ชีวิตคนโสดพอเปลี่ยนเป็นชีวิตคู่มักจะเจอปัญหาเรื่องเงินแทบทุกราย ไล่เรียงไปตั้งแต่ค่ากินเที่ยวช้อปปิ้ง ค่าผ่อนรถผ่อนบ้าน ค่าสินสอดทองหมั้น ค่าจัดงานแต่งงาน ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเทอมลูก และอื่นๆอีกสารพัด ภาระที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ใครจะเป็นคนจ่ายต้องตกลงกันให้ดีด้วยเหตุผลและความเข้าใจก่อนใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรง หรือถึงขั้นเลิกรากันไป อย่างกรณีคู่ดาราที่คบหาดูใจกัน 10 ปีกำลังวางแผนแต่งงานกัน แต่กลับเจอมรสุมประเด็นสินสอด 80 ล้านจนต้องจบชีวิตคู่แบบไม่สวย

นอกจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้วยังมีมุมของการเก็บเงินสร้างครอบครัวว่า ใครจะเป็นคนหาใครจะเป็นคนเก็บ รวมกระเป๋าหรือแยกกระเป๋าดี โดยเฉพาะผู้หญิงบางคนจะรู้สึกว่า เงินเราคือเงินของเรา เงินเขาก็คือเงินของเรา ซึ่งเหตุผลลึกๆ แล้วไม่อยากให้ผู้ชายถือเงินเยอะเกินกลัวจะมีคนอื่น แต่ผมคิดว่าการใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เลือกทางที่ทั้งสองฝ่ายสบายใจด้วยเหตุผล ซึ่งแต่ละคู่มีคำตอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมขอแบ่งปันแนวทางที่ผมใช้ขจัดปัญหาเรื่องเงินไว้เป็นทางเลือกหนึ่งกับชีวิตคู่แล้วกันนะครับ

1. พูดคุยเรื่องเงินก่อนใช้ชีวิตคู่

ผมคิดว่าเรื่องเงินจำเป็นต้องคุยกันให้เคลียร์ก่อนใช้ชีวิตคู่ด้วยเหตุผลและความเข้าใจ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคาใจ จนเกิดเป็นปมปัญหาที่แก้ไขยาก ขอยกตัวอย่างเรื่องค่าสินสอดควรพูดคุยหาตัวเลขที่เหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย และเงินก้อนนี้หลังงานแต่งใครจะได้รับไป โดยว่าที่คู่บ่าวสาวคุยกันก่อน แล้วค่อยไปคุยกับผู้ใหญ่แต่ละฝ่าย หลังจากนั้นมาดูระยะเวลาในการเตรียมสินสอดว่าเมื่อไรถึงจะเก็บเงินครบพร้อมแต่ง

2. แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน

ผมคิดว่าฐานะการเงินเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยกับคู่ชีวิต เวลามีปัญหาลงทุนเจ๊ง รายได้หดจนหมดตัว จะได้มีคนรับฟังทำให้ไม่เครียดจนเกินไป และช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา บางคู่ไม่ยอมบอกเครียด จนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ในทางกลับกันเวลามีความสุขก็ต้องแบ่งปันเพื่อให้คู่ชีวิตเรามีความสุขด้วย ซึ่งอาจมีไอเดียใหม่ๆต่อ ยอดความสำเร็จได้

3. ช่วยกันทำงานหาเงิน

ผมเชื่อว่ามีแค่ 15% ของครอบครัวไทยที่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยคนเดียวได้ ส่วนที่เหลือฐานะยังไม่รวยพอจนรู้สึกว่ามั่งคั่งอย่างมั่นคง ดังนั้น ต้องช่วยกันทำงานทั้งคู่ สร้างฐานะขึ้นมาก่อน เพื่อใช้เงินเลี้ยงดูจ่ายค่าเล่าเรียนลูก ใช้เงินหลังเกษียณยามที่ทำงานไม่ไหว และเผื่อเงินค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหนัก

4.แบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละฝ่ายควรรับผิดชอบกันเอง ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางแบ่งตามมูลค่ามากหรือน้อย กรณีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าช้อปปิ้ง ฯลฯ ฝ่ายชายในฐานะผู้นำครอบครัวควรออก ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายมากหน่อย เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ ควรช่วยกันออกตามรายได้ คนที่มีรายได้สูงกว่าก็ออกมากกว่า

5. ร่วมกันบริหารเงินออมให้งอกเงย

ผมคิดว่าการแยกกระเป๋ากันทำให้สองฝ่ายสบายใจ และเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้แก่กัน แต่สิ่งที่ต้องทำคือช่วยดูแลให้พอร์ตเงินออมของทั้งคู่เติบโตและเอาชนะเงินเฟ้อได้จากการลงทุนที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป สำหรับบางคู่มีปัญหาอีกฝ่ายเก็บเงินไม่อยู่ใช้เงินเก่ง ผมแนะนำให้เปิดบัญชีใหม่ขึ้นมาเป็นเงินกองกลางร่วมกันบริหารแยกจากบัญชีส่วนตัวเพื่อความโปร่งใส

หลายคู่อยู่ด้วยกันด้วยความรัก แต่จากกันด้วยความไม่เข้าใจ ผมหวังว่าแนวทางที่เล่าไปจะช่วยให้ชีวิตคู่ไม่เพียงหมดปัญหาเรื่องเงินแต่ยังทำให้ฐานะการเงินรุ่งเรืองครับ