก็มักจะถูกกว่าแบบตลอดชีพ แต่จะคุ้มครองเพียงแต่ช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งเราก็ควรเลือกแบบที่มีระยะเวลาคุ้มครอง ไม่ต่ำไปกว่าระยะเวลาที่เราจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งก็คือ ระยะเวลาที่เรายังต้องผ่อนชำระหนี้อยู่ หรือระยะเวลาที่เรายังต้องเลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในอุปการะ ซึ่งเราต้องเลือกอย่างที่ยาวนานกว่า เพื่อครอบคลุมภาระทั้งหมดที่มีอยู่ได้ครับ