10 ล้าน 30 ปี ต้องเริ่มต้นอย่างไรดี

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้ไปให้สัมภาษณ์กับ รายการทีวี รายการนึง เรื่องที่พูดคุยนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องการเกษียณของคนในยุคปัจจุบัน และมีคำถามจากพิธีกร คำถามนึงคือเราควรมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ยามเกษียณ ซึ่งโดยส่วนตัว และจากประสบการณ์ในการคิดเงินเกษียณแล้ว เงินอย่างน้อยทีเราควรจะมีนั้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ที่น่าจะพอทำให้เราอยู่ได้อย่างไม่ต้องรบกวนญาติพี่น้อง หรือ ลูกหลาน ซึ่งใครหลาย ๆ คนคงคิดว่า “เยอะมาก” เราจะสามารถเก็บเงิน 10 ล้านได้อย่างไร (ทุกวันนี้เงินเหลือเก็บตอนสิ้นเดือน ยังยากเลย !) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จะมาจากความสำเร็จเล็กๆ ที่สะสมกันจนมากพอ นั่นเองครับ

ดังนั้น เรื่องสำคัญคือ เราต้องรู้ว่า เราควรที่จะเก็บเงินไว้ต่อเดือนเท่าไหร่ จึงจะมีเงิน 10 ล้านให้เพียงพอต่อการเกษียณครับ และเราต้องทราบว่า เราจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี เหมาะสม และความเสี่ยงไม่มากเกินที่เราจะรับได้ครับ เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายอย่างสบายใจ

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงว่า จะลงทุนกับอะไรดี เรามาดูกันก่อนนะครับว่า เราจะต้องเก็บเงินต่อเดือนเท่าไหร่จึงจะมีเงิน 10 ล้านบาท ใน 30 ปี ซึ่งถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่อายุ 30 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะว่าใช้เงินลงทุนต่อเดือนไม่มาก โดยสมมติว่าอายุเกษียณคือ 60 ปีครับ

ดูจากอินโฟกราฟฟิกแล้วจะเห็นได้ว่าแต่ถ้าเรามีเวลาเพียง 20 ปีละก็ต้องเก็บมากขึ้นแบบเท่าตัวเลยครับ ส่วนท่านไหนที่มีเวลาเพียง 10 ปี อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยในการเก็บเงิน 10 ล้านครับ แต่ท่านไหนที่อายุเริ่มอยู่แถว ๆ ดอนเมืองแล้ว(หลักสี่) ก็อย่าเพิ่งกลัว และคิดว่าจะไม่ทันนะครับ ถ้าเราวางแผนดี ๆ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถมีเงินเกษียณได้อย่างเพียงพอเลยครับ

ถัดมาเมื่อเราทราบเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือนแล้ว เราก็มาดูว่า เราควรที่จะลงทุนกับ “กองทุนอะไรดี” ซึ่งหลายๆ ท่านคงมีคำถามในใจว่า ทำไมต้องกองทุนด้วย ซึ่งคำตอบคือ…..ก็นี่มันเพจคลินิกกองทุน จะให้ลงทุนอย่างอื่นได้อย่างไร ? (ถามแปลก ๆ เนอะ) เอ่อ…..ผมล้อเล่นนะครับ เนื่องจากกองทุนมีข้อดีหลายอย่าง เช่น มีคนคอยดูแลการลงทุนให้แบบมืออาชีพ มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี และที่สำคัญมากๆ คือ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มากครับ

คราวนี้เรามาดูกันต่อว่า ผลตอบแทน 6%,8%,10%,12% นั้นจะมาจากไหนได้บ้างนะครับ

โดยสมมติฐานมาจากผลตอบแทนย้อนหลัง ของตราสารหนี้อยู่ที่ประมาณ 4% และ ตราสารทุนหรือ หุ้นอยู่ที่ประมาณ 12%

  1. ผลตอบแทน 6% เกิดจากการจัดสัดส่วนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุนแบบ กองทุนตราสารหนี้ ประมาณ 75 %  + กองทุนหุ้น ประมาณ 25%
  2. ผลตอบแทน 8% เกิดจากการจัดสัดส่วนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุนแบบ กองทุนตราสารหนี้ ประมาณ 50 %  + กองทุนหุ้น ประมาณ 50%
  3. ผลตอบแทน 10% เกิดจากการจัดสัดส่วนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุนแบบ กองทุนตราสารหนี้ ประมาณ 25 %  + กองทุนหุ้น ประมาณ 75%
  4. ผลตอบแทน 12% เกิดจากการจัดสัดส่วนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุนแบบ กองทุนหุ้น ประมาณ 100%

เมื่อได้สัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว คราวนี้เราก็เลือกกองทุนกันนะครับ โดยเราก็แค่เลือกกองทุนที่คิดว่าน่าจะดีที่สุดในระยะยาวมาจากแต่ละ บลจ. เพราะผมเชื่อว่า(จากประสบการณ์)  กองทุนหุ้นที่ดีที่สุด กับกองทุนตราสารหนี้ที่ดีที่สุด และ มักจะไม่ได้อยู่ที่ บลจ. เดียวกันครับ

เช่น กองทุนหุ้น เราอาจจะเลือก ABSM จากบลจ. อเบอร์ดีน กองทุนตราสารหนี้ เราอาจจะเลือก K-FIXED จาก บลจ.กสิกร หรือ ถ้าเราชอบกองทุนที่ลงทุนแบบอ้างอิงดัชนี(กองทุนที่ขึ้น-ลง ตามดัชนี) ก็อาจจะลงทุนในกองทุนหุ้น SCBSET50 จากบลจ.ไทยพาณิชย์ และเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่ค่อนข้างปลอดภัยก็ KFMTFI จาก บลจ. กรุงศรี หรือท่านไหนที่ชอบกองทุนปันผล ก็อาจจะเลือกกองทุนหุ้น KTSE จาก บลจ. กรุงไทย และกองทุนตราสารหนี้ SMART จาก บลจ. MFC

(ปล. ไม่ได้เป็นการใบ้กองทุน ใบ้หวยใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ แต่ถ้าจะเอาไปใช้ก็ไม่ว่ากัน….เอ๊ะ !!)

เห็นไหมครับ ว่ากองทุนมีหลากหลายประเภท หลาย บลจ. ซึ่งเราเองก็ควรที่จะเลือกมา ผสมผสานกัน เพื่อให้ได้เป้าหมายตามที่เราต้องการครับ

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วนี่ ผม/ชั้น/ดิฉัน (เวลาถามเข้ามาหาผมมันเป็นแบบนี้จริง ๆ นะครับ) ต้องเปิดบัญชี กับทุก บลจ. เลยใช่ไหมเนี้ย ซึ่งคำตอบคือ “ใช่และ ไม่ใช่ครับ” เนื่องจากถ้าท่านมีบ้านอยู่ใกล้ศูนย์การค้าใหญ่ ๆ อาจจะเดินไปเปิดบัญชีกับหลาย ๆ บลจ. ได้ไม่อยาก แต่ถ้าอยู่ในที่ห่างไกลจากธนาคารต่าง ๆ ผมก็ต้องบอกว่าไม่จำเป็นที่เราจะไปเปิดบัญชีกับทุกบลจ. หรือ ทุกธนาคารครับ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเราดีขึ้น เร็วมากขึ้น ทำให้เราซื้อกองทุนได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ก็คือการซื้อกองทุนผ่านระบบ FundSupermart นั่นเองครับ

แล้ว Fund Supermart คืออะไร?

Fund Supermart ก็คือ ระบบที่การซื้อ-ขายกองทุน แบบบัญชีเดียว แต่สามารถซื้อกองทุนได้เกือบทุกกองทุน จากทุก บลจ.ระบบนี้ก็จะเหมือนเราซื้อของใน Supermarket นั่นเองครับ เราไม่ต้องไปเปิดบัญชีหลาย ๆ ที่ให้วุ่นวายซื้อผ่านที่เดียวได้ของครบทุกอย่างครับ

ข้อดีของระบบนี้คือ ไม่ต้องมานั่งคำนวนผลตอบแทนในกองทุนแต่ละตัวเอง เพราะว่าระบบจะเป็นตัวคำนวนให้ทุกวัน เพื่อให้เห็นสัดส่วนโดยรวมทั้งหมดว่าเรากำไรหรือขาดทุนอยู่ และถือกองทุน ทั้งหมดอยู่กี่กองทุน

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมนั้นก็เสียเท่าเดิมครับ ไม่ได้มีการเสียเพิ่มจากการที่ซื้อผ่าน บลจ. หรือ ธนาคารโดยตรงแต่อย่างใด (เนื่องจาก บลจ. จะแบ่งค่าธรรมเนียมกับทางตัวแทนขายอย่าง Fundsupermart เอง) แถมมีบริการให้คำปรึกษา มีบทวิเคราะห์ให้อ่าน และที่ดีสุด ๆ คือ “มี Application ให้กดซื้อ-ขาย สับเปลี่ยน กองทุนผ่านมือถือได้เลย” เรียกได้ว่าครบเครื่อง และเป็นตัวจริงเรื่องปิ้งย่าง เอ้ย !! ด้านบริการขายกองทุนเลยครับ เป็นไงครับ คราวนี้ก็ง่ายในการซื้อกองทุนแล้วใช่ไหมครับ