ทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสให้กับหลายๆคนมากเลยนะครับ เพราะหลายคนที่บ้านมีภาระทางการเงิน เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องมาช่วยงานที่บ้านทำมาหากิน แต่รัฐบาลเขาก็ให้โอกาสในด้านการศึกษาภายใต้ “กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” นะครับ

แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ในการกู้เงินก็เพื่อเอาไปใช้เรียนต่อ ไม่ใช่ไปซื้อ มือถือใหม่ เสื้อผ้า กินเหล้า หรือเครื่องสำอางค์นะครับ อิอิ รู้นะ มีหลายคนแอบทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเรากู้มาแล้วเราก็ต้องใช้เงินคืนนะครับ เพราะถือเป็นหนี้สินของเราที่จะต้องใช้ ไม่ใช่เงินให้เปล่าที่เรียนจบแล้วจบเลย

ผลเสียของการไม่ใช้ทุน

1. สร้างภาระและผลเสียต่อคนอื่น

แน่นอนว่าเงินทุนนี้มาจากกองทุน ซึ่งเมื่อเรายืมมาแล้วแต่ไม่ใช้คืน ก็จะทำให้น้องๆในรุ่นต่อๆไปที่ต้องการเรียนแต่ขาดเงินทุน มีโอกาสกู้เงินได้น้อยลงเพราะจำนวนเงินมันน้อยลง ลองคิดดูสิครับว่าน่าสงสารแค่ไหน นอกจากนี้แล้วในการกู้ยืมแต่ละครั้งจะต้องมีผู้ค้ำประกัน หากทางหน่วยงานกองทุนเก็บเงินจากเราไม่ได้ แล้วเกิดการเอาจริงเอาจังในการติดตามหนี้สิน ผู้ปกครองหรือผู้ค้ำประกันเราอาจจะต้องชดใช้คืนแทน 

2. กลายเป็นภาระของเราในอนาคต

เนื่องจากการถูกบันทึกข้อมูลว่าเราเป็นหนี้นั้นถือเป็นสถานะที่ไม่ค่อยดีนัก หากเราไปกู้ยืมเงินในอนาคตเช่น กู้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วทางผู้ให้กู้ยืมมีการเช็คสถานะหนี้สินของเราแล้ว เขาอาจจะเกิดความกังวลว่าเรามีความเสี่ยงที่จะไม่คืนเงินก็เป็นได้ และหนี้สินนั้นเองก็มีดอกเบี้ยและทำให้เราต้องจ่ายมากขึ้นในอนาคตได้หากเราผิดนัดชำระตามข้อตกลง

วิธีการวางแผนชำระหนี้การศึกษา

ปกติแล้วเมื่อเราเรียนจบเขาจะให้เราเริ่มใช้หนี้การศึกษาหลังจากเรียนจบ 2 ปี โดยเขาจะให้ตารางมาพร้อมแจ้งว่าให้ชำระภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นเวลา 15 ปี ดังตัวอย่างแบบนี้

ตารางตัวอย่างอาจจะเล็กไปนิด แต่เดี๋ยวผมมีให้ดูเพิ่มข้างล่างครับ แฮร่ๆ

สังเกตดีๆว่าเราจะคิดต้นคิดดอกและจำนวนเงินกู้ในแต่ละปีมาให้เลยเป็นขั้นบันได เริ่มจากจำนวนน้อยๆในช่วงแรก จนปีหลังๆจะจ่ายแพงขึ้น หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า ปีหลังๆจะจ่ายคืนได้อย่างไร! ผมมองว่า ทางรัฐบาลเขาก็คงคาดหวังว่าเมื่อเราทำงานเติบโตขึ้นรายได้ก็จะสูงขึ้น เชื่อว่าเราอาจจะเริ่มต้นการทำงานที่เงินเดือน 15,000 บาท แต่ผ่านไป 15 ปี เงินเดือนอาจจะกลายเป็น 5-6 หมื่นบาทแล้วก็ได้

ลองใช้การชำระหนี้สไตล์ DCA ดูไหม?

แฟนๆในเพจผมคงทราบดีอยู่แล้วว่า DCA เป็นวิธีการซื้อหุ้นแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน เรานำหลักการเดียวกันมาใช้ในการชำระหนี้ กยศ ได้เช่นกันครับ ด้วยการทยอยเก็บเงินรายเดือนแต่นำไปชำระหนี้ตามเป้าหมายที่เรากำหนด พูดง่ายๆก็คือ เอาเทคนิคการออมเพื่อการลงทุนมาเปลี่ยน การออมเพื่อการชำระหนี้อย่างมีเป้าหมาย มาดูแต่ละขั้นตอนกันนะครับ

ขั้นที่ 1 ตั้งเป้าการใช้หนี้ในแต่ละปี

เป็นหนี้การศึกษา อย่าหนีทุนนะครับ มาเริ่มกันเลยสมมติว่าเราจบมาเงินเดือน 15,000 บาทและมีรายจ่ายหนี้สินในแต่ละปีตามกำหนด ถ้าหารเฉลี่ยออกมาในแต่ละปีเทียบกับเงินเดือนจะเป็นจำนวนที่ไม่ได้เยอะเลยนะครับ อย่างปีแรกๆเขาจะให้เราชำระ เช่นตามตัวอย่างตารางข้างบนคือ 2,836.50

ลองเอา 2,836.50 มาหาร 12 เดือน จะได้ 236.38 บาทต่อเดือน

เงินเดือน 15,000 ในปีแรกเก็บเดือนละ 236.38 คิดเป็น 1.58% ของเงินเดือนเท่านั้นเอง

มาดูตารางนี้กันนะครับ ผมสมมติว่าถ้าเราเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท และเงินเดือนขึ้นเรื่อยๆปีละ 5% (ซึ่งผมว่าทุกคนน่าจะมีเงินเดือนขึ้นมากกว่านี้นะ) แล้วเทียบดูว่า ในแต่ละปีเราจะต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละเท่าไหร่ ทั้งนี้ผมได้คิดออกมาว่าเงินที่ต้องเก็บคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นของเงินเดือนออกมา

จะเห็นได้ว่าสูงสุดที่เราต้องเก็บต่อเดือนนั้นไม่เกิน 7% เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าคิดเป็นจำนวนเงิน 29,689.97 แล้วเก็บแค่ 2,069.04 บาทต่อเดือนนั้น เรายังมีเงินใช้จ่ายอีกตั้ง 27,000 กว่าบาทแหนะ (แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆลองไปหักดูนะครับ สูงสุดยังถูกกว่าค่าใช้โทรศัพท์หรือทานบุฟเฟต์ของกลายๆคนเลย)

สรุปตั้งเป้าใช้หนี้ด้วยการเก็บเงินเดือนละ 10% เพื่อใช้คืนทุนยังไงก็ใช้หมดชัวร์!

ขั้นที่ 2 ตั้งเป้าการใช้หนี้ให้หมดเร็วขึ้น

หากเรามองว่าเราทำงานแล้วมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% มีโบนัสต่างๆ เราสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น บางทีทางกองทุนเขามีโปรโมชั่นให้เราโปะเงินแล้วให้ส่วนลดก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ จ่ายเงินน้อยลง แถมคืนหนี้ได้เร็วขึ้นด้วยครับ มันจะทำให้เรารู้สึกว่าภาระมันหมดไปแล้ว เหมือนที่เขาบอกครับว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ อิอิ

ขั้นที่ 3 สร้างวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

การเก็บเงินอย่างต่อเนื่องเป็นรายเดือนทำให้เราสามารถจัดการหนี้สินได้อย่างเป็นระบบ เมื่อเราชำระหนี้ได้แล้ว อย่าลืมเก็บเงินรายเดือนแบบนี้อีกนะครับ โดยอาจจะนำเงินส่วนหนี้ไป “ลงทุน” ในเรื่องอื่นๆแทน เช่น ออมหุ้น ออมในกองทุนรวมด้วยวิธีการแบบ DCA เพิ่มเติมก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวได้เช่นกัน

สรุปแล้วการใช้หนี้ทุนการศึกษานั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องยากเลยหากเราวางแผนไว้เป็นอย่างดีนะครับ และเมื่อเราใช้หนี้หมด ก็เอาระวินัยทางการเงินที่เราสร้างในแต่ละเดือน มาลงทุนเพิ่มให้รวยได้อีก