แน่นอนว่าทุกธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้วใช่ไหมครับ การลงทุนนั้นใครว่าการออมหุ้นจะออมได้ตลอดการล่ะ? สิ่งที่ผมมองก็คือเราควรจะเลือกหุ้นอย่างไรให้ได้หุ้นที่แข่งแกร่งในการทำกิจการที่สุดและทำให้เราสามารถถือหุ้นได้นานที่สุดเพื่อสะสมหุ้นและได้รับเงินปันผลจากการมี Passive Income ได้ อย่างไรก็ตามก็ตามส่วนตัวต้าร์เองมองว่าการที่เราลงทุนนั้นก็ต้องติดตามการดำเนินงานด้วยเช่นกัน อย่างที่เขาว่ากันละว่าการลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน มันไม่ได้อยู่แค่ในบัญชีเงินธนาคาร แต่มันจะเอาไปทำธุรกิจที่มีโอกาสกำไรและขาดทุนเกิดขึ้นได้

ทีนี้มันก็มีคำถามยอดฮิตมาถามผมว่า "พี่ต้าร์คร๊าบ แล้วเราจะขายหุ้นเมื่อไหร่ดี?" 

หลายๆคนอาจจะเป็นผู้เล่นแบบ Technical บางคนอาจจะเป็น VI ที่ประเมินมูลค่า

แต่ในแนวทางผมนั้นจะมาดูที่ตัวกิจการมากกว่า และตัวผมเองก็ชอบหุ้นที่เป็น Growth Stock ที่มีการเติบโตเรื่อยๆ ลึกๆผมเชื่อว่าการเต็มมูลค่านั้นมันจะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นและธุรกิจที่มีการแสวงหาการเติบโตอยู่ตลอดเวลามันไม่มีวันที่จะเต็มมูลค่าได้หรอก ยกวันมันจะเปลี่ยนแปลงในเชิงของการทำธุรกิจจริงๆ อันนั้นคือพื้นฐานเปลี่ยนไปแล้ว

คำถามอีกคำถามหนึ่งคือ "ถ้าธุรกิจเบอร์ 1 มันมีคนใช้ทั่วไปเต็มตลาดแล้วหรือถึงจุดอิ่มตัวแล้วเบอร์ 2 หรือรายใหม่ๆมันยังขยายตัวได้อีกไม่น่าลงทุนกว่าหรอ?"

ส่วนตัวต้าร์ขอบอกเลยว่า "ถ้าธุรกิจเบอร์ 2 มันขึ้นมาได้จริง แปลว่า มันตลาดยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวหรอก ฮ่าๆ เบอร์ 1 เต็มตลาด เบอร์ 2 จะมาได้ไง"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่ก็เป็นความคิดเห็นของตัวผมเอง เบอร์ 2 ก็มีโอกาสชนะเบอร์ 1 ได้ แต่นั่นก็อยู่ที่กลยุทธ์การทำธุรกิจ ตลาดที่มันอยู่ และการแข่งขันทั้งหลาย ซึ่งเราก็คงจะได้เห็นตลอดเวลานะครับ ตลาดบางตลาดเบอร์ 2 เจาะเบอร์ 1 ยากมาก แต่บางตลาด เบอร์ 1 ก็วิ่งทำโปรโมชั่นอัดแหลกหรือพัฒนาเทคโนโลยีล้ำจนเบอร์ 1 ต้องถอยไปเป็นเบอร์ 2 อันนี้ก็อยู่ที่เราจะติดตามละเนอะ การลงทุนไม่มีถูกผิดเพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้และเราก็ต้องเปลี่ยนตามถ้ามันต้องเปลี่ยน ทีนี้มาดูว่าลักษณะเบื้องต้นง่ายๆที่ต้องดูว่าเหตุผลที่เราควรจะขายหุ้นออกจาก Port มีประมาณไหนบ้าง

ข้อที่ 1 ธุรกิจขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

คำว่าขาดทุนของผมคือการขาดทุนจากกำไรกิจการ ไม่ใช่การขาดทุนจากราคาหุ้นลงๆๆๆๆๆๆ เพราะบางครั้งอย่างที่เราทราบกันดีว่า หุ้นที่ราคาลงเอาเรื่อยๆบางครั้งมันก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไร แค่คนร้องกรี๊ด หุ้นก็ลงได้ แต่สิ่งที่จะสะท้อนความมั่นคงของธุรกิจก็คือกำไรกิจการ ถ้าผมเปิดร้านไอติม Aommoney Ice-cream by TarKawin ลงทุนไป 1 ล้านบาท ขาดทุนตลอด 10 ปี ปีละ 1 แสนบาท ราคาหุ้นมันย่อมสะท้อนว่าบริษัทไอติมนี้ตกต่ำแน่นอนในเชิงพื้นฐาน แต่ถ้าราคาหุ้นมันกลับสวนทางขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นแปลว่าคุณกำลังซื้อกิจการที่กำลังจะเจ๊งด้วยเงินราคาแพงขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วจุดนี้ต้องระวังด้วย

บางคนกลัวหุ้นแพงก็เลยรอซื้อเวลาหุ้นถูก แต่ก็ไม่รู้ว่าหุ้นถูกลงเพราะกิจการมันแย่ลงไปตามพื้นฐานที่เปลี่ยนไปแล้ว ถูกแล้วเลยมีถูกอีกขาดทุนเลย ธุรกิจที่ดีต้องซื้อมาแล้วแพงขึ้นเสมอ Mindset ตรงนี้ต้องจำให้ดี ถ้าเกิดธุรกิจไม่ดี ไม่มีกำไร อย่าซื้อ แต่ถ้าธุรกิจดีมีกำไร ย่อมเติบโต คนย่อมอยากได้ ราคายังไงก็ต้องแพงขึ้นในท้ายสุด

เอ้... กำไรที่ว่ามีบางอย่างที่ต้องระวังอีก กำไรกิจการคือกำไรที่เราได้จากการทำธุรกิจที่ควรเป็น เช่น ผมขายไอติม ผมก็ควรขายไอติมให้ได้กำไร ถูกป่ะ? ไม่ใช่ ขายสาขาไอติมที่ขาดทุนทิ้งแล้วบันทึกเป็นกำไรจากการขาย เก้าอี้ โต๊ะ ตู้ไอติม เพราะทรัพย์สินตรงนี้มันขายได้ครั้งเดียวแล้วก็จบกันไป

ข้อที่ 2 ธุรกิจแข่งขันต่อไม่ได้

มีด้วยหรอที่ธุรกิจแข่งขันต่อไม่ได้? ผมยกตัวอย่างง่ายๆนะ ถ้าคุณเคยเลี้ยงม้าเพื่อใช้ในการทำยานพาหนะหรือเอาไว้ขายให้กับกองทัพในยามสงคราม วันดีคืนดี มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อเจมส์ วัตต์ คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้จากไอน้ำได้แล้วเขาก็ประดิษฐ์ของต่างๆนำไปสู่การสร้างรถยนต์ รถไฟ แล้วคนก็แห่กันไปใช้รถยนต์แทน แน่นอนว่าธุรกิจเลี้ยงม้าของคุณมันจะแข่งขันต่อในการสร้างเป็นยานพาหนะไม่ได้อีกต่อไปนอกจากเราจะหันไปทำอย่างอื่น ทุกธุรกิจมันก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ล่ะ ปัญหาคือว่าธุรกิจที่เราลงทุนนั้นเตรียมพร้อมและปรับตัวให้แข่งขันต่อได้ไหม มันยังมีตัวอย่างอีกเยอะมากเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีบ้าง การบริหารงานที่ไม่ดีจนทำให้ไม่สามารถจัดการภายในให้บุคลากรสร้างสรรองค์กรให้แข่งขันได้ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเราก็ต้องติดตามตรงนี้ด้วยเช่นกันนะครับ

ข้อที่ 3 ธุรกิจไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจบางธุรกิจแข่งขันต่อไม่ได้แล้วแต่ก็ยังฮึดสู้ก็มี แต่บางธุรกิจก็ไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงก็เยอะ เพราะคิดว่าผู้บริโภคชอบแบรนด์ตัวเองมากกว่าคู่แข่ง จนบางครั้งเราจะเห็นว่าการก้าวขึ้นมาด้วยนวัตกรรมเล็กๆก็ทำให้หลายๆบริษัทต้องเปลี่ยนกันเป็นทิวแถว อย่างค่ายเพลงต่างๆเดิมที่ก็ใช้คลาสเซทเทปในการจำหน่ายใช่ไหมครับ? อยู่ๆมันมีเทคโนโลยีซีดีขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง พวกระบบเครื่องเล่นก็เปลี่ยน พวกค่ายเพลงถ้าใครยังยืนยันจะขายเทป ขายแผ่นเพลงใหญ่ๆต่อ อันนี้ก็อาจจะพบปัญหาได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆก็เกิดขึ้นเยอะแยะเลย หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันก็แย่เลยนะ

ข้อที่ 4 ผู้บริหารไม่ค่อยน่าไว้วางใจ

การลงทุนเราเอาเงินไปมอบให้บริษัทโดยมีผู้บริหารเป็นผู้ดูแล หากเรามองๆแล้วว่าผู้บริหารไม่ค่อยน่าไว้วางใจเข้ามารับตำแหน่งใหม่อีกด้วย มีประวัติเคยไซฟ่อนเงิน ร่วมฉ่อโกง หรือมีข่าวไม่ค่อยจะดี อันนี้ผมเองก็คง บ๊าย บาย ก่อนดีกว่า ไม่กล้าให้เขาจับเงิน แน่นอนครับว่าเงินของใคร ใครก็ต้องรัก แต่เมื่อเงินเราไปอยู่ที่คนอื่นก็ต้องหาคนที่ไว้ใจได้มาเป็นผู้ดูแลเงินใช่ไหมครับ นอกจากนี้แล้วหากเรามองลึกๆเกี่ยวกับผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารวิสัยทัศน์ดีแล้วสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ได้มันก็ย่อมทำให้เราคาดหวังความก้าวหน้าในกิจการได้ใช่ไหมครับ แต่ถ้ามีแต่ลมปาก ขี้โม้ๆๆๆๆ อันนี้ก็ต้องพิจารณากันอีกทีนะ

ข้อที่ 5 ธุรกิจมีการกู้เงินและเพิ่มทุนโดยไม่มีการขยายกิจการรองรับ

เวลาเราให้เพื่อนยืมเงินหรือเอาไปให้ทำอะไรแล้ว หากมันไม่พอ เราก็มักจะถามว่า "เห้ยยย เอาเงินไปทำไร ทำไมไม่พอ จะเอาอีกเท่าไหร่ไปทำอะไร" การตั้งคำถามแบบนี้ก็ควรเกิดขึ้นในชีวิตของการลงทุนของเรา บางครั้งธุรกิจต่างๆอาจจะอ้างว่าต้องใช้เงินไปกับเรื่องนั้นเรื่องนี้สารพัด แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่ได้ใช้ และไม่ได้คืนเงินด้วย เก็บไว้อยู่ในบริษัทอย่างงั้นแหระ ไม่รู้เอาไปทำอะไร เราต้องเติมเงินเข้าไปตามที่เขาขอ บางทีเอาเงินไปใช้หนี้บ้างอะไรบ้าง ไม่ได้ทำให้กิจการมันดีขึ้นยิ่งใส่เงินลงไปยิ่งเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อย่างงี้ขายหุ้นทิ้งดีกว่านะ (เพราะไม่รู้เขาจะเอาเงินไปทำอะไรกันแน่ ฮ่าๆ)

5 ข้อนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆให้ในเบื้องต้นนะครับ เชื่อผมเถอะ ยังมีวิถีสังเกตุอีกเยอะนอกเหนือจากปัญหาการทำกำไรจากกิจการ การแข่งขันกับคู่แข่ง และการบริหารภายในองค์กร และเพื่อนๆหลายๆคนก็คงมีวิธีการแปลกๆที่จะตัดสินได้ว่า เมื่อไหร่จะต้องพิจารณาขายหุ้นออกจาก Port ดีน้าาาา อิอิ