ตอนที่ยังเป็นเด็ก เราแทบไม่ต้องปวดหัวหรือรับผิดชอบกับเรื่องต่างๆ มากมาย เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำกัน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนึงเราเองก็ต้องโตเป็นผู้ใหญ่และต้องดูแลตัวเองในหลายๆ เรื่อง ซึ่งกว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องลองผิดลองถูกไม่รู้จบ

วันนี้ aomMONEY เลยนำบทเรียนทางการเงินและชีวิตของ คุณมอร์แกน โฮเซล ผู้เชี่ยวชาญและนักเขียนบทความด้านการเงิน ที่เขียนจดหมายถึงลูกเผื่อว่าวันหนึ่ง หากลูกโตมาจะได้มีแนวทางการใช้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง จะเป็นอย่างไรไปดูกันเลยครับ

1. ตระหนักไว้เสมอว่า แต่ละคนมีโอกาสในชีวิตไม่เหมือนกัน

บางคนมักจะคิดว่า เรากำหนดอนาคตตัวเองได้ และการทำงานหนักก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ความสำเร็จทั้งหมดไม่ได้มาจากการทำงานหนักอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน สภาพสังคม หรือแม้แต่คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ล้วนหล่อหลอมให้เราเป็นเราแบบทุกวันนี้ ดังนั้น การที่เราตระหนักและรู้ทันในเรื่องของโอกาส ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

2. เงินปันผลสูง คือ ตัวช่วยที่ทำให้เรามีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต ไม่ใช่สิ่งของหรือเสื้อผ้าที่เราใส่ แต่คือ การมีอิสรภาพ เช่น งานที่ทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น เงินสำรองฉุกเฉินที่ช่วยให้เรานำออกมาใช้ได้ทันที เงินปันผลที่จะช่วยให้เรามีอิสรภาพทางการเงินในอนาคต เป็นต้น

3. อย่าใช้ชีวิตแบบโดนสปอยล์

ให้เรียนรู้อยู่เสมอว่า เราไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจเราได้เสมอ เพื่อเราจะได้แยกแยะสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่จำเป็น และเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่ เป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดจากทุกสถานการณ์ได้

4. ความสำเร็จไม่ได้มาจากการกระทำที่ยิ่งใหญ่เสมอไป

เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน เราไม่ต้องเป็นคนที่ฉลาดมากๆ เพราะหัวใจสำคัญของการบริหารเงินก็คือ เราต้องมีวินัยและทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องพยายามไม่สร้างหนี้สิน เพราะการไม่มีหนี้ คือ เคล็ดลับทางการเงินอันทรงพลังที่สุด

5. ใช้ชีวิตให้เรียบง่ายและใช้เงินให้น้อยกว่าที่มี

ความสามารถในการบริหารเงิน เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เราควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้ 50,000 บาท แต่ใช้เงิน 40,000 บาท ก็ยังสามารถอยู่ได้ ซึ่งจะต่างจากคนที่มีรายได้ 1 ล้านบาท แต่ใช้เงินเดือนละ 1.2 ล้านบาท เพราะสุดท้ายการใช้เงินให้น้อยกว่าที่เรามี ก็จะช่วยให้เรามีความสุขกับการใช้เงินนั่นเองครับ

6. การลองเปลี่ยนแผนไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป

ถ้าวันหนึ่งเราพบว่า ทางที่เดินอยู่นั้นไม่ใช่และทำให้เราไม่มีความสุข ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรครับ ที่เราจะลองเปลี่ยนแผนและเลือกทางเดินใหม่ เพราะความรู้สึกของเรากับเป้าหมายต่างมีความเกี่ยวข้องกัน อย่าจมอยู่กับความรู้สึกผิด และพยายามให้อภัยตัวเองอยู่เสมอ เพราะนั่นเป็นการให้โอกาสตัวเองในการทำสิ่งใหม่ๆ

7. ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย

การลงทุนก็ต้องแลกกับความผันผวนและความไม่แน่นอน หรือการสปอยล์ลูกเกินไปก็ต้องแลกกับชีวิตที่ต้องอยู่ในเกราะกำลังตลอด ซึ่งเราจะเห็นว่า ทุกอย่างที่เราทำต่างมีราคาและคุณค่าที่แท้จริงซ่อนอยู่ครับ ดังนั้น เมื่อเราเรียนรู้ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มให้ค่ากับเวลา ความสัมพันธ์ เงินที่ใช้จ่าย และทำอะไรแบบคิดหน้าคิดหลังมากขึ้นครับ

8. เงินไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จในชีวิต

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความสำเร็จในชีวิต คือ การถูกรักจากคนที่เราต้องการให้รัก” ซึ่งความรักนั้นมาจากการที่เราปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นกับความมั่งคั่งหรือจำนวนเงินที่เรามี เพราะเงินไม่สามารถทดแทนสิ่งที่คนเราต้องการได้ทั้งหมด และไม่สามารถใช้แทนความเป็นตัวตน ความซื่อสัตย์ หรือความเห็นอกเห็นใจของเราที่มีต่อผู้อื่นได้

9. อย่าหลับตาหลงเชื่อทุกคำแนะนำ

นี่คือบทเรียนข้อสุดท้ายที่กว่าจะรู้ตัวช้า แต่ก็ไม่สายเกินไปที่จะยอมรับ โลกที่พ่ออยู่กับโลกของลูก คือ คนละยุคสมัย ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัวในบทเรียนชีวิต เพราะช่วงชีวิตเราไม่เหมือนกัน อย่าเอาคำแนะนำของคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ต้องคิดถึงชีวิต เป้าหมาย และสถานการณ์ของเราด้วย

และนี่คือบทเรียนทางการเงินและชีวิตของ คุณมอร์แกน โฮเซล ที่ได้เขียนไว้ให้ลูกได้อ่านเมื่อโตขึ้นครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของเราไม่มากก็น้อย แล้วเพื่อนๆ คิดเห็นกันว่าอย่างไร คอมเมนต์พูดคุยกันได้เลยนะครับ