เรื่องมีอยู่ว่าผมเป็นตัวแทนของทาง AomMoney ซึ่งเป็นสื่อที่ให้ความรู้เกี่ยวกับด้านการเงินรวมไปถึงการสนับสนุนการให้ความรู้ของธุรกิจ Fintech ได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานและเป็นคณะทำงานของ Thai Fintech Club เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและนำเสนอการการสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับของภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. คปภ. รวมไปถึงภาคเอกชนยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารต่างๆ

โดยเป้าหมายของกลุ่มนั้นมีดังนี้

  1. ช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทให้กับคนไทย
  2. ช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการเงิน
  3. ช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมทางการเงินและการลงทุนมีการแข่งขันอย่างโปร่งใสและยุติธรรม
  4. ช่วยทำให้ Fintech ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันในตลาดโลกได้

ซึ่งการประชุมเป็นไปด้วยดีและภาครัฐทุกหน่วยงานมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกับชมรมของเรา และคิดว่าต่อไปน่าจะมีกฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการเติบโตให้กับ Fintech มากยิ่งขึ้นครับ

แน่นอนว่าชมรม Fintech นี้จะขาดบุคคลสำคัญท่านหนึ่งไม่ได้เลย นั่นก็คือประธานชมรมของเราคือคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เข้ามาช่วยผลักดันให้งานนี้สำเร็จ ผมจึงใช้โอกาสระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกับทางคุณกรณ์เรื่องมุมมองความเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยว่าเป็นอย่างไรและต่อไปควรจะพัฒนาในด้านไหน ก็เป็น Topic ที่พูดคุยกันอย่างน่าสนใจมากครับ

"ความรู้ทางการเงินเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศอยู่เลยนะ" 

คุณกรณ์มองว่าในปัจจุบันความรู้ทางการเงินของคนไทยยังต้องพัฒนาและให้ข้อมูลที่เข้าถึงมากกว่านี้ หลายคนยังไม่เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างเด็กที่บ้าน พอเห็นข้างบ้านออกรถป้ายแดงก็อยากจะมีบ้าง (แค่ความยากก็ทำให้ซื้อได้) แต่ไม่ได้คิดเผื่อ พอมีแล้วผ่อนไม่ไหว กลายเป็นปัญหาทางการเงินของตัวเอง นั่นแสดงว่าการคิดวิเคราะห์ทางการเงินของหลายๆคนยังไม่ถูกต้อง 

พอไปมองในระดับที่ใหญ่กว่านั้นยิ่งเห็นความจำเป็นของความรู้ทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่นอาชีพเกษตกร หลายคนยังไม่ทราบข้อมูลของตัวเองว่าต้นทุนเป็นอย่างไร ต้องบริหารจัดการอย่างไรให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี พ่อค้าแม่ค้าก็มีบางกรณีที่การเงินดีจากการค้าขายแต่พอเจออุบัติเหตุทางการเงินก็ทำให้ธุรกิจสะดุดไปเลย พอเกิดปัญหาทางการเงิน สิ่งที่เขาจะแก้ปัญหาก็คือการกู้ยืมเงิน เกิดหนี้นอกระบบ และพอเป็นหนี้นอกระบบก็ออกมากันไม่ได้ในท้ายสุด แม้กระทั่งอาชีพครูเป็นกรณีที่น่าสนใจมากเพราะเป็นกลุ่มที่มีเครดิตดี ก็เลยมีความสามารถในการกู้ยืมเงินได้ แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องหนี้ ตัวเลขนั้นมากถึง 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว 

"ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ Basic Financial Discipline การสร้างวินัยทางการเงินขั้นพื้นฐาน"

คุณกรณ์ให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ในกลุ่มลูกคนจีนที่พ่อแม่ทำธุรกิจ จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินค่อนข้างดีกว่า เพราะหลายคนที่บ้านทำการค้า ช่วยป๊าม๊าทำธุรกิจ เขาจะต้องคิดวิเคราะห์เรื่องการเงินค่อนข้างมากจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่จะบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับคนไทยโดยเฉพาะเกษตกรไม่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ในลักษณะนี้ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้ได้ง่ายกว่า ซึ่งในระยะหลังนี้หนี้ครัวเรือนก็สูงมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าทุกประเทศทั่วโลกจากการใช้จ่ายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ทางรัฐบาลเองก็มีการจัดตั้งนโยบายต่างๆขึ้น โดยสิ่งที่คุณกรณ์เคยทำนั้น คือการ Refinance หนี้นอกระบบ แต่มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็เลยต่อยอดในเรื่องของการแก้ที่ต้นเหตุด้วยการจัดการฝึกอบรม "หมอหนี้" ร่วมกับธนาคารของรัฐ เพื่อให้ความรู้กับอาสาสมัครที่สนใจให้นำความรู้ไปเผยแพร่และชักชวนคนในหมู่บ้านให้จัดทำบัญชีครัวเรือน ให้คนเข้าใจเรื่องกระแสเงินสดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตรงนี้เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานมากๆ แต่เมื่อคนรู้วิธีการจัดทำก็ทำให้เขาทราบได้เลยว่าตัวเลขทางการเงินเป็นอย่างไรและต้องแก้ปัญหาอย่างไร และนำไปต่อยอดด้วยการให้ Incentive กับผู้ที่มีบัญชีครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่ถูกลงเพราะเขามีความรู้ทางการเงิน จัดงานเงินได้ มีเงินเก็บและมีเครดิตและวินัยทางการเงินที่ดี ตรงจุดนี้จะเป็นการพัฒนาให้กับสังคมในระยะยาว

"คนมีความรู้ทางการเงินก็มาช่วยส่งเสริมด้วยกันได้นะ"

คุณกรณ์เล่าให้ฟังว่าปกติแล้วภาครัฐก็จะมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินอยู่แล้ว หากทางภาคเอกชนมี Idea ใหม่ๆ ก็ช่วยรัฐบาลในการเผยแพร่ความรู้ทางการเงินและชุดความคิดต่างๆที่มีประสิทธิภาพต่อประชาชนทั่วไปได้ ก็ต้องลองเสนอภาครัฐสำหรับทุนเพื่อสนับสนุน โดยปัจจุบันสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สุดก็มี TV และ โทรศัพท์มือถือ หากมีข้อมูลและการเข้าถึงสื่อได้ก็จะช่วยการให้ความรู้ทางการเงินได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างสื่อในต่างประเทศที่ให้ความรู้ทางการเงินที่น่าสนใจก็มีอยู่ อันหนึ่งที่ดังมากคือ Blog ของ  Martin Lewis นักสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษที่สนใจด้านการเงิน ที่จะคอยเขียนความรู้ทางการเงินและมีเวป Review สินค้าแบบเป็นกลางให้คนอ่านและมีผู้ติดตามอยู่มาก พอเห็นตัวอย่างที่ต่างประเทศก็อยากให้เมืองไทยมีคนมาช่วยกันเผยแพร่ความรู้ทางการเงินเช่นกัน

โดยสรุปสิ่งที่เราคุยกันนั้น คุณกรณ์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความรู้ทางด้านการเงินนั้นมีอยู่มาก ซึ่งเราจะต้องช่วยกันให้ความรู้ อย่างน้อยก็คือการสร้างวินัยทางการเงินในระดับพื้นฐาน ให้คนรู้จักวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของตัวเองได้จะได้ห่างไกลจากหนี้ หากใครที่มีความรู้ความเข้าใจทางการเงินก็สามารถนำเสนอการสนับสนุนจากรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้ได้ เมื่อเราช่วยๆกันปัญหาเหล่านี้ได้ก็จะทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีได้ครับ