Generation Alpha หมายถึง กลุ่มคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2553 - 2568 (2010 - 2025) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลผลิตของคน Y นั่นเอง
มีการประเมินว่ามี Gen Alpha กำลังเกิดใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.5 ล้านคน / สัปดาห์
เกิด เผชิญ เจริญเติบโต ท่ามกลางเทคโนโลยี
ความพิเศษของเด็ก Gen Alpha คือ การเติบโตอยู่ในโลกข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก หล่อหลอมและส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความคิดของหลายมิติ เช่น พวกเขาต้องการที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย, พวกเขาจะคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตเปลี่ยน, สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน, การศึกษาเปลี่ยน ทำให้เด็กรุ่นนี้มีมุมมองในมิติโลกการเรียนรู้และอาชีพการงานเปลี่ยนไป เกิดเป็น passion ที่อาจสร้างอาชีพในฝันในอนาคตด้วย
การเติบโตขึ้นพร้อมกับความรวดเร็วของอินเตอร์เนต ทำให้เด็ก gen นี้มีกิจกรรมบนออนไลน์ กิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เนตมากที่สุด คือ
1. ความบันเทิง เช่น เล่นเกม, ฟังเพลง, Youtube
2. โซเชียลเน็ตเวิร์ค
3. ค้นหาข้อมูล
จากการสำรวจเด็ก gen นี้มีการใช้อินเตอร์เนตทุกวันเฉลี่ย 47.4% และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นอีกแบบทวีคูณ เรียกได้ว่าเป็น Organic digital native! อย่างแท้จริง
แล้ว Gen Alpha สำคัญยังไง?
แน่นอนว่าคน Gen Alpha จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อตลาด เพราะเป็นเจ้าของอำนาจและกำลังซื้อ โดย
1. เด็กอายุ 4-9 ปี เหมือนเป็นศูนย์กลางของครอบครัว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของพ่อแม่ที่เป็นคนgen Y และ Millennial สูงถึง 65%
2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น กิจกรรมเสริมความสามารถพิเศษ, workshop, ทักษะกีฬา ฯลฯ เพื่อให้ลูกหลานออกห่างจากโลกออนไลน์
ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางพฤติกรรมด้านต่าง ๆ
1. รูปแบบการใช้จ่าย
อย่างที่ย้ำไปว่า เด็กรุ่นนี้เกิดมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี จึงที่เอื้ออำนวยให้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เพราะแค่มีบัตรหรือมือถือที่รองรับการจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสดก็สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าซื้อของ, โอนเงิน, สะสมคะแนน, ซื้อสินค้าออนไลน์, ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต, จองที่พัก ฯลฯ อย่างเป็นเรื่องปกติ จนแทบจะไม่มีการใช้สอยแลกเปลี่ยนกันในโลกออฟไลน์ จึงเป็นการปลูกฝังให้เด็กสร้างมุมมองต่อคุณค่าเงินเป็นเพียงเงินในโลกดิจิตัล และเด็กจะมีความเข้าใจเรื่องการใช้จ่ายเป็นเรื่องสะดวกสบาย รวดเร็ว คล่องตัว
2. อาชีพในฝัน
อาชีพบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นอาชีพในฝัน เช่น การเป็น YouTuber / Blogger/ Vlogger เกมเมอร์, e-sport และนักแคสต์เกม เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่อาจเคยมองสิ่งเหล่านี้ในแง่ลบ เป็นกิจกรรมที่เสียเวลา และไม่ได้พัฒนาทักษะเหมือนการเรียน หรือสร้างสรรค์ความสามารถพิเศษอื่น ๆ แต่สำหรับเด็กgenอัฟฟ่าแล้วนี่คือพื้นที่ที่พวกเขาสามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร สร้างรายได้ และชื่อเสียง
โดยเฉพาะ Youtube จะเป็นช่องทางปล่อยของและแสดงมุมมองความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อโลก แถมยังสามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวพวกเขาเองได้อีกด้วย
กรณีที่เห็นได้ชัดเลย คือ Ryan ToysReview ชาแนลรีวิวของเล่นโดยไรอัน เด็กชายวัย 8 ขวบ ด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัว, ความความจริงจังและความสม่ำเสมอในการผลิตคอนเทนต์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพ จึงทำให้ Ryan ToysReview กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านของเล่นและเป็นยูทูเบอร์ที่มีรายรับมากที่สุดประจำปี 2018 จากการจัดอันดับของ Forbes (เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 61) โดยสามารถทำรายได้ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 720 ล้านบาท) ซึ่งก็สะท้อนอีกว่าทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภคได้เปลี่ยนช่องทางการรับสาร-ส่งสาร ไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
3. การใช้เทคโนโลยีตอบสนองทุกประสาทสัมผัส
การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี AI และ AR มีส่วนช่วยให้การเรียนรู้สำหรับ gen Alpha ดีขึ้น ทั้งการเข้าสู่ตลาดของเทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด (Voice Recognition) ที่เห็นในตอนนี้ เช่น GoogleHome หรือ Amazon Echo ที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยประสาทสัมผัสด้านอื่น ๆ นอกจากการสัมผัสจอ และทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่นเดียวกับเหล่าของเสริมพัฒนาการแบบ AR
เช่น ที่ Dexii ที่ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR เสริมการเรียนรู้ ยิ่งสนุกมากขึ้นเมื่อคุณสวมใส่แว่นตา VR เพื่อสวมบทบาทนักทดลอง และได้เห็นบทเรียนจากตัวหนังสือเป็นภาพที่เพิ่มศักยภาพในการเรียนรูและเข้ากับความสนใจของเด็ก gen นี้
4. การศึกษาทางเลือก
นิเวศของการเรียนรู้จะเปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนไป มีการแข่งขันพัฒนาโมเดลเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์โปรแกรมการศึกษาของนักเรียนแต่ละคน (personalize) ตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งตรงกับความคิดของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนให้ลูกหลานโดยคาดหวังให้บทเรียนจากระบบทางเลือกนี้สร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหาในอนาคตได้
5. แนวคิดสร้างสรรค์สังคม
ในขณะที่เด็ก gen นี้ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ยังต้องการพื้นที่สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นและได้รับการยอมรับจากสังคมเช่นกัน และด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์นอกห้องเรียน เน้นการปฏิบัติ การปลูกฝังความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต เด็ก gen นี้จึงสนใจการทำงานแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และงานอาสาสมัครที่ได้ช่วยเหลือคนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น องค์กรสิ่งแวดล้อม, ช่วยเหลือผู้อาศัยถิ่นทุรกันดาร, นักกิจกรรมบำบัด, นักพัฒนาชนบท, นักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก #aomMONEY ทุกช่องทาง
Line@ : @aommoney