หลังจากที่คราวก่อน นายปั้นเงินพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Asset Allocation และเล่าเรื่องแนวความคิดของวิธีการจัดสรรสินทรัพย์แบบคร่าวๆ กันมาบ้างแล้ว (ถ้ายังไม่ได้อ่านติดตามได้ ที่นี่ )

Asset Allocation เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความเสี่ยงและข้อจำกัดในการลงทุนที่มากขึ้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆบนโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน ผลตอบแทนอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

ทำให้การกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดสรรเงินลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า Asset Allocation คือสิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับนักลงทุน

พูดง่ายๆ ว่าการเลือกซื้อตราสารหนี้ หุ้น หรือกองทุนรายตัว เป็นเรื่องที่สองรองจากการจัดสัดส่วนของพอร์ต เราต้องเลือกสัดส่วนของการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองก่อนที่จะเลือกลงทุนในสินค้าการเงินเป็นรายตัว ยกตัวอย่างเช่น

- เลือกสัดส่วนจากความเสี่ยงของหุ้น สำหรับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงก็ลงทุนในหุ้นพื้นฐาน หรือหุ้นที่ถูกจัดอยู่ใน SET100 หรือ SET50 เป็นสัดส่วนหลัก และให้น้ำหนักหุ้นที่มีความเสี่ยงพอประมาณรองลงมา

- จัดพอร์ตจากลักษณะของสินทรัพย์การลงทุน ลงทุนระยะยาว 30 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนหลัก ระยะกลาง และระยะสั้นก็ให้น้ำหนักรองลงมา (อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนนะครับ)

เพราะปัจจัยในการจัดสัดส่วนของพอร์ตลงทุนของแต่ละคนนั้นต่างกันออกไป ทำให้หลักการจัดสรรสินทรัพย์ไม่มีหลักการตายตัวที่ถูกต้องสำหรับทุกๆคน หรือถ้ามีก็คงต้องใช้เวลาบรรยายไม่รู้จบเลยทีเดียว

งั้นในครั้งนี้ลองไปดู 5 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ เกี่ยวกับ Asset Allocation กันก่อนดีกว่า และขีดเส้นใต้ย้ำหลายๆครั้งไว้เลย จะได้เข้าใจตรงกันว่าวิธีนี้จะช่วยให้นักลงทุนทุกคนรวยขึ้นได้จริงๆ

ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับผลตอบแทน

คงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่า “ผลตอบแทนที่มากขึ้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้น” และประโยคธรรมดาๆนี้แหละ ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำ Asset Allocation เลย

เป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็อยากได้ผลตอบแทนสูงๆจากการลงทุน และก็จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างเช่นหุ้นสามัญ หรือตราสารอนุพันธ์

แต่ทั้งหมดนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงๆ ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของการลงทุนที่ดีที่สุดเสมอไป...

เพราะการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงจะช่วยขจัดความโลภในการลงทุนได้มากขึ้น นักลงทุนที่บริหารพอร์ตได้ดีจะมีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยงที่รับได้อยู่เสมอ จากนั้นก็จะจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับนิสัยของตัวเอง ที่สุดแล้วนักลงทุนก็จะได้พอร์ตโฟลิโอที่ลงทุนแล้วมีความสุข และดีที่สุดสำหรับตัวเอง

อย่าเชื่อในคำพูดหรือคำแนะนำของคนอื่นมากไป

ผมมองว่าการทำ Asset Allocation เป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปตามนิสัยการลงทุนของแต่ละคน การที่มีสูตรสำเร็จจากคนอื่นเอามาให้ใช้ได้เลย เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เขาบอกกันมาว่าดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา

ส่วนมากโปรแกรมการวางแผนการเงินที่มีอยู่ในตลาดอาจจะตีค่าสัดส่วนการลงทุนออกมาตามอายุ เช่น คนอายุ 35 ปี ควรจัดสัดส่วนลงในหุ้นมากกว่า 65% และที่เหลือ 35% ควรเอาไปลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

แต่ปัจจัยอื่นๆอย่างเช่น ความเสี่ยงที่รับได้ สถานภาพความเป็นพ่อแม่ ความต้องการเกษียณอายุ ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเพิ่ม ดังนั้นนักลงทุนควรนำคำแนะนำจากผู้อื่น หรือจากโปรแกรม มาปรับใช้กับการลงทุนตามสภาพความเป็นจริง เพื่อให้ Asset Allocation เกิดประโยชน์สูงสุด

คำแนะนำเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องรู้จักการนำมาปรับตามความเหมาะสม เพราะเราคือคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด อย่าเชื่อในศักยภาพของโปรแกรมวางแผนการเงินเพียงอย่างเดียว ต้องปรับใช้ให้เป็นด้วยนะคร้าบบบ

วางแผนการจัดสรรการเงินตามเป้าหมายที่วางไว้

เราต่างก็มีเป้าหมายทางการเงินที่ต่างกัน ไม่ว่าจะต้องการเกษียณอายุก่อนอายุ 50 ปี, อยากเก็บเงินเพื่อซื้อรถคันใหม่ หรือ อยากส่งลูกให้เรียนจนจบปริญญาโท เป้าหมายทั้งหมดนี้เราต้องทราบระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มวางแผนจัดสรรสินทรัพย์ที่มีอยู่

ตัวอย่างเช่น ถ้าวางแผนจะซื้อบ้านหลังใหม่ในอีก 15 ปีข้างหน้า ก็อาจจะต้องจัดสัดส่วนเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อเร่งผลตอบแทนให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายค่อนข้างยาว และเราสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนนั้นได้ค่อนข้างมาก

แต่ถ้าวางแผนจะส่งลูกให้เรียนปริญญาโทในอีก 5 ปีข้างหน้า เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายมีความสำคัญมาก เงินลงทุนที่จัดไว้ จึงไม่ควรอยู่ในระดับความเสี่ยงที่สูงนัก ทางเลือกที่ดีคือสินทรัพย์การลงทุนที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนดีอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ระยะเวลาคือเพื่อนคนสำคัญ

เคยมีสถิติที่บ่งชี้ว่า “หากคุณเริ่มลงทุนหรือออมเงินเพื่อการเกษียณอายุช้าไป 10 ปี คุณจะต้องเก็บเงินรายเดือนเป็นสามเท่าหากต้องการเงินภายหลังเกษียณที่เท่ากัน” ยิ่งมีระยะเวลาการลงทุนที่เยอะก็จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนทบต้นแสดงประสิทธิภาพได้ดีขึ้น

และเรื่องที่ดีอีกเรื่องคือเราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ถึงแม้การลงทุนเกิดความผิดพลาดไปบ้าง เราก็ยังรับผลเสียหายได้