สวัสดีคร้าบบบบ เมื่อพูดถึงการซื้อประกันแล้ว ในฐานะที่ผมเคยมีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงการประกันชีวิตมา รวมถึงได้เจอกับลูกค้า ผู้มุ่งหวัง และผู้คนทั่วไปที่หลากหลาย ก็พบว่า หลายๆคนยังไม่มีความเข้าใจเรื่องประกันชีวิตอยู่มาก (รวมถึงเจอตัวแทนบางท่าน ที่ก็ยังขายแบบผิดๆอยู่เช่นกัน) วันนี้เลยถือโอกาสรวบรวม ความเข้าใจในการซื้อประกันชีวิตแบบผิดๆ ที่พบเจอบ่อยๆมาอยู่ 6 กรณี ที่มองว่า เป็นความไม่เข้าใจในการซื้อประกันชีวิตของคนส่วนมาก จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง และเราเคยซื้อเพราะเหตุผลแบบนี้ไปหรือไม่? แล้วถ้าไม่ใช่ แล้วอย่างไหนถึงจะถูก? 

นี่คือ 6 ความเข้าใจผิดในการซื้อประกันชีวิต อย่างที่ว่ามาครับ

===========================================

1. "ทำประกันชีวิต" เพื่อเป้าหมายลดหย่อนภาษี

คำถามแรกที่หลายคนมักจะถามผมเวลาที่จะอยากจะซื้อประกันชีวิตซักตัว คือ "จะซื้อเอาไว้ลดหย่อนภาษี มีตัวไหนแนะนำบ้าง?" ซึ่งโดยมากที่ซื้อกันไป ก็จะเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ระยะสั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อเอาไว้ลดหย่อนภาษีกับออมเงิน ดูตัวไหนที่ออมสั้นๆ ได้เงินคืนเยอะๆ ก็เอาตัวนั้นแหละ ไม่สนใจเรื่องการคุ้มครองชีวิตหรือทุนประกันอะไรหรอก

ผิดยังไง? = อันที่จริงการได้รับการลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ผิดที่เอาเรื่องลดหย่อนภาษีเป็นจุดประสงค์ในการซื้อประกัน เพราะมันทำให้เรามองข้าม หรือไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำประกันชีวิต ซึ่งก็คือการ "คุ้มครองความเสี่ยง" เพราะถ้าจะสนใจแต่ลดหย่อนภาษี ไม่ว่า RMF LTF หรือประกันตัวไหนๆก็ลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันหมด ไม่จำเป็นต้องเลือกเลย ดังนั้นเหตุผลที่เราจะเลือกเอาเงินไปซื้อประกัน และต้องเป็นประกันตัวนี้ ก็ต้องมาจากเหตุผลของการป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก ไม่ใช่เหตุผลจากการลดหย่อนภาษี

แบบไหนถึงจะถูก? =  อย่างที่บอกไปว่า จะซื้อประกัน ต้องเริ่มจากเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในชีวิต เห็นความเสี่ยงในชีวิตตัวเอง และต้องการบริหารความเสี่ยงนั้น เป็นหลัก ไม่ใช่เอาเรื่องลดหย่อนภาษีเป็นที่ตั้ง ซึ่งความเสี่ยงในชีวิตที่ต้องใช้ประกันชีวิตตอบโจทย์ ก็จะมีทั้งด้านที่เสี่ยงจากการจากไปก่อนวัยอันควร (คนข้างหลังเดือดร้อน) ที่ต้องใช้ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองชีวิต (แบบตลอดชีพ, ชั่วระยะเวลา) ในการตอบโจทย์ ซึ่งก็ต้องมาคำนวณหาระยะเวลาคุ้มครองและวงเงินคุ้มครองชีวิต(ทุนประกัน) ที่เหมาะสม หรือเสี่ยงที่จะมีเงินไม่แน่นอนในอนาคต (ตัวเองเดือดร้อน) ที่ใช้ประกันชีวิตแบบเน้นออมเงิน (แบบสะสมทรัพย์, บำนาญ) ในการตอบโจทย์ ซึ่งก็ต้องมาคำนวณหาระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน และจำนวนเงินที่ต้องการต่อไป ไม่ใช่แค่ซื้อตามงบที่ตัวเองตั้งไว้ในใจแต่เพียงอย่างเดียว

2. ใช้ประกันชีวิตในการตอบโจทย์เป้าหมายการเงินทุกอย่าง

ข้อนี้โดยมากมักจะเกิดกับฝั่งคนขาย ที่เป็นตัวแทนประกัน คือไม่ว่าจะเป้าหมายการเงินอะไร คุ้มครองความเสี่ยงกรณีจากไปก่อนวัยอันควร? เป้าหมายเกษียณ? เป้าหมายการศึกษาลูก? ฯลฯ ก็ให้ลูกค้าซื้อแต่ประกันชีวิตเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทั้งหมด (จากไปก่อนวัยก็ให้ซื้อแบบตลอดชีพ, เกษียณก็ให้ซื้อแบบบำนาญ, การศึกษาลูกก็ให้ซื้อแบบสะสมทรัพย์) โดยไม่ใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆที่อาจจะเหมาะสมกว่า (เช่น เงินฝาก, กองทุนรวม หรือสินค้าทางการเงินอื่นๆ)

ผิดยังไง? = ประกันชีวิตเป็นสินค้าทางการเงินที่ดี แต่มันก็เหมาะกับแค่วัตถุประสงค์บางอย่าง ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องบางเรื่องที่อาจจะมีสินค้าทางการเงินตัวอื่นที่ตอบโจทย์ได้เหมาะสมกว่า ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนเกษียณโดยใช้แต่ประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งถ้าจะตอบโจทย์ได้เต็มความต้องการ เช่น ต้องการเงินบำนาญใช้หลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท อาจจะต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 150,000 - 200,000 บาท ซึ่งอาจจะสูงเกินไปสำหรับหลายๆคน นอกจากนั้นเงินบำนาญที่ได้ แม้จะการันตี แต่ก็ได้เท่ากันทุกๆปี ทำให้ตอนอายุมากๆ (เช่น 70-80 ปี) อาจจะใช้ไม่พอ เพราะผลจากเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีประกันชีวิตหลายประเภท ไว้ตอบโจทย์เป้าหมายต่างๆได้ แต่ก็ไม่เหมาะจะใช้ตอบโจทย์ได้แบบเต็มๆ เพราะอาจจะเป็นภาระที่หนักไป (จ่ายเบี้ยแพงเกิน) และเงินที่ได้ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ (ถ้าจะไปคิดรวมเงินเฟ้อกับเป้าหมายที่ต้องการ ก็ต้องยิ่งเตรียมเงินมากขึ้น เบี้ยที่ต้องจ่ายก็ยิ่งมโหฬารขึ้นตามไปอีก)

แบบไหนถึงจะถูก? = เงิน เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่เป้าหมายการเงินเรามีหลายอย่าง ดังนั้น เราต้องรู้จักใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้บรรลุทุกเป้าหมายที่ต้องการได้ ซึ่งประกันชีวิต จะเหมาะกับเฉพาะเป้าหมายคุ้มครองความเสี่ยง เน้นคุ้มครองชีวิต เป็นหลัก หรือถ้าเป็นเรื่องของการออมเงิน ก็เหมาะจะใช้แค่เพื่อตอบโจทย์การันตีเงินขั้นต่ำสุด ส่วนที่ต้องเตรียมมากกว่านั้น อาจจะต้องใช้การลงทุนเข้าช่วย จึงจะเหมาะสมกว่า เพราะใช้เงินน้อยกว่า และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่า (แต่ก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน และรู้จักรับความเสี่ยงให้ได้ด้วย) ซึ่งเครื่องมือที่เหมาะสมกว่า อาจจะเป็นการลงทุนใน หุ้น กองทุน อสังหาฯ ฯลฯ ที่ตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายการเงินระยะยาวที่ต้องใช้เงินมากๆ ได้ดีกว่าประกันชีวิต

อย่าลืมว่า สินค้าทางการเงินแต่ละอย่าง มีข้อดีข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย จุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน ไม่มีตัวไหนดีที่สุดสำหรับทุกๆเรื่อง ศึกษาให้เข้าใจ แล้วเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะกับแต่ละเป้าหมายครับ

3. เลือกแบบประกันชีวิตไม่เหมาะสมกับความจำเป็น

คนส่วนใหญ่มักจะซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (ออมเงิน) เป็นหลัก ไม่ว่าจะทำเพื่อออมเงิน หรือเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง เพราะคิดว่าแบบสะสมทรัพย์ดีกว่าแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา ตรงที่มีเงินคืน ไม่ใช่จ่ายทิ้งอย่างเดียว เลยคิดว่าคุ้มค่ากว่า