ชีวิตดี๊ดี คงเป็นคำพูดที่ทุกคนอยากพูดกับตัวเองใช่มั้ยล่ะ!? 

อยากมีชีวิตที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง... ด้านความรัก มีความสุขกับงานที่ทำ ครอบครัวที่อบอุ่น มีไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวเองที่สุด และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือ...

การมีชีวิตด้านการเงินที่ดี

เพราะการมีชีวิตด้านการเงินที่ดี จัดได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยซัพพอร์ตชีวิตด้านอื่นๆ ให้ดี๊ดีตามกันมา และต้องยอมรับว่าเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะต้องมีเงินเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ปัญหาในชีวิตส่วนใหญ่ก็คงจะวนอยู่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ

คำถามที่ว่า จะมีชีวิตการเงินที่ดีได้ต้องทำยังไง? คงเป็นคำถามที่ทุกคนเคยถามตัวเองในใจกันมาบ้างแล้ว ทั้งคนที่มีปัญหาด้านการเงินติดลบ คนที่อยู่แบบพอมีพอใช้ หรือคนที่พอใจมีเงินเหลือเก็บ ทุกคนต้องมีความปรารถนาให้ชีวิตการเงินของตัวเองดีขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะยืนอยู่ในจุดใด

แต่สำหรับ “นายปั้นเงิน” แล้ว มีอยู่ 3 สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ถ้าอยากมีชีวิตด้านการเงินที่ดี 

แรงบันดาลใจของการมีชีวิตการเงินที่ดี

สิ่งแรกที่ต้องมี เราต้องรู้ว่าที่อยากมีชีวิตการเงินดีขึ้น เพราะอะไร? แรงบันดาลใจนั้นคืออะไร? 

          - ต้องการมีเงินมากขึ้นเพื่อที่จะดูแลคนที่รัก
          - ต้องการหลุดพ้นจากสภาวะการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          - อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตที่ดี เป็นต้น

สิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านการเงินเป็นอย่างมาก และมันจะต้องชัดเจนพอที่จะควบคุมให้ตัวเรามีวินัยในตัวเองมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีจุดพลิกผัน ต้องมีความคิดแรงกล้าจนเราต้องลงมือทำเพื่อให้มีชีวิตด้านการเงินที่ดีขึ้น!!

ถ้าแรงบันดาลใจของเราไม่เพียงพอ ก็ยากที่จะเรียกว่าจุดพลิกผันได้ ลองเอากลับไปคิดและเขียนออกมาเป็นข้อๆ ดูครับว่า...

“วันนี้ที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้...คุณอยากมีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น...เพราะอะไร!?”

ทัศนคติเรื่องนี้สำคัญสุด บอกเลย!!

คงได้ยินกันบ่อยๆ ถึงเรื่องของ Attitude ไม่ว่าจะทำเรื่องใดก็ตาม ควรเริ่มต้นด้วยการมีทัศนคติที่ถูกต้องซะก่อน ก็เหมือนกระดุมเสื้อเม็ดแรก ถ้าติดผิด เม็ดต่อๆ มาก็จะผิดเช่นกัน ถ้าอยากมีชีวิตการเงินที่ดี มุมมองในเรื่องเงินจะต้องเป็นบวกก่อนเสมอ

ลองละทิ้งความคิดแย่ๆ เกี่ยวกับการเงินแล้วหันมามองในด้านบวกแทน เช่น 

          - แทนที่จะคิดว่าตอนนี้ไม่มีเงิน จะใช้ยังไงให้อยู่ได้เท่าที่มี ลองมาคิดในมุมที่ว่าจะหาเพิ่มอย่างไรดีกว่า
          - อย่าคิดว่าเงินทองเป็นสิ่งหายาก ให้คิดแต่เรื่องดีๆ และหาวิธีทำเงินให้กับเราได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น

เมื่อมุมมองเรื่องการเงินค่อยๆ เปลี่ยนไป และคุณเริ่มมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องการเงินมากขึ้น นั่นนับเป็นก้าวแรกที่ดีและสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านการเงินแล้วครับ

ตั้งเป้าหมายทางการเงินไว้เป็นเสาหลัก

เป้าหมายทางการเงินเป็นเรื่องทั่วไปที่ได้ยินกันบ่อยๆ ถ้าอยากวางแผนการเงินส่วนตัว เพราะมันคือเส้นชัยทางด้านการเงิน ที่เอาไว้ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เป็นเสาหลักของแผนการเงินที่จะตามมาหลังมีการวางเป้าหมายไว้เรียบร้อยแล้ว 

ซึ่งต่างคนต่างมีเป้าหมายทางการเงินแตกต่างกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ

          - อยากพักผ่อนและเกษียณตอนอายุ 45 ปี
          - อยากส่งลูก 2 คนให้เรียนจนจบปริญญาเอก
          - อยากซื้อบ้านให้กับครอบครัวตอนอายุ 35 ปี เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ต้องรู้จักกำหนดเป้าหมายแบบ S.M.A.R.T ซึ่งเป็นเกณฑ์ยอดนิยมในการตั้งเป้าหมาย ประกอบด้วย

S = Specific 

มีเป้าหมายชัดเจนในด้านการเงินที่อยากจะให้เป็น  ไม่คลุมเครือแบบ “อยากจะรวย?” “อยากมีอิสรภาพทางการเงิน?” แต่ให้เปลี่ยนมาเป็น “จะต้องมีรายได้แบบ Passive income เข้ามาเดือนละแสนบาทจากการลงทุนตอนอายุ 50 ปี”

M = Measurable

สามารถวัดได้ด้วยมูลค่า เช่น “ถ้าอยากส่งลูกเรียนจนจบปริญญาเอก” ต้องรู้ว่าจะต้องเตรียมเงินทั้งหมดเท่าไหร่ โดยคำนวณตามความเป็นจริง (อย่าลืมเรื่องของเงินเฟ้อค่าการศึกษา และค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มเติมนะครับ)

A = Attainable

การมีความฝันไม่ใช่เรื่องผิด แต่การตั้งเป้าหมายทางการเงินนั้นต่างจากความฝัน เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรตั้งอยู่ในกรอบของความเป็นจริง สามารถก้าวไปคว้ามันได้จริงๆ

R = Realistic 

เป้าหมายที่ดีต้องผ่านการกลั่นกรองมาจากความเป็นจริง ในความหมายของผมคือเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ ไม่ได้มาจากความต้องการของคนอื่น หรือตั้งขึ้นมาแบบลวกๆ ไม่งั้นจะขาดแรงจูงใจในการทำเป้าหมายได้ ตัวอย่างเช่น เป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว ก็เลยมีเป้าหมายว่า “จะออกเดินทางไปต่างประเทศทุกปีตั้งแต่อายุ 30”

T = Timely

กรอบเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการตั้งเป้าหมายทางการเงิน เพื่อให้เรากระตือรือร้นและตั้งใจทำมันจริงๆ เช่น “อยากพักผ่อนและเกษียณตอนอายุ 45 ปี” ก็บอกได้อย่างชัดเจนว่า อายุ 45 ปีคือ Deadline ของเป้าหมาย แล้วเหลือเวลาอีกกี่ปีจนกว่าจะอายุ 45 ปี 

นั่นแหละ! คือทั้งหมดของ 3 ข้อที่ควรรู้ถ้าอยากมีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น อันนี้พูดถึงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นนะ ส่วนวิธีคิดจะออกมาเป็นแบบไหน เพื่อนๆ ก็ลองไปดีไซน์กันเองเลยฮะ ต่างคนก็ต่างความคิดอ่ะเนาะ : )

ถ้าอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องการเงินให้มากขึ้นทั้งเว็บออมมันนี่นี้ก็มีเนื้อหาให้ติดตามมากมาย แต่ถ้าอยากคุยเรื่องการเงินแบบหนุกๆ ประสาคนไทยรุ่นใหม่มาคุยกันได้ที่เพจ นายปั้นเงิน นะครับ ผมยินดีและพร้อมคุยกับทุกคนด้วยความเต็มใจคร้าบบบบ : D

นายปั้นเงิน