การ "ตรวจสุขภาพประจำปี" เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนให้ความสำคัญ เพราะเป็นการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น  และเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพต่อไปในอนาคต

แต่ในขณะเดียวกันการตรวจสอบ “สุขภาพทางการเงิน” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

ซึ่งวัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพทางการเงินก็คือ เป็นแนวทางในการจัดการเรื่องเงินๆทองๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับเป้าหมายทางการเงินที่เราวางเอาไว้นั่นเอง

การตรวจสอบสุขภาพทางการเงินนั้นก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ด้วย 4 สุดยอดเครื่องมือที่ใช้ง่ายแสนง่าย ที่จะใช้ตอบคำถามเรื่องสุขภาพทางการเงินได้อย่างครบถ้วน แล้วเราจะได้รู้ว่า สุขภาพการเงิน ณ ปัจจุบันของเราในแต่ละด้านมีเรื่องไหนที่แข็งแรงดี หรือขาดตกบกพร่องไปบ้าง

1. เครื่องมือวัดความปลอดภัย : เมื่อเราตกงานไม่มีรายได้ เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อีกกี่เดือน ?

ถ้าวันข้างหน้าเราประสบปัญหาไม่มีรายได้เข้ามา อาจเพราะตกงาน ลาออกหางานใหม่ หรือธุรกิจซบเซา สภาพคล่องที่มีอยู่ในมือนั้นเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวันไปได้อีกนานแค่ไหน? “อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน” สามารถบอกเราได้ด้วยสมการง่ายๆ ดังนี้

อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน  =  เงินออมฉุกเฉิน / ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ค่าใช้จ่ายต่อเดือน นั้นเราสามารถประมาณการอย่างง่ายได้ด้วยการเช็คค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างๆในอดีต ซึ่งอัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน ควรมีค่าอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 จึงถือได้ว่าเรามีสภาพคล่องที่เหมาะสม ซึ่งตัวเลขที่ออกมาก็คือ เราจะสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ตัวเลข 3-6 เดือน

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เราขาดรายได้เราจึงควรลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนให้น้อยที่สุด และเริ่มสะสมเงินออมฉุกเฉินไว้ให้เพียงพอตั้งแน่เนิ่นๆ จะทำให้เราจะสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในช่วงที่ขาดรายได้ได้นานขึ้น

2. เครื่องมือวัดสภาพคล่องทางการเงิน : เป็นตัวช่วยในการวัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น

การที่เรามีเงินสดใช้จ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเรื่องการเงินส่วนบุคคล เราทุกคนต่างก็ต้องใช้เงินในชีวิตประจำวัน ยิ่งถ้าใครเป็นคนที่มีหนี้สินในระยะสั้นสูง ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก

เพื่อคำนวนความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น เราจะใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า “อัตราส่วนสภาพคล่อง”

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเรามี “สินทรัพย์สภาพคล่อง” หรือสินทรัพย์ทั้งหมดที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้มากเท่าไหร่ เช่น เงินสด เงินในบัญชีฝากออมทรัพย์และฝากประจำ  และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินเท่านั้น

อัตราส่วนสภาพคล่อง  =  สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง / หนี้สินหมุนเวียน

เมื่อคำนวนสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นมูลค่าเสร็จแล้วจึงนำมาหารด้วย หนี้สินหมุนเวียนหรือหนี้สินที่มีกำหนดครบชำระคืนต่อเจ้าหนี้ภายใน 1 ปี  เช่น ยอดค้างจ่ายจากบัตรเครดิต หนี้ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น

หากค่านี้มากกว่า 1 มากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ถ้าต่ำกว่า 1 แปลว่า เรากำลังประสบปัญหามีเงินไม่พอสำหรับชำระหนี้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

3. เครื่องมือวัดความปลอดหนี้ : หนี้ระยะยาว เรามีความสามารถในการชำระมากแค่ไหน ?

“ความสามารถในการชำระหนี้คืนทั้งหมด” เป็นเครื่องมือที่บอกถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้สินทั้งหมดในระยะยาวของเราได้

ความสามารถในการชำระหนี้คืนทั้งหมด  =  ความมั่งคั่งสุทธิ / สินทรัพย์รวม

หลักการของเครื่องมือนี้คือการใช้ความมั่งคั่งสุทธิ คือ สินทรัพย์ทั้งหมดที่อยู่ในการครอบครอง หักลบด้วยหนี้สินของเรา แล้วหารด้วยสินทรัพย์รวมทั้งหมดที่เรามีเพื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์

โดยที่ถ้าหากไม่มีหนี้สินเลยแม้ซักบาท ค่านี้จะอยู่ที่ 100% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุด

แต่ถ้ามีค่าอยู่ที่ 50% ขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าเรามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน และมีความมั่นคงในฐานะการเงินสูง เพราะมีสินทรัพย์มากเพียงพอที่จะชำระหมดได้อย่างไร้ปัญหา

ถ้าค่านี้ต่ำกว่า 50% หมายความว่าเรามีหนี้สินในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์รวม

แต่ถ้ามีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์รวม เลขที่ออกมาจะเป็นลบ แสดงว่าเรามีการกู้ยืมมากเกินไป หากเทียบกับความมั่งคั่งสุทธิที่เป็นอยู่ มีความเสี่ยงในขีดความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคต

4. เครื่องมือวัดความมั่นคง : เรื่องการเงินในอนาคตแข็งแรงแค่ไหน ?

การที่เราจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดี สิ่งหนึ่งที่ต้องความสำคัญก็คือ “สินทรัพย์ลงทุน” หรือที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ กองทุนรวม รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อไว้เพื่อลงทุน เป็นต้น สินทรัพย์เหล่านี้จะให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนที่ต่างกันไปตามรูปแบบ และผลตอบแทนที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง จากนั้นหารด้วย ความมั่งคั่งสุทธิ คือ สินทรัพย์ทั้งหมดที่อยู่ในการครอบครอง หักลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่เรามี

อัตราส่วนการลงทุน   =   สินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด / ความมั่งคั่งสุทธิ

หากอัตราส่วนนี้สูงกว่า 50% นั่นแปลว่าสถานกาพทางการเงินของเราแข็งแรงมั่นคงดี เพราะมีการลงทุนเพื่อต่อยอดสำหรับอนาคต หากต่ำกว่านี้ ควรเปลี่ยนสินทรัพย์ชนิดอื่นแล้วเริ่มมองหาสินทรัพย์ลงทุน เพื่อสุขภาพการเงินที่ดีในอนาคตระยะยาว

ลองตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองดูซักครั้ง เพื่อดูว่ามีข้อบกพร่อง หรือปัญหาทางการเงินด้านไหนบ้าง

ทั้งด้านสภาพคล่อง หนี้สิน การออมและการลงทุน อย่าปล่อยให้ไวรัสทางการเงินกัดกินตัวเรามากไปกว่านี้ ทางที่ดีควรตรวจเช็คสุขภาพการเงินทุกปี เพราะการรู้สถานะตัวเองในปัจจุบันจะช่วยให้เราวางแผนรับมือกับเรื่องการเงินในอนาคตได้ แล้วเราจะไม่ความสุขไม่ต่างกับการมีสุขภาพที่ดีเลยล่ะ