การลงทุนใน "หุ้น" ขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุุนในตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับตราสารชนิดอื่นๆ อย่างเงินฝาก หรือตราสารหนี้ แต่..อย่าลืมว่าความเสี่ยงของมันก็สูงที่สุดเช่นกัน!

มีหลายคนเดินเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วเปลี่ยนฐานะกลายเป็นเศรษฐีได้ภายในเวลาไม่นาน ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไม่ได้ใจดีกับทุกคน มันทำให้นักลงทุนกลายเป็นคนถังแตกได้เหมือนกันนะ! ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเลือก "วิธีการลงทุน"

ผมรู้จักหลายคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพียงไม่กี่ปีแต่สามารถกลายเป็นเศรษฐีได้ เพราะเขาเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองตั้งแต่แรก แต่ก็มีอีกหลายคนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาตั้งนานยังสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกยังไม่ได้เลย เพราะยังลงทุนแบบผิดวิธีอยู่

ถ้าเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ก็มีโอกาสสูงที่ "หุ้น" จะช่วยเปลี่ยนนักลงทุนธรรมดาให้กลายเป็นเศรษฐี แต่บางคนที่ลงทุนในหุ้นแบบผิดวิธี เงินทั้งหมดก็อาจจะหล่นหายไปกับตลาดหุ้นได้

ใครที่ยังหาแนวทางการลงทุนในหุ้นที่เหมาะสมไม่เจอ วันนี้ผมมีเส้นทางการลงทุนในตลาดหุ้นแบบง่ายๆมาฝาก ใครที่อยากเริ่มต้น และอยากเป็นเศรษฐีด้วยการลงทุนใน "หุ้น" ลองดู 3 เส้นทางที่นำมาฝากกันในวันนี้ได้เลย!!

1. ลงทุนหุ้น แบบนักธุรกิจ..คิดแบบเจ้าของกิจการ

"หุ้น" คือ ตราสารที่ให้สิทธิ์กับนักลงทุนในการเป็นเจ้าของกิจการ นักลงทุนจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ในการออกเสียง และได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือที่เรียกว่า "เงินปันผล" รวมถึงสิทธิ์พิเศษอื่นๆในบริษัทที่เป็นเจ้าของ

ดังนั้น นักลงทุนที่เลือกเส้นทางนี้ จะต้องคิดให้เหมือนกับว่าตัวเองเป็น"เจ้าของกิจการ"ที่จะเข้าไปซื้อหุ้น มีแนวคิดแบบนักธุรกิจ ที่จะต้องดูว่าธุรกิจไหนเหมาะกับนักลงทุน มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานในกิจการนั้นมั๊ย? ผลประกอบการเป็นไปในทิศทางที่ดีมากน้อยแค่ไหน? มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร? เป็นต้น

แต่จะลงทุนวิธีนี้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์กันแบบละเอียด เพื่อเข้าใจในธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ

คือการวิเคราะห์จากตัวเลขที่งบการเงินของกิจการแสดงออกมา ซึ่งตัวเลขนั้นสามารถบอกความเคลื่อนไหวต่างๆในกิจการได้อย่างดี บริษัทที่ดีควรมีตัวเลขที่สามารถบ่งบอกที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน ไม่มีการปิดบังผู้ถือหุ้น อย่างเช่น การเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้น ควรบอกได้ว่าเกิดจากการบริหารต้นทุนหรือยอดขาย มีประสิทธิภาพ อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีเลขอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่ช่วยนักลงทุนในการวิเคราะห์ความน่าสนใจของหุ้นและกิจการนั้นๆได้ เช่น ROE, ROA, P/E, P/BV, NPM, GPM, D/E ratio เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงมีเยอะกว่านี้มากกกกกก (ก.ไก่หมื่นตัว)

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

เป็นการดูเรื่องราวอื่นๆของบริษัท ที่ไม่ได้แสดงผ่านตัวเลขในงบการเงิน เช่น ความจงรักภักดีของกลุ่มลูกค้า, สินค้าที่จะเข้ามาทดแทน, อำนาจต่อรองของกิจการ, มูลค่าของแบรนด์ และชื่อเสียงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะมีเรื่องของอารมณ์และความเชื่อในกิจการนั้นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น กลุ่มบริษัทอาหาร ที่แม้จะมีผลประกอบการดีเด่น แต่แบรนด์สินค้ากลับติดลบในสายตากลุ่มลูกค้าบางคน อะไรประมาณนี้

ซึ่งนักลงทุนที่เลือกเส้นทางนี้ต้องมองการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก เพราะผลตอบแทนที่จะได้จากเส้นทางนี้คือ "เงินปันผล" เป็นหลัก ส่วน "Capital gain" หรือ การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเป็นโบนัสพิเศษที่นักลงทุนจะได้ (เผลอๆได้มากกว่าที่หวังไว้ซะอีก)

เส้นทางนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มั่นใจว่าตัวเองถึก มีเวลาในการศึกษาธุรกิจ มองทิศทางธุรกิจออก ไม่หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาด ถือหุ้นได้ในระยะยาว และนักลงทุนต้นแบบของเส้นทางนี้ได้แก่ วอเรนต์ บัฟเฟตต์, ชาร์ลี มังเจอร์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ คุณกวี ชูกิจเกษม เป็นต้น

ส่วนการเลือกซื้อหุ้นมีหลายวิธี จะใช้การประเมินมูลค่าหุ้นในการซื้อ เพื่อเลือกราคาที่เหมาะสม หรือ จะซื้อเฉลี่ยต้นทุนแบบ DCA ก็ได้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิกเลย!>>> การลงทุนในหุ้นแบบ DCA)

2. ค้าขายตามจังหวะ..ทำกำไรจากราคาหุ้น

ถ้าเส้นทางแรกเราเรียกพวกเขาว่า"นักลงทุน" งั้นเรียกคนที่เหมาะกับเส้นทางนี้ว่า "นักเก็งกำไร" คงจะเหมาะสมมากกว่า

เพราะหุ้นมีการซื้อขายเกือบทุกวัน และราคาของมันก็เป็นไปตามกฏของ Demand/Supply ในตลาดหุ้น หุ้นแต่ละตัวจะมีการเคลื่อนไหวของราคาตามสภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสารต่างๆของหุ้น ซึ่งนักเก็งกำไรจะซื้อขายตาม ข้อมูลที่ได้รับมา

เครื่องมือของนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนแนวเทคนิค คือ "กราฟหุ้น" ที่นิยมใช้กันจะเป็นกราฟแท่งเทียน เมื่อนำกราฟมาดูจะพบว่า หลายๆครั้งการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะมีรูปแบบเดิมๆ และนักเก็งกำไรเชื่อว่าหุ้นจะเคลื่อนไหวแบบเดิมเป็นวัฏจักร

เพราะข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย การประกาศผลการดำเนินงาน/ จ่ายเงินปันผล จะถูกซึมซับและแปรเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของราคา ที่แสดงในกราฟหุ้นเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นนักเก็งกำไรจะใช้กราฟเพื่อการซื้อขาย ดูปริมาณการซื้อขาย ดูแนวรับ/แนวต้าน อีกทั้งยังมี Indicator ต่างๆที่พลอตออกมาจากตัวเลข แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของตลาด จังหวะในการซื้อหรือขาย อย่างเช่น MACD, RSI, Bolinger band, Slow Stochastic เป็นต้น

ซึ่งแนวทางในการดูกราฟก็จะมีหลายวิธี แล้วแต่ความถนัดของนักเก็งกำไรแต่ละคน

ผลตอบแทนที่ได้จะมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเป็นหลัก