"บัตรเครดิต" นั้นดูเหมือนเป็นภาพสะท้อนความนำสมัยของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ยุค 4C ก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่ต้มยำกุ้งปี 2540 ที่เขาว่ากันว่าต้องมี รถ (Car) , อยู่คอนโด (Condominium) , พกถุงยาง (Condom) และใช้บัตรเครดิต (Credit card) ดังนั้นเป็นความใฝ่ฝันของคนที่เริ่มทำงานที่อยากจะมีติดตัวไว้สักบัตร บางคนก็อาจจะมีหลายๆใบ

แต่ขึ้นชื่อว่า “เครดิต” ก็คือ “การยืมเงินจาอนาคต” ดังนั้นเงินที่ได้มานั้นไม่ได้ลอยมาให้ใช้ฟรีๆ แถมมีค่าเสียเวลาที่เราใช้เรียกว่า “ดอกเบี้ย” ตามมาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะใช้จะจ่ายอะไรขอให้ระมัดระวัง รูดเพลินเกินห้ามใจ สิ้นเดือนไปน้ำตาตกในจะหาว่าไม่เตือน

วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการเลือกบัตรเครดิตกัน

 ก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่งเริ่มต้นเป็นหนี้เราต้องควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

"สิ่งแรกสุด" ที่คนส่วนใหญ่ควรจะทำ (แต่ก็ไม่ทำกัน) ก็คือ การอ่านเงื่อนไขในการสมัครบัตรเครดิตนั้น ๆ อย่างละเอียด และทางที่ดีก่อนที่จะสมัคร หากมีคำถามประการใดอยากให้ลองโทรไปสอบถามที่ call center เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้มากที่สุด เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องเล็กที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนรีบอยากมีบัตร เจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสารอะไรก็ก้มหน้าก้มตาเซ็นอย่างเดียว ซึ่งพวกเงื่อนไขตัวเล็ก ๆ หรือเครื่องหมายดอกจัน นี่ล่ะที่อาจจะทำให้เราลำบากในภายภาคหน้าได้หากไม่อ่านดี ๆ เช่น ค่าปรับหากผิดนัดชำระ ดอกเบี้ย หรือเงื่อนไขการยกเลิกบัตรใบนั้น ๆ จำไว้ว่าอำนาจเป็นของคุณๆต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนจะขอมีบัตรเครดิตสักใบ

"ประการที่สอง" เลือกบัตรเครดิตให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคุณ บางธนาคารนั้นมีบัตรเครดิตร่วมหรือบริษัทห้างร้านบางแห่งก็ออกบัตรเครดิตของตัวเอง ถ้าหากเราเลือกใช้สินค้าและบริการนั้นๆบ่อยๆการที่เลือกให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ก็อาจจะทำให้คุณได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เช่น หากคุณชอบเดินทางคุณก็เลือกบัตรที่มีการสะสมไมล์ได้รวดเร็ว จะได้บินฟรีได้เร็วขึ้น หรือบางคนกำลังตกแต่งบ้านอาจเลือกใช้บัตรเครดิตของบริษัทห้างร้านดังกล่าวเพื่อรับส่วนลดที่มากขึ้นก็เป็นการดีกว่า 

"ประการที่สาม" ท่องไว้เลยว่า “มีบัตรเครดิต ไม่ได้แปลว่าต้องใช้บัตรเครดิตเสมอไป” เรามีใช้เพื่อยามฉุกเฉินหรือยามจำเป็น นั้นเป็นเรื่องที่ดี เรามีสิ่งที่ต้องซื้ออยู่แล้วแทนที่จะต้องจ่ายเงินสดจ่ายบัตรเครดิตเพื่อรับแต้มแล้วจ่ายเต็มจำนวนย่อมเป็นเรื่องดี บางคนเข้าใจผิด (หรือแกล้งเข้าใจผิด) ว่าวงเงินบัตรเครดิตที่เขาให้มาซึ่งปกติจะเป็น 3-5 เท่าของรายได้ที่เรายื่นขอ จะต้องใช้ให้หมด ใช้ให้เต็ม  หรือมีไว้เพื่ออวดความโก้หรู เพราะทุกครั้งที่รูดแปลว่าหนี้ของคุณได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืนเสมอๆ

วิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต คือ “ดอกเบี้ย” จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเราจ่ายไม่เต็มจำนวน เรียกได้ว่าขาดไปแค่ 0.50 บาท ก็เกิดดอกเบี้ยแล้ว!  วิธีการคำนวณดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน การคิดดอกเบี้ยจะคิดเป็นสองขั้นครับ ขั้นแรกคือคิดดอกเบี้ยจากรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมด  และขั้นต่อมาคือคิดจากเงินคงเหลือหลังจากที่เราจ่ายขั้นต้นไปแล้ว

จะขอตัวอย่างก็จะได้ดังนี้ครับ

สมมุติเรารูดซื้อโทรศัพท์ไป 20,000 บาท  ซึ่งบัตรเครดิตนี้มีวันสรุปยอด วันที่ 24 พ.ย.  และวันกำหนดชำระบัตรเครดิตคือวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งคุณได้เลือกจ่ายขั้นต่ำ 10% นั่นคือ 2,000 บาท และในเดือนธ.ค. (วันที่ 10-24) คุณก็ไม่ได้ใช้บัตรเครดิตอีก

วิธีการคำนวณดอกเบี้ยขั้นแรก :

20,000 บาท(เงินต้นทั้งหมดที่ค้างจ่าย) x 20% (อัตราภาษี)  x 17 วัน (จำนวนวัน วันที่ 24 พ.ย. - 9 ธ.ค.) / 365 วัน = 186.30 บาท

ขั้นที่สอง :

18,000 (เงินต้นค้างจ่าย จาก 20,000-2,000) x 20% x 15 วัน (วันที่ 10 - 24 ธ.ค.) / 365 วัน = 147.95 บาท เพราะฉะนั้นในงวดหลังจากจ่ายขั้นต่ำไป คุณจะไม่ชำระเพียงแค่เงินต้นค้างจ่าย 18,000 บาท แต่จะต้องรวมกับดอกเบี้ยทั้งสองขั้นไปด้วย ซึ่งจะต้องชำระทั้งหมด 18,000 + 186.30 + 147.95 = 18,334.25 บาท.

ดังนั้นอยากให้ฝึกคำนวณดอกเบี้ยให้ดีก่อนจะใช้ทุกครั้งเพราะดอกเบี้ยบางครั้งก็สูงเกือบ 20% ทีเดียวถ้าเราผิดนัดชำระ หรือเลือกชำระขั้นต่ำสามข้อนี้ขอให้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนอยากมีบัตรเครดิตทุกคนเสมอๆ ว่าดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นแพงเสมอ

และครั้งหน้า คอลัมน์ ฉลาดใช้ ฉลาดช๊อป by aomMONEY X Punpro จะนำบทความดีๆ อะไรมาฝากเพื่อนๆ ฝากติดตามกันในบทความหน้านะครับ :)

Mr.Priceless  aomMONEY Writer

#SmartPaySmartShop #ฉลาดใช้ฉลาดช้อป #aomMONEY #PunPromotion #MoneyLiteracy