การระบาดของ Covid-19 ทำเอาหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน บางคนก็ถามตัวเองทุกวันว่า “นี่เราติดหรือยังนะ” ซึ่งถ้าใครติดเจ้าไวรัสนี้เข้าไปคงขำไม่ออกแน่ เพราะค่ารักษาพยาบาลบางแห่งก็แพงลิ่ว ไหนจะต้องสูญเสียรายได้ช่วงที่พักรักษาตัวอีก aomMONEY จำได้ว่าช่วงนั้นประกัน Covid-19 ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีการวางแผนประกันชีวิตในระยะยาว เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีก

และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ จาก "คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย" รองประธานสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) จะทำให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของประกันชีวิตมากขึ้นครับ

จากสถานการณ์ Covid-19 ธุรกิจประกันในปีนี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไร?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเบี้ยจะติดลบในปีแรก แต่สัดส่วนการถือกรมธรรม์ของคนไทยเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนอาจจะไม่ถึง 30% ทุกวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 38-39% พูดง่ายๆ คือคนไทย 100 คน จะถือกรมธรรม์ 38-39 คน ต่อมาก็คือกระแส Aging Society มาแรงมาก เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คนไทยก็เลยเริ่มตระหนักเรื่องการวางแผนทางการเงิน โดยมีปัจจัยเร่ง คือ ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทุกปี ถ้ามีการวางแผนสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยก็อาจจะไม่ต้องรับภาระหนักเรื่องค่ารักษาพยาบาล

ส่วนบริษัทประกันชีวิตก็มีการปรับตัวมากขึ้น ตัวประกันมีการปรับเปลี่ยน จากดอกเบี้ยพันธบัตรที่เป็นสินค้าอ้างอิงหลักที่ประกันชีวิตนำเงินไปลงทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือแค่ 0.5% ทำให้มีผลกระทบกับประกันออมทรัพย์ที่จะนำเงินของผู้เอาประกันไปลงทุนในพันธบัตร ก็เลยพัฒนาการขาย Unit-Linked ที่มีส่วนของประกันและกองทุนรวม ดังนั้นตัวแทนที่จะขายสินค้านี้ได้ นอกจากจะต้องมีใบอนุญาตตัวแทนแล้ว ก็ยังต้องมีใบอนุญาต IC License หรือ Investment Consultant License ด้วย ซึ่งจะต้องไปสอบกับ กลต. นี่คือทิศทางที่เราต้องปรับตัว ไม่ว่าจะมี Covid-19 หรือไม่มีก็ตาม

คนไทยซื้อประกัน Covid-19 ประมาณ 8 ล้านฉบับ?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : เมื่อก่อนคนไทยอาจจะรู้สึกว่าการซื้อประกันคือความยุ่งยาก เป็นภาระ อยากเอาเงินไปทำอย่างอื่นก่อน แต่คนไทยไม่ได้เกลียดประกันนะ เพราะว่าพอมีประกันความคุ้มครอง Covid-19 ขึ้นมา ก็แห่ไปซื้อกันประมาณ 8 ล้านฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประกันแบบเจอ จ่าย จบ แต่ช่วงหลังๆ นี่ไม่มีแล้วด้วยซ้ำ บางบริษัทต้องเสียชีวิตด้วย Covid-19 เท่านั้น ถึงจะได้รับเงินก้อน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตมันต่ำมาก แต่คนไทยก็ยังซื้อไว้เพื่อโอนย้ายความเสี่ยง แต่มันก็มีคำพูดที่ว่า “ซื้อประกันเร็วไป 1 ปี ดีกว่าซื้อช้าไป 1 วัน” คือ ไม่ใช่ว่าซื้อประกันวันนี้ แล้วจะคุ้มครองวันนี้นะครับ มันต้องมีช่วงระยะเวลารอคอย อาจจะ 30-90 วันแล้วแต่โรค

จากเหตุการณ์ Covid-19 ธุรกิจประกันมีสินค้าเพิ่มขึ้นไหม

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : ประกันเป็นสินค้าที่ขายยากมาก มันเหมือนขายกระดาษ ขายสัญญาแห่งความรัก ไม่เหมือนขายไอโฟนที่มันจับต้องได้ ทำให้คนเชื่อได้ยากว่าทำไมฉันต้องซื้อ แล้วการขายประกันจะเจอกัน 3 นาทีแล้วซื้อเป็นไปไม่ได้ เราจะต้องนั่งพูดคุยกันถึงความจำเป็นทางการเงินว่าต้องทำอะไรบ้าง ทางสำนักงาน คปภ.ก็เลยประกาศให้มีช่องทางการขายประกันเฉพาะกิจแบบ Digital Face to Face เพื่อให้คนไทยที่เริ่มตระหนักเรื่องประกันชีวิต ได้เข้าถึงการซื้อประกันง่ายขึ้น จากที่ต้องเจอกัน ก็เปลี่ยนมาเป็นช่องทางออนไลน์ เพื่อรักษา Social Distancing แต่มันก็ต้องมีการอัดเสียงการสนทนาทั้งหมด มีการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซลฟี่ตัวเอง บัตรประชาชน เพื่อยืนยันว่าต้องการทำประกันชีวิตฉบับนี้จริงๆ แล้วก็จะส่งกรมธรรม์ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ผู้เอาประกันได้ระบุไว้

พอมีช่องทางดิจิทัลแล้ว ตัวแทนการขายลำบากขึ้นไหม?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : สำหรับตัวแทนที่ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินด้วย ก็อาจจะทำงานได้ไม่ยาก แต่สำหรับตัวแทนดั้งเดิมยุค Baby Boomer อาจจะเข้าถึง Digital Face to Face ค่อนข้างยาก ด้วยเรื่องของเทคโนโลยี หลายๆ บริษัทก็เริ่มสนองนโยบายการลดใช้กระดาษ ก็จะใช้ไอแพด แท็บเล็ตต่างๆ เสนอขายแทน พออธิบายแล้วก็กรอกแบบฟอร์มคำขอเอาประกันผ่านตรงนั้น แล้วเซ็นรับรองบัตรประชาชนได้เลย แต่ก็คิดว่าหลัง Covid-19 เราน่าจะได้กลับมาเจอกันตามปกติ เพราะมันเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยการพูดคุยเพื่อความเข้าใจ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าทาง คปภ.จะเปิดช่องทางนี้ตลอดไปไหม แต่เท่าที่ทราบคือยังเป็นช่องทางเฉพาะกิจ

สมาคมตัวแทนประกันชีวิตมีแผนให้ความรู้กับประชาชนอย่างไร?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : ชื่อเต็มของเราก็คือสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ในช่วง Covid-19 เราก็มีการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ มีการซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมเพื่อนำเสนอให้ความรู้กับตัวแทน ในการพัฒนาตัวเอง ขึ้นสู่การเป็นที่ปรึกษาการเงิน ก็จะมีการเรียนหลักสูตรการเงินต่างๆ เพื่อจะเอามาใช้ในการประกอบการเสนอขาย อาจจะมีวิธีการคำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมกับลูกค้า ไม่แพงเกินไป ไม่ถูกเกินไป มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วที่ตัวแทนจะนำเสนอสินค้าที่ต้องการขายให้กับลูกค้า แต่ต่อจากนี้จะต้องหาสินค้าที่เหมาะสม โดยวิเคราะห์จากพื้นฐานความต้องการและความจำเป็นของลูกค้าแต่ละคน

นอกจากความรู้ในเรื่องประกันและการเงินแล้ว สิ่งที่ตัวแทนควรจะมีคืออะไร?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : ตัวแทนจะต้องมีจรรยาบรรณที่ดีในการนำเสนอขาย เช่น คุณต้องพกบัตรตัวแทน คุณมีสังกัดถูกต้องไหม ต้องพูดตรงๆ ว่าบางคนก็มาทำงานตรงนี้เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ที่จะแนะนำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ที่สุดกับลูกค้า ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ผมไม่ได้คาดหวังว่าตัวแทนทุกคนจะต้องเก่งเรื่องการเงิน บางคนอาจจะสอบใบรับรองอะไรไม่ได้เลย แต่ก็ตั้งใจอยากจะเป็นตัวแทนที่ดี ก็อาจจะเลือกเป็นนักวางแผนประกัน (Insurance Planner) ให้ถูกต้องเหมาะสมกับลูกค้า

มีข้อคิดหรือกำลังใจให้คนไทยในช่วง Covid-19?

คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย : ขอให้คนไทยผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ส่วนตัวผมมองว่าการทำประกันคือสิ่งสำคัญอันดับแรกในกระบวนการวางแผนทางการเงิน การโอนย้ายความเสี่ยง การประกันชีวิต ประกันวินาศภัย มันคือสิ่งที่คุณควรทำก่อนเลย ควบคู่ไปกับการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน แล้วหลังจากนั้นค่อยไปลงทุนในเรื่องต่างๆ

หลังจากที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ aomMONEY เชื่อว่าคนไทยจะตระหนักถึงความสำคัญของประกันชีวิต และประกันสุขภาพมากขึ้นแน่นอน อย่างที่คุณสุปกาณฑ์กล่าวไว้ว่า “ซื้อประกันเร็วไป 1 ปี ดีกว่าซื้อช้าไป 1 วัน” ดังนั้นมีประกันไว้แต่ไม่ได้ใช้ ย่อมดีกว่าต้องใช้แต่ไม่มีนะครับ

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY

https://youtube.com/watch?v=cXuZ0gx-4_E%3Fwmode%3Dopaque

โลกประกันและพฤติกรรมคนไทย หลัง Covid-19

โดย คุณสุปกาณฑ์ ปิยมาพรชัย

รองประธานสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA)

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/