ชีวิตของเราหลายๆคนก็อาจจะพบตัวอย่างของเพื่อนๆ คนใกล้ตัว หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม บางเวลาจะต้องมีการตัดสินใจบางอย่างที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อย่างเช่น เราอาจจะพบกับของที่อยากได้ ซึ่งเป็นของที่เราอาจจะมีอยู่แล้ว เช่น พอมีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาเท่านั้นล่ะ เราก็เริ่มมีปัญหากับเครื่องเก่าทันที โดยให้ข้ออ้างว่าเครื่องเก่ากำลังจะเสีย เครื่องเก่าช้าแล้ว ใช้งานได้ไม่ทันใจ จะต้องซื้อเครื่องใหม่แล้ว การตัดสินใจแต่ละครั้งเนี่ยมันต้องใช้เงินทั้งนั้น แต่ถ้าการใช้เงินนั้นมันมากเกินกว่าเงินที่เรามีอยู่ จนต้องพึ่งเงินอนาคตจากการผ่อนชำระเป็นรายงวด ซึ่งอาจจะมีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้เราต้องจ่ายเงินมากกว่าเดิม

แต่มันไม่ใช่แค่นั้นหรอกนะครับ การตัดสินใจระหว่างการออมเงินกับการเป็นหนี้มันมีเส้นบางๆ บางอย่างที่ทำให้ใครหลายๆคนเปลี่ยนสถานะทางการเงินไปเลยก็มี ผมขอยกตัวอย่างคน 2 คนให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่าทั้ง 2 คนต้องการสิ่งของที่อยากได้เหมือนๆกัน ซึ่งเป็นของจิปาทะทั่วไป  ไม่ได้เป็นของสำคัญที่จะต้องใช้ ทั้ง 2 คนมีเงินเดือน 1 หมื่นบาทเท่ากัน เขามีความคิดต่างกัน ดังนี้

  • คนที่ 1 บอกว่า "ผมอยากได้ของชิ้นหนึ่งมานานแล้ว ราคา 24,000 บาท ขอผ่อนเดือนละ 2,000 บาท จำนวน 1 ปี" เพื่อให้ได้ของชิ้นนั้นมา
  • คนที่ 2 บอกว่า "ผมก็อยากได้ครับ แต่ผมคิดว่าผมอยากจะเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาท จำนวน 1 ปี" แล้วพอเก็บเงินครบก็จะซื้อของชิ้นนั้นดีกว่า

ด้วยเงิน 2,000 เท่ากัน คุณว่าอะไรที่แตกต่างกัน?

ผมจะบอกให้ก็ได้นะครับว่า มันต่างกันที่ "คนหนึ่งเกิดภาระทางการเงิน" และ "อีกคนหนึ่งพบโอกาสเติบโตทางการเงิน" อย่างละ 20% ต่อเดือนได้เลย

การเกิดภาระทางการเงิน

ผู้ที่เกิดภาระทางการเงิน เขามีหน้าที่จะต้องหาเงินมาจ่ายสิ่งที่เขาอยากได้ในราคา 24,000 บาท นั่นก็หมายความว่าอยู่ๆ เงินก็หายไปจากกระเป๋าเขาจำนวนมากระดับนึง หากเขามีเงินเดือนเพียงเดือนละ 20,000 บาท เท่ากับว่าเขาได้ทำเงินเดือนหายไปมากกว่า 1 เดือน นั่นก็คือการเสียโอกาสทางการออมเงินนะครับ และเสียโอกาสในการต่อยอดในการลงทุนด้วย นอกจากนั้นแล้วเขาอาจจะเจอแจ็คพอตอีกเด้งที่ทำให้เสียโอกาสเข้าไปใหญ่ก็คือ หากเขาผิดนัดชำระสินค้าอาจจะพบกับการ "เสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้" กลายเป็นว่าแทนที่จะเสียเงินแค่ 24,000 บาท อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มเติมอีก นับว่ายิ่งปล่อยเวลาให้เสียไปกับการเป็นหนี้ยิ่งทำให้เราเดินก้าวช้าวกว่าคนอื่นไปอีกหลายก้าวเลยนะครับ

การพบโอกาสทางการเงิน

ผู้ที่เก็บเงินไว้ ไม่ได้เอาไปใช้จ่าย จะอยู่ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกัน นั่นก็คือเขามีเงินเก็บ ไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม และแน่นอนว่าเขาจะนำเงินไปเก็บไว้ด้วยรูปแบบไหนก็ได้ แค่นำไปฝากในบัญชีเงินธนาคารก็ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว หรือถ้าเขาจะเพิ่มความเสี่ยงด้วยการนำไปต่อยอดเป็นการลงทุนก็อาจจะทำให้เขาสามารถเพิ่มความมั่งคั่งเข้าไปได้อีกมาก แต่อย่างไรก็ตามการที่เราจะพบกับโอกาสทางการเงินได้ ก็ต้องศึกษาในเรื่องการลงทุนให้มากจนเข้าใจให้ได้ก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจะเสียดายมากเลยนะครับ และเชื่อไหมครับว่าหลายๆคนสามารถนำเงินไปสร้างความมั่งคั่งจนสามารถซื้อของที่เขาอยากได้โดยไม่ต้องผ่อนในภายหลังได้ด้วยล่ะ นั่นคือเขาสามารถใช้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพียงแต่อาจจะใช้เวลาในการรอคอยมากหน่อยแค่นั้น

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การที่เราจะมีอิสรภาพทางการเงินได้มันเริ่มจากจุดเล็กๆจุดนี้ ทางเลือกระหว่างว่าเราจะเป็นหนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของเราอย่างเร่งด่วนแต่แลกกับการใช้ต้นทุนทางการเงินที่สูงมากในการใช้ชีวิตในอนาคต หรือ เราจะเก็บเล็กผสมน้อยเอาเพื่อนำมาแสวงหาโอกาสทางการเงินนะครับ

แต่... เดี๋ยวก่อนนะ...

ผมอยากจะเสนอว่าเวลาเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำบนความสุขนะครับ ไม่รัดเข็มขัดมากเกินไป บางคนเก็บออมๆอย่างเดียวเลย ไม่ใช้เงินจนไม่มีความสุขก็มี แต่อยากให้ทุกคนบริหารเงินทองอย่างเหมาะสม อย่าเป็นหนี้มากจนเกินไปโดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และก็อย่าลืมสร้างความมั่งคั่งจากการต่อยอดจากเงินออมและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนะครับ จะได้มีอิสรภาพทางการเงิน อย่างสมบูรณ์

ต้าร์ กวิน สุวรรณตระกูล
ผู้แต่งหนังสือ รวยได้จริงกับสิ่งที่เรียกว่าเงินเดือน