ประโยคที่ว่า “ความตาย และภาษีเป็นสองสิ่งที่คุณหนีไม่ได้” นั้นยังเป็นจริงเสมอ เมื่อถึงช่วงปลายปี ก็ถึงเทศกาลลดหย่อนภาษีกันแล้ว บางคนก็กระวนกระวายว่าต้องหาตัวช่วยเพื่อนมาลดหย่อนภาษี แต่จริงๆ แล้วก่อนที่จะหาตัวช่วยมาลดหย่อน เราต้องรู้ก่อนครับว่ารายได้ของเรา ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วหรือยัง?

แล้วรายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษีนะ?

  • สำหรับใครที่มีรายได้รวมทั้งปีแล้ว ไม่เกิน 120,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษีครับ แต่ถ้าใครที่มีรายได้มากกว่า 120,000 ต้องยื่นภาษีทุกคนนะครับ ส่วนจะเสียหรือไม่เสียภาษี เป็นอีกเรื่องนึงครับ 
  • สำหรับใครที่มีรายได้รวมทั้งปีแล้ว เกิน 310,000 ขึ้นไป (แม้ว่าจะหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ประกันสังคม เลี้ยงดูบิดามารดา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ  LTF RMF ฯลฯ) หรือคิดเป็นเฉลี่ยต่อเดือน คือ มีรายได้เดือนละ 25,834 บาทต่อเดือน ขึ้นไป จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคำนวณภาษีแบบขั้นบันได

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
เงินได้สุทธิต่อปี อัตราภาษีเงินได้บุคธรรมดา 
0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
150,001 - 300,000 บาท 5%
300,001 - 500,000 บาท 10%
500,001 - 750,000 บาท 15%
750,001 - 1,000,000 บาท 20%
1,000,001 - 2,000,000  บาท 25% 
2,000,001 - 5,000,000 บาท 30%
5,000,001 บาทขึ้นไป35%

และถ้าใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่เล่าให้ฟังข้างบน แต่ว่ายังไม่ได้วางแผนหาตัวช่วยหรือเครื่องมือในการลดหย่อนภาษี ในครั้งนี้เราก็เลยอาสามาแนะนำเพื่อน ๆ กันครับว่า ตัวช่วยการลดหย่อนภาษี มีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง?

ประเภทที่ 1 ได้แก่ กลุ่มประกัน

ประกันอะไรลดหย่อนได้บ้าง? 

  • ประกันสังคมลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท 
  • ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต ก็สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วน 
  • ประกันชีวิตบำนาญก็ใช้ได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 
  • และเดี๋ยวนี้พวกประกันสุขภาพก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน โดยลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และยังเผื่อแผ่ไปถึงพ่อแม่ด้วย โดยเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ประเภทที่ 2 ได้แก่ พวกกลุ่มการลงทุน

หลายคนคงทราบแล้วว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เราจะซื้อ LTF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้ ก่อนที่ปีหน้าจะเปลี่ยนเป็นกองทุน SSF

หมายเหตุ : ปีหน้ายังคงซื้อ LTF ได้เหมือนเดิม แต่แค่ไม่ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีแล้ว

สำหรับปีสุดท้ายในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของ LTF นั้น สามารถนำไปลดหย่อนสูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อซื้อแล้วต้องถือครองไปอีก 7 ปี = ซื้อปีนี้ขายได้ปี 2568 ครับ

และอีกอันก็คือ RMF  ซึ่งเราต้องลงทุนต่อเนื่องจนกว่าจะอายุ 55 ปี หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งถ้าใครมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนครูโรงเรียนเอกชน , ประกันชีวิตแบบบำนาญ , กองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ประเภทที่ 3 ได้แก่ พวกสิทธิพิเศษทางภาษีพวกเฉพาะกิจที่มีแค่ปี 2562

เช่น ค่าใช้จ่ายกระตุ้นการท่องเที่ยว ช้อปช้วยชาติ ค่าซ่อมแซมบ้านเรือนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ รวมไปถึง พวกสิทธิพิเศษเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันอีก ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม http://bit.ly/2Pd1qbj

นอกจากนั้นก็ยังเป็นเงินบริจาคต่าง ๆ เช่นองค์กรสาธารณกุศล การบริจาคให้โรงเรียนเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬาและสถานพยาบาลของรัฐ รวมไปถึงการบริจาคให้พรรคการเมือง แต่ถ้าอยากรู้อย่างละเอียดหรือทดลองคำนวณกันก็จะมีโปรแรกมคำนวณภาษีที่เราสามารถนำมาทดลองได้ครับ

เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายก็คือ การเก็บเอกสารให้ครบถ้วน อย่างตัวผมเองจะเลือกใช้แฟ้มใสและเขียนระบุปีไว้เลย โดยได้ใบเสร็จค่าจ้าง สลิปเงินเดือน หรือเอกสารลดหย่อนภาษีก็ให้เก็บแยกซองเอาไว้ เพราะเวลาถึงเวลายื่นภาษีจะได้ไม่ปวดหัวในการไล่หา เพราะถ้าคุณยื่นพลาดไปแค่ใบเดียว มีสิทธิ์โดนภาษีย้อนหลัง ไม่คุ้มเลยนะครับ

Mr.Priceless aomMONEY Writer

#SmartPaySmartShop #ฉลาดใช้ฉลาดช้อป #aomMONEY #PunPromotion #MoneyLiteracy