ผมเชื่อว่าใครหลายๆ คนอยากที่จะมีความมั่นคงทั้งในชีวิต หน้าที่การงาน การเงิน รวมถึง “มีครอบครัว” โดยเฉพาะคนที่ทำงานเก็บเงินมาได้สักระยะ ย่อมอยากที่จะ “ซื้อบ้าน” เพราะหลายๆ คนคิดว่าบ้านคือวิมานของครอบครัว แต่ผมบอกเลยครับว่าถ้าผ่อนไม่ไหว ก็จะกลายเป็นวิมาร(ผจญ) ทันทีครับ

ดังนั้น วันนี้ผมจะมาแบ่งปันความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการกู้ซื้อบ้าน รวมถึงการจัดสรรเงินเพื่อให้ครอบครัวของเรานั้นมั่นคงแข็งแรงกันครับ และแน่นอนว่าคราวนี้ผมก็มีวิธีง่ายๆ 3 อย่างที่จะช่วยให้การสร้างความมั่นคงนั้นง่ายขึ้น และเร็วขึ้นอีกด้วย เรามาดูกันเลยนะครับว่า มีอะไรกันบ้าง

1. วางแผนผ่อนบ้านอย่างมีสุข

ผมมักจะเห็นคนรู้จักหลายๆ คนที่อยากจะมีบ้าน แต่ก็ไม่ได้วางแผนหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสียเท่าไหร่ เช่น ดอกเบี้ยเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยที่ไหนต่ำที่สุด ที่สำคัญคือ “ไม่มีการประเมินตัวเอง” แน่นอนว่าถ้าเรายังอยู่ในภาวะที่มี “ภาระ” ต่างๆ มากมาย จนทำให้เรามีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือเพียงพอต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เราก็ไม่ควรที่จะกู้เงินมาผ่อนบ้านโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เราเป็นหนี้ และสุดท้ายอาจจะถูกยึดบ้านที่เราตั้งใจหามาทั้งชีวิตก็ได้ครับ

แต่ถ้าท่านไหนที่พร้อม อยากมีบ้านเต็มแก่ ตามมาทางนี้เลยครับ มาดูว่าก่อนจะซื้อบ้านสิ่งที่เราควรจะเตรียมพร้อมนั้นมีอะไรบ้างครับ

  1. การประเมินและประมาณเงินที่ต้องผ่อน เมื่อเราคิดจะมีบ้านเราควรประเมินตัวเองก่อน เราควรมีเงินออมเพื่อเตรียมไว้ดาวน์ 10-15% ของราคาบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักเกินไปในการผ่อนสินเชื่อกับธนาคารในแต่ละงวด โดยทั่วไปธนาคารมักให้วงเงินกู้ประมาณ 80-90% ของมูลค่าบ้าน แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาชีพและประวัติทางการเงิน ธนาคารมักจะอนุมัติเงินที่ต้องผ่อนต่องวดประมาณ 30-40% ของรายได้ของผู้กู้ เช่น รายได้ 30,000 บาท/เดือน เราก็จะสามารถผ่อนบ้านได้  9,000-12,000 บาท/เดือน ส่วนวิธีการคำนวณเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือน หรือคำนวณเงินกู้ก็สามารถที่จะใช้เครื่องคำนวณของธนาคารกรุงเทพเพื่อความสะดวกได้เลยครับ
  2. เข้าใจเรื่องรูปแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้าน แน่นอนครับว่าทุกท่านต้องศึกษาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เข้าใจก่อน เพราะว่าเป็นส่วนประกอบหลักในการคิดเรื่องผ่อนจ่ายเงินในแต่ละงวด และเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตในการผ่อนบ้านของเรานั่นเองครับ รูปแบบอัตราดอกเบี้ยจะมี 2 รูปแบบครับ คือ
  • แบบคงที่ หรือ Fixed Rate พูดง่ายๆ ว่าเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดแน่นอนส่วนใหญ่ธนาคารจะเสนอแบบคงที่ระยะเวลา 1-3 ปี
  • แบบลอยตัว หรือ Floating Rate ซึ่งดอกเบี้ยแบบนี้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่จะประกาศออกมาครับ เพราะว่าต้นทุนของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน และยังต่างกันในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง ส่วนใหญ่ที่เราเจอก็จะเป็น MLR หรือ MRR หลายๆคนคงสงสัยแล้วว่า ไอ้เจ้า MLR และ MRR คืออะไร เรามาดูกันครับ

MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ

MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือบัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวนี้ บางธนาคารอาจเลือกใช้ MLR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หรือบางธนาคารก็ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ MRR เป็นหลักในการปล่อยกู้บ้าน ที่อยู่อาศัยครับ อัตราดอกเบี้ยแบบ MRR ก็ไม่ได้สูงเสมอไป บางทีอาจจะต่ำกว่า MLR ก็เป็นไปได้เช่นกันครับ เพราะว่ามีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวนั้น จะมีการบวกหรือลบขึ้นลงได้ เช่น MLR+1% หรือ MRR-2% ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าแต่ละธนาคารมีต้นทุนทางการเงินไม่เท่ากัน และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละคนก็ไม่เท่ากันนั่นเอง ธนาคารส่วนใหญ่จะผสมผสานทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกันครับ เพื่อเป็นแรงจูงใจและสนับสนุนให้คนที่อยากมีบ้านได้แบบที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะมากในปีแรกๆ ที่เป็นช่วงเริ่มต้น และยังคงมีภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเพิ่มเติมบ้านอยู่บ้าง โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้ครับ

  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก จากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น คงที่ 2 ปีแรก ปีที่ 1 = 3% ปีที่ 2 = 4% หลังจากนั้น คิดแบบลอยตัว คือ MRR-1.5%
  • อัตราดอกเบี้ยแบบอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษในระยะสั้น จากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น ปีที่ 1 = MRR-5% ปีที่ 2 = MRR-3% หลังจากนั้นคืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR-1.5%

  1. หาสินเชื่อประเภทที่เหมาะกับตัวเอง เนื่องจากว่าในปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อหลากหลายประเภท แยกตามกลุ่มลูกค้าและอาชีพหรือความต้องการของพวกเราครับ ลองมาดูกันว่ามีแบบไหนกันบ้างนะครับ เช่น สินเชื่อสำหรับโครงการจัดสรรที่ธนาคารให้การสนับสนุน ที่เหมาะสำหรับผู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ธนาคารให้การสนับสนุน ส่วนท่านไหนที่อยากจะรีไฟแนนซ์ อันนี้ก็ทำได้ เพื่อเป็นการไถ่ถอนหลักทรัพย์จำนองจากสถาบันการเงินอื่นให้ได้รับดอกเบี้ยต่ำในสถาบันการเงินแห่งใหม่ด้วยเงื่อนไขพิเศษ ส่วนตัวผมเองที่เป็นสัตวแพทย์ ก็มีโอกาสที่จะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษด้วย สินเชื่อบ้านสำหรับกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือนักบิน ก็สามารถขอกู้ในอัตราพิเศษนี้ได้เช่นกันครับ นอกจากนี้ ทางธนาคารก็ยังมีบริการต่างๆ อีกมากมายครับ ลองสอบถามเพิ่มเติมกันดูนะครับ ไม่ว่าจะเป็น การต่อเติมบ้านเพิ่มเติมหรือต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านต่างๆ