2 สเต็ปออมเงิน Go to Travel!!

 

“ออมเงิน ออมเงิน ออมเงิน”

 

มนุษย์เงินเดือนอย่างเราเจอคำนี้เข้าไปก็ถึงกับส่ายหน้า เพราะลำพังรายจ่ายที่รออยู่ตรงหน้าก็ยังไม่พอแล้วจะนำเงินที่ไหนมาออมกันล่ะ โถ่ๆๆๆ ความฝันที่จะได้ไปตามรอยซีรีย์เกาหลีจะเป็นจริงเมื่อไหร่กัน :(

        ฮึ ฮึ ฮึ มันต้องมีสักทางสินะที่ทำให้เป็นจริงได้สักวัน ตอนนี้มีข้อมูลที่จะไปเที่ยวครบแล้วว่าจะต้องทำยังไงบ้าง ไปเที่ยวที่ไหน กินอะไรดี ที่พักแบบไหน แผนที่เดินทางอย่างไร สืบค้นข้อมูลครบทุกอย่างละแต่ขาดอยู่อย่างเดียว คือ “เงิน”

        การเก็บเงินไปเที่ยวนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราควรรู้วิธีว่าควรเก็บอย่างไร โดยเราควรเลือกวิธีการฝาก-ถอนให้เหมาะสมกับเป้าหมายเพื่อการท่องเที่ยวของเราให้มากที่สุด บทความนี้มีวิธีการเก็บเงินไปท่องเที่ยวมาแนะนำซึ่งจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. การทยอยเก็บเงินทุกเดือน
2. การเก็บเงินก้อนเดียว

 

 

วิธีที่ 1 คือ การทยอยเก็บเงินทุกเดือน

 

        วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ชอบทยอยสะสมเงินที่ละนิดและไม่อยากให้เงินไปเที่ยวนั้นสร้างภาระในการดำรงชีพมากเกินไป โดยเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่ที่ความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น ตั้งใจเก็บเงินไปเที่ยว 40,000 บาทเป็นระยะเวลา 10 เดือน โดยแบ่งเก็บเดือนละ 40,000/10 = 4,000 บาท

         เงินฝากออมทรัพย์ เราควรเปิดบัญชีเพื่อการท่องเที่ยวแยกต่างหากไม่ควรปะปนกับรายการทางการเงินอื่นเพื่อกันความสับสน เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีเราก็โอนเงินไปเก็บไว้บัญชีเพื่อการท่องเที่ยวทันที เป็นการสร้างวินัยทางการเงินอีกแบบหนึ่งเพื่อที่จะได้ไปเที่ยวได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทำแบบนี้ทุกเดือนๆละ 4,000 บาท จนครบเป้าหมายที่ 40,000 บาท

  • วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบ ส่วนดอกเบี้ยจะได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับวีธีการจ่ายดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร

 

          กองทุนรวมตราสารหนี้ เราเปิดบัญชีกองทุนรวมที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยให้เจ้าหน้าที่แนะนำว่ามีกองทุนตราสารหนี้แบบใดบ้าง ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไหร่ เมื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงแล้วเราก็ใช้วิธีผูกบัญชีเงินเดือนของเรากับบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ เมื่อเงินเดือนออกก็จะถูกตัดมาซื้อหน่วยลงทุน ทำแบบนี้ทุกเดือนๆละ 4,000 บาท จนกระทั่งถึงจำนวนที่ต้องการ คือ 40,000 บาท จึงขายหน่วยลงทุน โดยเงินจากการขายหน่วยลงทุนจะได้รับในวันถัดไป ไม่เหมือนกับถอนเงินฝากที่ถอนแล้วได้เงินทันที

  • วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบและอาจจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของหน่วยลงทุนนิดหน่อย(ขึ้นอยู่กับการเลือกกองทุนรวม) ที่สำคัญที่สุดควรศึกษาหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนการลงทุน

 

 

 

วิธีที่ 2 คือ การเก็บเงินก้อนเดียว

        วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีเงินก้อน(เช่น เงินโบนัส) ต้องการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าวิธีที่ 1 โดยจะเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีระยะเวลาแน่นอน ถอนเงินระหว่างทางไม่ได้ มีเงื่อนไขการฝากเงินขั้นต่ำ เช่น การฝากประจำดอกเบี้ยสูงแบบกำหนดระยะเวลา กองทุนทริกเกอร์ฟันด์

         เงินฝากประจำ ธนาคารแต่ละแห่งจะจูงใจผู้ฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ควรตัดสินว่าจะฝากกับที่ไหน ให้มองช่วงเวลาถอนเงินเป็นสำคัญ เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือนดอกเบี้ย 2% ต่อปีของธนาคารXXXXX หมายความว่า เราฝากเงิน 40,000 บาทกับธนาคาร XXXXX รูปแบบเงินฝากประจำ 3 เดือน พอถึงวันครบกำหนด 3 เดือนเราจะได้รับเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังนั้นดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจึงไม่ถึง 2% ต่อปีเพราะถูกหักภาษีดอกเบี้ย

         กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นการลงทุนระยะสั้นถึงกลางโดยใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งมีนโยบายในการลงทุนและเงื่อนไขการปิดกองทุนแตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเลือกกองทุนที่ตรงกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการท่องเที่ยวของเรามากที่สุด โดยศึกษา "หนังสือชี้ชวน" ให้เข้าใจก่อนการลงทุน ตัวอย่างข่าวของกองทุนรวมทริกเกอร์ฟันด์

 

“กองทุนเปิดทิสโก้ ไทย อิควิตี้ ทริกเกอร์ 8% กองที่ 12 ลงทุนในหุ้นไทย ตั้งเป้าผลตอบแทนที่ 8% ไม่กำหนดอายุโครงการ โดยจะเลิกกองทุนหากผลตอบแทนถึงเป้าหมาย 8% ซึ่งกองทุนนี้ใช้เวลาปิดกองทุนเพียง 2 สัปดาห์”  

  • ความเสี่ยง คือ เป้าหมายผลตอบแทนที่ 8% ถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่ปิดกองทุน ก็หมายความว่าเงินก้อนนั้นของเราอาจจะไม่ได้ใช้ตามเวลาที่กำหนดในอีก 10 เดือนข้างหน้าก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย 8% ก็อาจจะได้รับเงินเร็วกว่าที่คาดไว้

 

“กองทุนเปิดกรุงไทย 5% ทริกเกอร์ฟันด์ 2 จะเลิกโครงการโดยอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.5555 บาทเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกัน และหากไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ภายใน 6 เดือนบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุน”

  • ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเท่ากองทุนอื่น แต่ก็รับประกันได้ว่าเราสามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้ ทั้งนี้ควรศึกษารายละเอียดส่วนอื่นประกอบว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น เงื่อนไขการขายคืน เงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำ เป็นต้น

 

 

"เที่ยวให้พอดีกับเงินในกระเป๋า แล้วชีวิตเราจะไม่ลำบาก"