อย่างที่ทราบกันดีว่า เวลาเราทำประกันชีวิตเรียบร้อย เราจะได้รับกรมธรรม์มาไว้เป็นหลักฐาน ในการดูสรุปข้อมูล และผลประโยชน์ของแบบประกันชีวิตที่เราได้ทำไป (พร้อมสัญญาเพิ่มเติม ถ้ามี) รวมไปถึงเรื่องของ "เงื่อนไขต่างๆ" ของสัญญาเอาประกัน ที่เราทำไว้กับบริษัทประกันชีวิตด้วย แต่เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ และอาจจะใช้ภาษาที่ตีความเข้าใจยาก จนทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้อ่านหรือศึกษาเงื่อนไขในกรมธรรม์กันอย่างจริงๆจังๆ  ในบทความนี้ ผมจึงขอนำเงื่อนไขดังกล่าว มาสรุปและแปลความให้เข้าใจได้กันได้ง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงเงื่อนไขทั้งหมดในการทำประกันชีวิตกันนะครับ

โดยเงื่อนไขของสัญญาประกันชีวิต อาจจะแตกต่างกันออกไปตามแบบประกัน หรือตามบริษัท ในรายละเอียดบางส่วน แต่สัญญาประกันชีวิตที่ผมยกตัวอย่างมา จะเป็นของแบบสามัญทั่วไป ซึ่งจะมีอยู่ 24 ข้อ ดังนั้น จึงขอแบ่งบทความนี้ออกเป็น 2 ตอน โดยแต่ละตอนจะลงไว้ตอนละ 12 ข้อ เริ่มจากข้อที่ 1-12 ในบทความนี้เลยครับ

และในบทความนี้ ผมขออนุญาต ใช้คำว่า "เรา" แทนคำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ในฐานะที่รู้กันว่า ผู้เอาประกันภัยก็คือตัวเราเอง เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านนะครับ

เอาล่ะครับ เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็เริ่มไปดูเงื่อนไขแต่ละข้อกันเลยดีกว่า 

1. ความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย

สัญญาประกันชีวิตจะสมบูรณ์ เมื่อเรากรอกใบสมัคร, แถลงข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสุขภาพ, เซ็นรับรอง และชำระเบี้ยแล้ว และบริษัทประกันเชื่อถือในข้อมูลที่กรอก จึงจะอนุมัติและทำสัญญาได้เรียบร้อย

แต่ถ้าบริษัทประกันตรวจพบทีหลังว่า ข้อมูลสุขภาพที่เราแจ้ง ไม่ตรงตามความจริง (แจ้งผิด, ปกปิด) แล้วข้อมูลที่ปกปิดมีผลต่อการรับประกันหรือการเพิ่มเบี้ย สัญญาที่ทำมาจะถือเป็น “โมฆียะ” คือ ยังมีผลบังคับอยู่จนกว่าจะถูกบริษัทประกันยกเลิก (บริษัทประกันมีสิทธิ์บอกล้างสัญญา ไม่จ่ายค่าสินไหมชดเชย หรือเงินผลประโยชน์ตามสัญญาได้ทันที ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ทราบ ถ้าเกินจากนั้นจะไม่สามารถบอกล้างได้แล้ว)

2. การไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย

ถ้าบริษัทรับทำประกันให้เรา และทำสัญญากับเราเรียบร้อย โดยที่สัญญานั้นมีความผิดพลาด จากฝั่งเรา ที่บริษัทตรวจไม่พบ (เช่น ไม่แถลงข้อมูลสุขภาพตามความเป็นจริง) บริษัทไม่สามารถปฏิเสธ ว่าจะไม่จ่ายเคลมหรืองดชดเชยให้เราได้ ถ้าสัญญาที่ทำผ่านไปแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญา แล้วเรายังมีชีวิตอยู่ *ยกเว้น กรณีที่เราแจ้งอายุผิดจากความจริงไปมากๆ จนอยู่นอกอัตราเบี้ยปกติ (แต่จะกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับอัตราเบี้ยปกติที่กำหนด)

3. สิทธิและการใช้สิทธิในกรมธรรม์

สิทธิ์ทั้งหมดในกรมธรรม์จะเป็นของเรา ยกเว้นจะยกสิทธิ์ให้คนอื่นโดยทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทประกัน และบริษัทอนุมัติแล้วเท่านั้น

4. การโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัย

เราสามารถเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ ถ้ายังไม่ได้มอบกรมธรรม์ให้ผู้รับผลประโยชน์คนนั้น และผู้รับผลประโยชน์คนนั้นยังไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งบริษัทประกัน ว่าจะขอแสดงตนเป็นผู้รับผลประโยชน์นี้

ซึ่งถ้ามีการแสดงตนแล้ว จะมีการออกบันทึกสลักหลังให้ เพิ่มในกรมธรรม์ และถ้าบริษัทมีการส่งมอบผลประโยชน์ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้รับผลประโยชน์คนไหน ถ้ามีเหตุผิดพลาดให้การรับผลประโยชน์ไม่เป็นไปตามที่ต้องการเปลี่ยน บริษัทประกันไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆอีก

5. ผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์

หากเราเสียชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้ผู้รับผลประโยชน์ที่เราระบุไว้ แต่ถ้าไม่ได้ระบุชื่อใครเลย เงินผลประโยชน์จะถูกจ่ายเข้ากองมรดกเราแทน

ถ้ามีผู้รับผลประโยชน์คนเดียว แล้วเสียชีวิตก่อนเรา เราสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์ได้โดยทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัท แต่หากเราไม่ได้แจ้งเปลี่ยน แล้วต่อมาเราเสียชีวิต เงินผลประโยชน์จะถูกจ่ายเข้ากองมรดกเราแทน

ถ้ามผู้รับผลประโยชน์หลายคน แล้วมีคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนเรา ก็สามารถแจ้งเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์คนนั้นเป็นคนอื่นได้ หรือไม่ต้องเปลี่ยนใครมาแทน แต่เปลี่ยนสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ผู้รับผลประโยชน์ที่เหลืออยู่จะได้รับก็ได้ แต่หากไม่ได้แจ้งบริษัทจะเอาผลประโยชน์ส่วนของผู้รับผลประโยชน์คนที่เสียชีวิตไปแล้ว มาหารด้วยจำนวนผู้รับผลประโยชน์ที่เหลืออยู่ แล้วแบ่งเพิ่มให้คนละเท่าๆกัน

6. การเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์

เราสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์ได้เสมอ จนกว่าเราจะมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับผลประโยชน์คนนั้น และผู้รับผลประโยชน์คนนั้น ส่งหนังสือแจ้งกับบริษัทแล้วว่าจะขอรับผลประโยชน์นี้ หลังจากนี้ก็จะเปลี่ยนไม่ได้ (จนกว่าผู้รับผลประโยชน์คนนั้นจะเสียชีวิตไปก่อน)

ถ้าผู้รับผลประโยชน์คนใหม่ เป็นพ่อแม่ สามีภรรยา หรือลูก เราแค่ทำหนังสือแจ้งกับบริษัทก็พอ แต่ถ้าไม่ใช่ ต้องรอให้บริษัทพิจารณาอนุมัติก่อน และถ้าบริษัทจ่ายผลประโยชน์ไปให้หมดแล้ว บริษัทไม่ต้องชดใช้หรือรับผิดชอบผลประโยชน์ใดๆเพิ่มอีก ถ้าบริษัทไม่ทราบถึงการขอเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์นี้

7. การแก้ไขกรมธรรม์

การแก้ไขข้อมูลหรือข้อตกลงในกรมธรรม์ใดๆ จะมีผลสมบูรณ์เมื่อบริษัทอนุมัติ และออกบันทึกสลักหลังเพิ่มให้ในกรมธรรม์เรียบร้อยแล้ว

8. การเปลี่ยนแบบกรมธรรม์

เราสามารถขอบริษัทเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ที่ทำ เป็นแบบอื่นได้ ถ้าบริษัทอนุญาต ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วเบี้ยถูกลง หรือมูลค่าเวนคืนต้องสูงขึ้น บริษัทจะคืนส่วนต่างค่าเบี้ย หรือส่วนต่างค่าเวนคืน หักด้วยหนี้สินในกรมธรรม์ (ถ้ามี) มาให้ แต่ถ้าเปลี่ยนแล้ว เบี้ยแพงขึ้น หรือมูลค่าเวนคืนต้องลดลง บริษัทจะเรียกเก็บค่าเบี้ยหรือค่าเวนคืนนั้นเพิ่ม

9. การฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม

บริษัทจะไม่จ่ายเงินผลประโยชน์ (ทุนประกัน) เมื่อเสียชีวิตให้ ถ้าพบว่า

9.1 เราฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญา หรือวันต่ออายุกรมธรรม์ครั้งสุดท้าย โดยบริษัทจะ    แค่คืนค่าเบี้ยที่จ่ายมาทั้งหมด หรือค่าเบี้ยที่จ่ายเพื่อต่อสัญญา เท่านั้น

9.2 ถ้าเราถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา บริษัทจะจ่ายเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ให้ (หักด้วยหนี้สิน    กรมธรรม์ ถ้ามี) แต่..

  • ถ้ากรมธรรม์ยังไม่มีมูลค่าเวนคืน บริษัทจะคืนค่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายมาให้
  • ถ้ามีผู้รับผลประโยชน์หลายคน บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ (ทุนประกัน) ให้เฉพาะผู้รับผลประโยชน์ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรม ตามสัดส่วนที่เราระบุให้ผู้รับผลประโยชน์แต่ละคน ตามปกติ แต่จะไม่คืนค่าเบี้ย หรือมูลค่าเวนคืนให้ ในส่วนของผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นคนฆ่าด้วย

10. การแถลงอายุหรือเพศคลาดเคลื่อน

ถ้าแถลงอายุหรือเพศไม่ตรงตามความจริง แล้วทำให้เราจ่ายเบี้ยน้อยกว่าที่ต้องจ่าย แล้วบริษัททราบ บริษัทจะลดผลประโยชน์ที่เราจะได้ลง (ทั้งตอนตายและตอนมีชีวิต) ให้เท่ากับผลประโยชน์ของเบี้ยที่ต้องจ่ายจริง แต่ถ้าแถลงไม่ตรง แล้วทำให้เราจ่ายเบี้ยแพงกว่าที่ต้องจ่าย บริษัทจะเพิ่มผลประโยชน์ให้แทน

แต่ถ้าแถลงอายุหรือเพศ ต่างจากความเป็นจริงไปมาก (อายุจริงอยู่นอกจำกัดอัตราเบี้ยตามทางค้าปกติ ที่บริษัทกำหนด) สัญญาประกันจะถือเป็นโมฆียะ บริษัทมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาได้ โดยบริษัทจะคืนเบี้ยทั้งหมด หักด้วยหนี้สินกรมธรรม์ (ถ้ามี) ให้เรา หรือผู้รับผลประโยชน์แล้วแต่กรณี

11. การแจ้งตายและการพิสูจน์ศพ

ถ้าเราเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ต้องแจ้งบริษัทภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่เราเสียชีวิต แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องแจ้งบริษัทภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบ

โดยเวลาจะขอเคลม ผู้รับผลประโยชน์จะต้องยื่นหลังฐานการเสียชีวิตของเราให้บริษัท (ใบมรณะ) หรือเอกสารอื่นๆ ที่บริษัทอาจจะขอเพิ่มเติม และบริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขตามข้อที่ผ่านๆมาแล้วเท่านั้น

12. สิทธิเกี่ยวกับเงินค้างจ่ายตามกรมธรรม์

เมื่อกรมธรรม์ครบสัญญา หรือเมื่อเราเสียชีวิต แล้วเราหรือผู้รับผลประโยชน์ยังไม่ได้รับเงินผลประโยชน์ตามสัญญา ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ครบสัญญา หรือวันที่เราเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้ ตามอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ย ที่แจ้งไว้ในกรมธรรม์

นั้นคือเงื่อนไข 12 ข้อแรกในสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตนะครับ แล้วติดตามอีก 12 ข้อถัดไป (ข้อ 13-24) ในตอนหน้านะครับ สวัสดีครับ