หากเอ่ยถึงบริษัท Jaymart Group นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาสักพักจะต้องรู้จักหุ้น JMART อย่างแน่นอน ในฐานะของหนึ่งในหุ้นขนาดใหญ่ ใน SET50 ที่ทำธุรกิจร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและมีมูลค่ากิจการกว่า 6 หมื่นล้านบาท หรือสำหรับคนทั่วไป Jaymart ก็คือหนึ่งในร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือชั้นนำที่มีสาขามากมายกว่า 300 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมองมุมไหน สิ่งที่ทำให้คนนึกถึง Jaymart ก็คือธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะนี่คือธุรกิจที่เห็นได้ชัดที่สุดของบริษัท ผ่านสาขาร้านค้าของ Jaymart ที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่าง ๆ มากมาย

ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องนี้นับได้ว่าเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในทุกปี เพราะทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือเปรียบได้กับปัจจัยที่ 5 ที่คนไม่อาจขาดได้ในชีวิตประจำวัน ผลประกอบการของ Jaymart จึงเติบโตขึ้นตามไปด้วย ยิ่งมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ออกมา หรือมีอุปกรณ์เสริมที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจของ Jaymart ก็ยิ่งได้ประโยชน์

แต่ถ้าดูจากงบการเงินไตรมาสล่าสุดของ Jaymart Group รู้หรือไม่ว่ารายได้ของบริษัทกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้มาจากธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อ้างอิงจากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ในงบการเงินรอบ 6 เดือนเมื่อมิถุนายนปี 2565 จากรายได้รวม 6,784 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นเงิน 4,618 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2,166 ล้านบาท มาจาก “ธุรกิจอื่น”

จริงอยู่ว่า ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถืออาจคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดของรายได้รวมของทั้งบริษัท Jaymart Group  แต่สัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 ซึ่งมาจากธุรกิจอื่นก็นับว่าไม่น้อยเลย และหากนับรวมมูลค่าอาณาจักรทางธุรกิจทั้งหมดของ Jaymart Group แล้ว อาจมีมูลค่ารวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท  Jaymart Group จึงไม่ใช่เพียงบริษัทที่ขายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เหมือนกับ Iceberg ที่คุณอาจมองเห็นเพียงแค่ยอดด้านบน แต่แท้จริงแล้วมีภูเขาขนาดมหึมาที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ ที่ภาพยนตร์โฆษณาของ Jaymart Group ตัวล่าสุดได้สื่อสารออกมาอย่างเข้าถึง insight ของคนที่มองไปยังธุรกิจของตัวเค้าเอง ครั้งนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Jaymart Groupให้มากขึ้นกัน

บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (ตัวย่อหุ้น JMART) แท้จริงแล้วเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นที่มีศักยภาพ ทั้งธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี โดยมีแกนธุรกิจหลักของบริษัทคือการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ สินค้าไอที และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของบริษัทอื่นที่ Jaymart Group เข้าไปลงทุนหรือเป็นบริษัทในเครือ ถ้าให้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่อย่างง่าย จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ บริษัทในเครือที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทในเครือที่เป็นบริษัทจำกัดยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, และบริษัทที่ Jaymart เข้าไปลงทุนถือหุ้นอยู่

1) บริษัทในเครือที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ตัวบริษัท Jaymart เองมีบริษัทในเครือถึง 4 แห่งที่มีขนาดใหญ่จนสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นได้ โดย 4 บริษัทนี้คือ Jaymart (JMART) ที่เป็น โฮลดิ้งคอมพานี ถือหุ้นในธุรกิจที่มีศักยภาพต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น JMT Network Services (JMT), JAS Asset (J), และ SINGER

JMT Network Services (ตัวย่อหุ้น JMT) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจรับบริหารหนี้ โดยมีบริการหลัก ๆ คือ การบริหารหนี้สินด้อยคุณภาพ ผ่านการรับโอนหรือซื้อหนี้จากบริษัทอื่นแล้วเอามาบริหารจัดเก็บหนี้, บริการเร่งรัดหนี้สิน ติดตามหนี้ให้กับบริษัทหรือสถาบันการเงิน โดย Jaymart Group ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ทั้งสิ้น 53.4% และตัวบริษัท JMT มีมูลค่ากิจการประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

Jas Asset (ตัวย่อหุ้น J) ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริการพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าต่าง ๆ โดยโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งบริษัทดูแลอยู่ก็อย่างเช่น คอมมูนิตี้มอลล์ The Jas รามอินทรา, The Jas วังหิน, Jas Green Village คู้บอน, บริหารพื้นที่เช่าสำหรับร้านมือถือภายใต้แบรนด์ IT Junction ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น Big C นอกจากนั้น Jas Asset กำลังขยายธุรกิจไปสู่สถานดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในชื่อ SENERA Senior Wellness อีกด้วย โดย Jaymart ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ทั้งสิ้น 65.5% และตัวบริษัท J มีมูลค่ากิจการประมาณ 4 พันล้านบาท

SINGER (ตัวย่อหุ้น SINGER) จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน, เครื่องมือและอุปกรณ์ในเชิงพาณิชย์, ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือออนไลน์, ตู้เติมน้ำมันแบบหยอดเหรียญ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านระบบสินเชื่อเช่าซื้อ โดย Jaymart Group ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ทั้งสิ้น 25.5% และตัวบริษัท SINGER มีมูลค่ากิจการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

2) บริษัทในเครือที่เป็นบริษัทจำกัดยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทในกลุ่มนี้คือบริษัทในเครือของ Jaymart Group ที่เข้าไปถือหุ้นเกือบ 100% หรือเข้าไปถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตัวอย่างบริษัทในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย

Jaymart Mobile ดำเนินธุรกิจจำหน่ายมือถือ อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจแกนหลักของ Jaymart Group โดยปัจจุบันมีมากว่า 300 สาขาทั่วประเทศ โดย Jaymart ถือหุ้น 100%

KB J Capital ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย เป็นการร่วมทุนกับบริษัท KB Kookmin Card หนึ่งในบริษัทบัตรเครดิตที่ใหญ่ที่สุดจากประเทศเกาหลีใต้ โดยเจมาร์ทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 49.9

SG Capital ดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท SINGER ซึ่งกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 65 นี้

Beans and Brown ธุรกิจร้านกาแฟ Specialty Coffee แบรนด์ Casa Lapin

J Ventures พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มด้านฟินเทค โดยมีการระดมทุนแบบ ICO ด้วย JFIN Tokenปัจจุบันกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มฟินเทคเพื่อการปล่อยกู้, บล็อกเชน, และแพลตฟอร์มสำหรับอีคอมเมอร์ซ ปัจจุบันมี Blockchain เป็นของตนเองชื่อ JFIN Chain

JGS Synergy Power เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยร่วมทุนกับ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) และ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) ทำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มพลังงานทดแทน และโซล่าร์ รูฟท้อป

3) บริษัทที่ Jaymart เข้าไปถือหุ้นอยู่

บริษัทในกลุ่มนี้จะมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ที่ Jaymart เข้าไปลงทุนเพราะมองเห็นอนาคตที่สามารถทำโครงการร่วมกันได้ โดยบริษัทในกลุ่มนี้ประกอบด้วย JAYDEE Group, PRTR Recruitment (กำลังจะเข้าไปถือหุ้น), บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ตัวย่อหุ้น NINE), JK AMC (บริษัทที่ JMT เข้าไปร่วมทุนกับ KBANK), และ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (ตัวย่อหุ้น BRR)

จากข้อมูลทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าJaymartGroup ไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับธุรกิจหลักอย่างการขายโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว ธุรกิจในเครือของบริษัทมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่การจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ, บริหารจัดการหนี้, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, เทคโนโลยี และอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจทั้งหมดนี้ช่วยสร้างผลกำไรให้กับ Jaymart Group ในแต่ละปีนับพันล้านเลยทีเดียว

งบการเงิน Jaymart

ปี 2563

รายได้ 11,715 ล้านบาท

ค่าใช้จ่าย 10,917 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 798 ล้านบาท

ปี 2564

รายได้ 12,336 ล้านบาท

ค่าใช้จ่าย 9,868 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 2,468 ล้านบาท

งวด 6 เดือนปี 2565

รายได้ 6,784 ล้านบาท

ค่าใช้จ่าย 5,744 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 715 ล้านบาท

แม้ธุรกิจในเครือของแต่ละบริษัทจะดูแตกต่างกันมากแต่นี่คือสิ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดการทำงานของ JaymartGroupที่วางไว้ตั้งแต่แรกว่าต้องการเข้าถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกด้าน ด้วยหลักการทำงานที่เริ่มด้วย “ใจ”

คำว่า “ใจ” ในที่นี้ หมายถึงการที่ Jaymart Group ต้องการนำใจของตัวเอง ไปใส่ไว้ในทุกอณูของธุรกิจมากที่สุดและหลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยหลักการทำงาน 4 ข้อคือ ทำด้วยใจ, ให้ใจ, สร้างสรรค์ด้วยใจ, และพลังใจ เพราะ Jaymart เชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาชีวิตทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า และที่สำคัญคือลูกค้า ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด หากมีธุรกิจใดที่ Jaymart เล็งเห็นโอกาสและสามารถต่อยอดไปได้ บริษัทก็พร้อมจะเข้าลงทุนและต่อยอดให้เติบโตขึ้นไปอีก

ด้วยการทำงานแบบ “ใจ” นี้เอง จึงทำให้ Jaymart Group มีธุรกิจในเครือที่หลากหลายเพื่อตอบสนองลูกค้าในทุกมิติให้ได้มากที่สุด ในมุมของธุรกิจแล้ว บริษัทใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง และนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าได้มากพอ ธุรกิจนั้นย่อมมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า เพราะไม่พึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป และถ้ามองในมุมของผู้บริโภค ธุรกิจนั้นก็มีโอกาสไปอยู่ใน “ใจ” ของผู้บริโภคได้มากขึ้น มีธุรกิจอยู่รอบตัวที่พร้อมจะให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ และสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาเป็นรายได้และผลกำไรที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Jaymart Group จึงมีอาณาจักรธุรกิจแสนล้านมาจนถึงทุกวันนี้ได้

บทความนี้เป็น Advertorial